
มุ่งพัฒนาโดรน เพื่อความมั่นคง ผู้บัญชาการเหล่าทัพหารือแผนยุทธศาสตร์การซื้ออาวุธร่วมกัน
วันที่ 29 เม.ย. 2567 มีการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพครั้งที่ 3/2567 ที่หอประชุมกองทัพเรือ โดยมีพลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ และรักษาการ ผบ.ตร. ร่วมประชุม
ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายการซื้อรวมกัน หรือ ซื้อแบบเป็นแพคเกจของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้ทั้ง 3 เหล่าทัพวางแผนยุทธศาสตร์การจัดหายุทโธปกรณ์ร่วมกัน และให้มีความสอดคล้องกัน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการใช้ระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System: UAS) และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Counter-Unmanned Aircraft System: CUAS) เพื่อให้กองทัพไทยมีขีดความสามารถในการรับมือภัยคุกคามซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีการหารือถึงแนวทางในการวิจัยและพัฒนาโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft Vehicle: UAV) อีกด้วย
(UAV หรือโดรน เป็นส่วนหนึ่งของ UAS ซึ่งครอบคลุมไปถึงระบบการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบการตรวจจับอื่น เพื่อการสนับสนุนให้การทำงานของ UAV มีประสิทธิภาพมากขึ้น)
กองทัพบก ได้พัฒนา UAV และ UAS สำหรับการใช้งานในภารกิจการป้องกันประเทศการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม และการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความมั่นคง ด้วยการนำมาใช้ในการค้นหาเป้าหมายและสนับสนุนการยิงของอาวุธสนับสนุน ตลอดจนการควบคุมและอำนวยการยุทธ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ
เน้นการปรับปรุงกองทัพให้มีความทันสมัย เชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ยกระดับการปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทยให้มีประสิทธิภาพ
กองทัพเรือ เตรียมการจัดหา UAV แบบ แอร์เมส – 900 (Hermes-900) ของบริษัทเอลบิต ซิสเท็มส์ (Elbit Systems) จากอิสราเอล 2 ลำ และได้มีการจัดทำร่างแนวทางบริหารจัดการระบบอากาศยานไร้คนขับ 2566 เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการ UAS ของกองทัพเรือ
ซึ่งครอบคลุมในด้านยุทธการและการฝึก การกำลังพล การส่งกำลังบำรุงและโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสารและควบคุมบังคับบัญชา การวิจัยและพัฒนา ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ. 2560-2580
กองทัพอากาศ ให้ความสำคัญกับการพัฒนา UAS มาโดยตลอด และเตรียมการจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับที่ทันสมัยจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกำลังทางอากาศ และจากการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้จนนำไปสู่การผลิตระบบอากาศยานไร้คนขับที่มีมาตรฐาน สามารถนำมาใช้งานในกองทัพอากาศได้