Newsภาคเอกชน 3 สถาบัน พร้อมร่วมเป็นเจ้าภาพ APEC จัดประชุม APEC CEO SUMMIT เวทีใหญ่ของฝั่งภาคเอกชน ร่วมหารือกับนักธุรกิจชั้นนำของเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจ

ภาคเอกชน 3 สถาบัน พร้อมร่วมเป็นเจ้าภาพ APEC จัดประชุม APEC CEO SUMMIT เวทีใหญ่ของฝั่งภาคเอกชน ร่วมหารือกับนักธุรกิจชั้นนำของเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจ

ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของประเทศไทย โดยจะเป็นเวทีใหญ่ของฝั่งภาคเอกชน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจ 

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ถึงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของประเทศไทยในสัปดาห์นี้ 

 

โดยภาคเอกชนได้มีการประชุมและจัดการสัมมนาที่สำคัญเช่นเดียวกันกับภาครัฐ โดยงานใหญ่ของฝั่งภาคเอกชน ที่ กกร. เป็นเจ้าภาพ คือ การประชุม APEC CEO Summit ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน นี้ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยจะมีการเชิญผู้นำ และบุคคลสำคัญระดับโลกทั้งจากภาครัฐและเอกชน ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับจากผู้นำเป็นจำนวนมาก โดยเป้าหมายหลักในการจัดงานครั้งนี้ คือ การส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ  

 

ทั้งนี้ มีผู้นำเขตเศรษฐกิจที่ยืนยันอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมงานแล้ว เช่น นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นางจาซินดา อาร์เดิร์น(Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ นายแอมานุแอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนายเหงียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuân Phúc) ประธานาธิบดีเวียดนาม นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายโฮเซ เปโดร กัสติโย เตร์โรเนส (José Pedro Castillo Terrones) ประธานาธิบดีเปรู, นายกาบริเอลโบริช ฟอนต์ (Gabriel Boric Font) ประธานาธิบดีชิลี รวมทั้ง ผู้นำองค์กรระดับโลกอย่าง นายโรเบิร์ต อี มอริตซ์ประธาน บริษัท PricewaterhouseCoopers ศาสตราจารย์เคลาส์ มาร์ติน ชวับ (Klaus Martin Schwab)  ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum (WEF)  

 

นอกจากนี้ ซีอีโอไทยชั้นนำ อาทิ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยังจะร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะและการฉายภาพความเป็นผู้นำของธุรกิจไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่เวทีโลกด้วย 

 

สำหรับโอกาสของคนไทยและเศรษฐกิจไทยนั้น การเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC CEO Summit 2022 จะช่วยให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาระบบเพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การลดและยกเลิกปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าโลกได้ เป็นการสนับสนุนการนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 

 

นอกจากนั้น ยังจะช่วยเปิดโอกาสด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ให้แก่ผู้ประกอบการและคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวของผู้นำ บุคคลสำคัญ รวมทั้งซีอีโอ จากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนระดับโลก ที่ได้รับการเรียนเชิญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางธุรกิจในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของโลก  

 

ทั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยและคนไทยทุกคน ที่จะได้รับรู้และรับทราบการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เนื่องจาก APEC คือเขตเศรษฐกิจที่มี GDP รวมกันไม่ต่ำกว่า 60% เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วและใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น เวทีนี้จึงมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นอย่างมาก นอกจากงาน APEC CEO SUMMIT ก็ยังมีเวทีสำคัญของ กกร. ที่จะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งประกอบด้วย การประชุม APEC Business Advisory Council – ABAC ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 

 

ปัจจุบัน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ในปีนี้ โดย ABAC ถือเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นตัวแทนภาคธุรกิจที่ทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจในการดำเนินงานส่งเสริมด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งหลังการประชุมในเวทีนี้จะมีการนำเสนอประเด็นของ ABAC ต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจ 21 เขตเศรษฐกิจ ในระหว่าง วันที่ 18 – 19 พฤศจิกายนนี้ 

 

