
การวิจัยใหม่ระบุสูบ ‘กัญชา’ ทำลายสุขภาพปอดมากกว่าสูบบุหรี่
ผลจากโครงการวิจัยขนาดเล็กในแคนาดา พบว่าการสูบกัญชาอาจทำอันตรายต่อปอดและทางเดินหายใจมากกว่าการสูบยาสูบ
ผลจากการตรวจเอกซเรย์ปอดในกลุ่มผู้สูบกัญชา 56 คน, กลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ 57 คน และกลุ่มผู้ที่สูบแต่บุหรี่ 33 คน ระหว่างปี 2548-2563 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออตตาวาและโรงพยาบาลออตตาวา พบว่าในกลุ่มผู้สูบกัญชามีอัตราการเกิดโรคถุงลมโป่งพองและการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ สูงกว่ากลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่และกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่
จีเซลล์ เรวาห์ รังสีแพทย์ จากโรงพยาบาลออตตาวา ผู้ดำเนินการวิจัยนี้ กล่าวกับเอเอฟพี ว่า “ตัวเลขประชากรผู้สูบกัญชากำลังเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่คนทั่วไปเข้าใจว่ากัญชามีความปลอดภัย หรือปลอดภัยกว่าบุหรี่ (ยาสูบ) ซึ่งผลจากการวิจัยในครั้งนี้เปิดเผยว่าสิ่งนี้อาจไม่เป็นความจริง”
เธออธิบายว่า อัตราการเกิดโรคปอดและอักเสบในระบบทางเดินหายใจที่สูงกว่าในกลุ่มผู้สูบกัญชาเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้สูบบุหรี่ น่าจะเกิดจากความแตกต่างในวิธีการเสพ กล่าวคือ การสูบกัญชาจะไม่ผ่านตัวกรอง ในขณะที่การสูบบุหรี่จะผ่านตัวกรอง ดังนั้น ในการสูบกัญชาที่ไม่ผ่านตัวกรอง ฝุ่นละอองจำนวนมากจะผ่านเข้าไปถึงทางเดินหายใจและสะสมอยู่ในนั้นจนเกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ
นอกจากนี้ ผู้สูบกัญชามักจะสูบโดยการอัดเข้าไปในปอดสุดลูกแล้วกลั้นไว้ จึงสร้างความเสียหายต่อทางเดินหายใจมากกว่าการสูบบุหรี่
ทั้งนี้ ผู้ทำการวิจัยให้ข้อสรุปว่า เนื่องจากกลุ่มผู้สูบกัญชาบางคนมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย และผลจากการเอกซเรย์ปอดบางส่วนให้ผลลัพธ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
ห้ามนักกีฬาข้ามเพศ นิวซีแลนด์เตรียมป้องกันไม่ให้นักกีฬาข้ามเพศแข่งกับผู้หญิง เหตุกลัวว่าผู้หญิงแท้จะได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขัน
อินโดนีเซียเร่ง พัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อตอบสนองความต้องการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม