Newsวิกฤติการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยุคบรรพกาล ที่กวาดล้างสิ่งมีชีวิตทั่วโลกกว่า 90%

วิกฤติการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยุคบรรพกาล ที่กวาดล้างสิ่งมีชีวิตทั่วโลกกว่า 90%

หลายร้อยล้านปีก่อน โลกของเราเคยประสบกับวิกฤติที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต (Mass Extinction) มาก่อนถึง 5 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์ที่มากเกินไปของสิ่งมีชีวิตบางจำพวก, ยุคน้ำแข็ง หรืออุกกาบาตพุ่งชนโลก

 

แต่ไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะเลวร้ายมากไปกว่าเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 ที่เกิดขึ้นราว ๆ 250-252 ล้านปีก่อน และเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งบนบกและใต้น้ำกว่า 90% จนทำให้เหตุการณ์ในครั้งนี้ ถูกเรียนขานในอีกชื่อว่า “การตายครั้งยิ่งใหญ่” (Great Dying)

 

และสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เหตุการณ์นี้ มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ขั้นสุด เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จำนวนมหาศาลถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จนสร้างภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) อย่างรุนแรง เพิ่มอุณหภูมิของโลกขึ้นไป 10 องศาเซลเซียส

 

 

โลกของเราในช่วงเวลาก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว ถูกเรียกขานว่ายุคพาร์เมียน (Permian Period) อยู่ในช่วงเวลาราว ๆ 293 – 252 ล้านปีก่อน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวโลกของเราเต็มไปด้วยแมกไม้เขียวขจี มีพรรณไม้กว่า 4 แสนสายพันธุ์ที่ปกครองโลก สร้างระบบนิเวศน์ราวสรวงสวรรค์ให้สัตว์น้ำได้พัฒนาสายพันธุ์ ขึ้นมาอยู่อาศัยบนบก กลายเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, สัตว์เลื้อยคลาน และแมลง

 

ระดับออกซิเจนที่มากกว่าในยุคปัจจุบันถึง 60% [1] กลายเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้สัตว์บางชนิดมีขนาดที่ใหญ่มาก อาทิเช่น อาเธอเพอรา (Arthropleura) กิ้งกือดึกดำบรรพ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ ก็ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ มันมีความกว้างลำตัวราว 55 เซนติเมตร (ประมาณ 2 ไม้บรรทัด) และมีความยาวระหว่าง 1.9 – 2.6 เมตร ก็ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้เอง [2]

 

สัตว์ในยุคสมัยนี้ มีทั้งสัตว์กินเนื้อ และสัตว์กินพืช ทั้งอยู่ร่วมกัน และออกล่ากันเอง ภายใต้ระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ ฟืนป่าที่เขียวขจี

 

แต่แล้ว ราว ๆ 250 -252 ล้านปีก่อน กลับเกิดเหตุการณ์ปะทุขึ้นของภูเขาไฟครั้งใหญ่ ซึ่งยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ถือสาเหตุของการระเบิดว่าเกิดขึ้นจากการระเบิดขึ้นด้วยตัวเอง หรือเกิดขึ้นจากอุกกาบาตพุ่งชน การระเบิดครั้งนั้นเป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้

 

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการระเบิดของภูเขาไฟในครั้งนั้น เกิดขึ้น 3 – 4 จุด [5] เพียงเฉพาะจุดระเบิดในแถบพื้นที่ไซบีเรีย ในประเทศรัสเซียในปัจจุบันเพียงจุดเดียวก็ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ “ไซบีเรียน แทรปส์” (Siberian Traps) ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 7 ล้านตารางกิโลเมตร (4,735 ล้านไร่) และมีปริมาณลาวาถึง 4 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร (4 ล้านล้านล้านลิตร) [3] แล้ว

 

การระเบิดของภูเขาไฟในครั้งนั้นกินเวลามากถึง 1 แสนปี และภูเขาไฟได้ปลดปล่อยสารพิษออกมาเป็นฝนกรดที่กัดกร่อนทำลายพืชพรรณให้ตายลงอย่างช้า ๆ แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า และคืบคลานเข้ามาอย่างเงียบ ๆ ไร้สี ไร้กลิ่น คือ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”

 

ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ถูกปล่อยออกมานั้น มีมากกว่าที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศยุคปัจจุบันถึง 6 เท่า อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นจากเดิม 10 องศาเซลเซียส [1] ภูมิอากาศของโลกแปรปรวนจนถึงขีดสุด บนพื้นผิวโลก สิ่งมีชีวิตทั้งหลายถูกภัยธรรมชาติที่ไร้การควบคุมกระหน่ำทำลาย

 

สิ่งมีชีวิตใต้น้ำเองก็ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์โลกร้อนขั้นวิกฤติด้วยเช่นกัน ในบรรดาเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลกทุกเหตุการณ์ ใต้ทะเลลึกเป็นที่หลบภัยชั้นเยี่ยมของเหล่าสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ แต่ในครั้งนี้ แม้แต่ใต้ทะเลลึกเองก็ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง

 

น้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ทำให้ทะเลมีสภาพเป็นกรด ปะการังถูกฟอกเป็นสีขาว และตายลงเป็นจำนวนมาก ทำให้ระดับออกซิเจนในทะเลลดฮวบ เปลี่ยนท้องทะเลที่เป็นจุดกำเนิดของสรรพชีวิตทั้งมวล ให้กลายเป็นมหาสุสานที่วังเวง

 

สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่บนโลกกว่า 90% สูญพันธุ์ไปตลอดกาล สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลสูญพันธุ์ 95% ในขณะที่บนบกสูญพันธุ์ไป 70% [4] และโลกของเราต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูตัวเองอย่างยาวนานถึง 30 ล้านปี [6]

 

 

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์โลกร้อนในอดีตที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น จะจบสิ้นลงไปแล้วหลายร้อยล้านปี แต่ถึงกระนั้นมันก็เป็นสิ่งพิสูจน์ถึงอำนาจการทำลายล้างของภาวะโลกร้อนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และโชคยังดีที่มนุษยชาติรู้ตัวกันทัน หันมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พยายามลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์

 

สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลไทยของเราได้ประกาศเป้าหมายที่ไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC COP26) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64

 

และภาคเอกชนของไทยอีกหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม CP, ปตท. และ SCG ต่างก็เข้าร่วมในภารกิจเพื่อการปกป้องโลกของเราจากภาวะโลกร้อน ผ่านโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย 

 

สำหรับในภาคประชาชน ทุกคนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้พลาสติก ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ นำสิ่งเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ และแยกขยะพลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

 

โลกเป็นของพวกเราทุกคน พวกเรามาร่วมมือกัน ปกป้องโลกของเราจากวิกฤตโลกร้อนครั้งใหม่ และการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ของโลกไปด้วยกันนะครับ

 

โดยศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง

[1] Amblin Television and Silverback Films (2023), “Life on Our Planet: Ep 3 Invaders of the Land”

[2] The largest arthropod in Earth history: insights from newly discovered Arthropleura remains (Serpukhovian Stainmore Formation, Northumberland, England), https://www.lyellcollection.org/doi/10.1144/jgs2021-115 

[3] Siberian Traps, https://en.wikipedia.org/wiki/Siberian_Traps 

[4] Permian extinction, https://www.britannica.com/science/Permian-extinction 

[5] Permian, https://en.wikipedia.org/wiki/Permian 

[6] Recovery from the most profound mass extinction of all time, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2596898/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า