หอการค้าไทยมองว่า การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่เวียนมาในรอบ 20 ปี จะทำให้นานาชาติกลับมา Focus ที่ประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งเราต้องใช้โอกาสนี้ในการขยายการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดทำและผลักดัน FTAAP กับประเทศต่าง ๆ ให้มากขึ้น นอกจากนี้ จะเป็นการนำเสนอศักยภาพของประเทศไทย ให้นานาชาติได้เห็นถึงความพร้อมในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งในระยะถัดไปจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการทำให้ต่างชาติเข้าใจ BCG Model ที่เป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสอดคล้องกับ COP27 และเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม การจัดการประชุมครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของไทย เพราะจะเป็นโอกาสให้ 21 เขตเศรษฐกิจ และ3 ประเทศ ที่เป็นแขกพิเศษของรัฐบาล คือ ซาอุดิอาระเบีย เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย จะนำคณะภาครัฐและเอกชนของซาอุฯกว่า 600 คนเยือนไทย โดยมีกำหนดการพบกับนายกรัฐมนตรีของไทยในวันที่ 18 พ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล ไฮไลท์สำคัญจะมีการลงนาม MOU 2 ฉบับสำคัญ ในความร่วมมือด้านการลงทุน และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลนีและนวัตกรรม รวมถึงการจะมีเวทีจับคู่เจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนไทย  เพื่อผลักดันการลงทุนร่วมไทย–ซาอุฯ ซึ่งหอการค้าไทยเชื่อว่าส่วนนี้จะเป็นการเปิดโอกาส ไม่ใช่เฉพาะกรอบพหุภาคี APEC หรือ ASEAN แต่ระหว่างทวิภาคีก็มีโอกาสเช่นกัน 

 

ส่วนฝรั่งเศส นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดี จะได้มีการหารือของนายกรัฐมนตรีไทย ถึงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาไทย-ฝรั่งเศส เฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและและพัฒนายางพารา รวมถึงการขยายการลงทุนของมิชลินหนึ่งในผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ในไทย และ รัฐบาลไทยได้เชิญสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นแขกพิเศษของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะภูมิภาคที่มีโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แม้ว่ากัมพูชา จะไม่อยู่ในสมาชิกเอเปค แต่ในปีนี้กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน จะเป็นโอกาสที่ได้ร่วมกันแสดงบทบาท และดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก ด้วย 

 

นอกจากนี้ การตอบรับคำเชิญของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในฐานะหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีนซึ่งครบรอบ10 ปี ในปีนี้ เพื่อนำไปสู่โอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศในปี 2568 และจะมีการหารือเพื่อเร่งรัดแผนงานต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะการเชื่อมแผน belt and road initiative ของจีน กับ พื้นที่ EEC ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วขึ้น 

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ความยั่งยืนที่ประเทศไทยชูเรื่อง แนวคิด Bio-Circular-Green Economy Model (BCG) ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ใช้ทรัพยากรชีวภาพสร้างมูลค่าเพิ่ม นำทรัพยากรชีวภาพมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้แก่การนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน (sustainable) 

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจก่อนการประชุมนั้น พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แม้ว่าจะมีการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน แต่หลายภาคส่วนยังไม่เข้าใจถึงแนวคิดและการขยายผลของBCG  ซึ่งโอกาสนี้จะได้เป็นการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในวงกว้างและผู้ประกอบการสามารถเข้าใจในแนวคิดการนำBCG ไปปรับใช้ เช่น การนำพันธุ์ข้าวต่างๆ มาปรับปรุง เพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพสูง ขายได้ราคาดีในตลาดโลก เช่น ข้าวไรส์เบอรี่ หรือ การนำเอาสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจรมาผลิตสเปรย์ฉีดพ่นในปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากการนำเอาแนวทาง BCG มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับมูลค่า และภายใต้การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป 

 

การจัดงานในครั้งนี้ หอการค้าฯ ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก โดยการจัด APEC CEO SUMMIT ได้เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาว หรือที่เรียกว่า YEC จากทุกจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมและเรียนรู้งานด้านการต่างประเทศรวมถึงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งคนรุ่นใหม่หล่านี้จะเกิดความภาคภูมิใจ ในฐานะผู้มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ และจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดต่อไป 

 

#TheStructureNews

#APECCEOSUMMIT #ภาคเอกชนไทย

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า