Articlesห้ามค้าประเวณีในไทย ไม่ได้เริ่มจากพุทธศาสนาหรือจารีต แต่มาจากสหประชาชาติและองค์กรสิทธิฯ

ห้ามค้าประเวณีในไทย ไม่ได้เริ่มจากพุทธศาสนาหรือจารีต แต่มาจากสหประชาชาติและองค์กรสิทธิฯ

เป็นหนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองของนางสาวมัณชกร เพชรประพันธ์ หรือ นัชชา ซึ่งได้กล่าวว่าจะสนับสนุนอาชีพ Sex Creator ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่ที่หมายถึง Sex Worker หรือบุคคลผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศนั่นเอง

โดยคำพูดของเธอที่ถูกยกขึ้นมาทำอินโฟกราฟกันมากคือ 

เรื่องของศาสนาและ Sex Worker เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ถ้าตัวของเขาเลือกที่จะทำ การทำอาชีพอาชีพหนึ่ง มันเป็นการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง บางทีศาสนา ไม่ได้ให้เงินเขาในการซื้อข้าวกิน

และเมื่อย้อนกลับไปที่คำถามที่กรรมการถามเธอที่ว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีทั้งคนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ในส่วนที่ไม่เห็นด้วยจะเป็นเรื่องของ วัฒนธรรมและประเพณีหรือศาสนา การเป็น Sex Worker ในบางศาสนามันผิดต่อความเชื่อของเขา คุณมีวิธีการที่จะสื่อสารไปถึงพวกเขาอย่างไร เพื่อให้เกิดการประนีประนอมกัน?

จะเห็นได้ว่า คำถามนี้ มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจกับความเชื่อ, ศาสนา, วัฒนธรรมและประเพณี เพื่อการประนีประนอมนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม คำตอบของน้องนัชชานั้น ออกจะ “หัก” และโจมตีศาสนาไปสักหน่อย โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “บางทีศาสนา ไม่ได้ให้เงินเขาในการซื้อข้าวกิน

 

ประเทศไทย เป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และพื้นฐานวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนจิตสำนึกส่วนใหญ่ของประชาชน มีรากเหง้าพื้นฐานที่มีศาสนาพุทธเป็นองค์ประกอบที่ทรงอิทธิพล

แล้วศาสนาพุทธนั้น ตั้งแง่รังเกียจผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ ที่มีศัพท์สุภาพที่เรียกกันทั่วไปว่า “โสเภณี” หรือไม่ ?

ซึ่ง หากศึกษาในพระไตรปิฎกอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่า ศาสนาพุทธนั้น ไม่เพียงไม่ได้ตั้งแง่อะไรกับโสเภณีเลย

ในพระสุตตันตปิฎก มีการกล่าวถึง อุบาสิกา ผู้ประกอบวิชาชีพโสเภณีอยู่หลายนาง และพระพุทธองค์ ก็ทรงปฏิบัติต่อพวกนางด้วยความเสมอภาค เท่าเทียมกับผู้อื่น

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับ ณ โกฏิคาม นางโสเภณีมีชื่อ นามอัมพปาลี ได้ข่าวก็เข้าไปฟังธรรมจนเลื่อมใส และทูลนิมนต์พระองค์ให้ไปรับภัตราหาร

ต่อมากษัตริย์ลิจฉวีเสด็จมาเข้าเฝ้าเพื่อทูลขอให้ทรงรับกิจนิมนต์ด้วยเช่นกัน ปรากฏว่าพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ เนื่องจากทรงรับกิจนิมนต์จากนางโสเภณี อัมพปาลี เอาไว้ก่อนแล้ว

นี่แสดงให้เห็นถึง ความเสมอภาค เท่าเทียมในพุทธศาสนา และท่าที่ที่พระศาสดาทรงมีต่อผู้ประกอบอาชีพโสเภณีนั่นเอง

นอกจากนี้ จากการศึกษาของ คุณโสภณ เทียนศรี และพระเมธีวรญาณ ในบทความ “การศึกษาวิเคราะห์การบรรลุธรรมของโสเภณีในคัมภีร์พระพุทธศาสนา” ซึ่งตีพิมพ์ใน วารสาร มจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2563) สรุปได้ว่า

มีภิกษุณีที่มีอดีตเป็นโสเภณีวิชาชีพอยู่ 4 ท่าน ได้แก่ พระอัฑฒเถรี, พระอภยมาตาเถรี, พระอัมพปาลีเถรี, พระวิมลาเถรี และมีอดีตโสเภณีที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน 1 ท่าน คือ นาง สิริมา

นี่คือสิ่งยืนยันว่า พระพุทธศาสนา มิได้ตั้งแง่รังเกียจอะไรในตัวผู้ประกอบวิชาชีพค้าประเวณี หรือโสเภณีเลย และโสเภณีเอง ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ไม่ต่างกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่นเลย



จากรายงานของ พระมหาวินัย ผลเจริญ ในบทความ “ปัญหาโสเภณี: เหตุปัจจัย มุมมอง และวิธีการแก้ปัญหาตามแนวทางพุทธศาสนา” (พ.ศ. 2542) จะเห็นได้ว่า 

อาชีพโสเภณี ก็ถือว่าเป็นอาชีพสุจริตที่ได้รับการอนุญาตโดยกฎหมายไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

และใน พ.ศ. 2473 องค์การสันนิบาตชาติได้เข้ามาทำการสำรวจ และพบว่า ในกรุงเทพเพียงแห่งเดียว มีซ่องโสเภณีที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วถึง 151 แห่งเลยทีเดียว

นอกจากนี้ การประกาศใช้กฎหมายผัวเดียวเมียเดียวของคณะราษฎร์ ใน พ.ศ. 2478 ได้สร้างผลกระทบให้สังคมไทยมีความต้องการบริการทางเพศที่สูงขึ้น และมีจำนวนซ่องโสเภณีเพิ่มขึ้นอีกด้วย



ตัวแปรที่สร้างอิทธิพลต่อการเข้าควบคุมและกวาดล้างอาชีพโสเภณีของไทย มาจากนโยบายของสหประชาชาติ  ซึ่งประเทศไทย ในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ย่อมต้องปฏิบัติตาม โดยไทยเริ่มดำเนินการปราบปรามมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503

ซึ่งเมื่อหันไปพิจารณาใน “อนุสัญญาว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้อื่น” (Convention for the Suppression of the Traffic in Persons and of the Exploitation of the Prostitution of Others) ค.ศ. 1950

ในย่อหน้าที่ 1 ของ คำนำของอนุสัญญานี้ ระบุว่า

โดยที่การค้าประเวณีและความชั่วร้ายที่มากับการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีไม่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์และเป็นภัยต่อสวัสดิภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชน

ซึ่งนี่แสดงให้เห็นถึง “ทัศนคติ” ที่สหประชาชาติมีต่อการค้าประเวณี และวิชาชีพโสเภณี ในแง่ลบ 

มองว่าเป็นการค้ามนุษย์ หยามเหยียดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และ “เป็นภัย” ต่อสวัสดิภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชน

และอนุสัญญาฉบับนี้ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) มาจวบจนปัจจุบัน 

 



สำหรับมุมมองของ “กลุ่มแนวร่วมต่อต้านการค้ามนุษย์ในสตรี(Coalition Against Trafficking in Women, CATW) ซึ่งเป็น NGO ด้านสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ ที่ต่อต้านการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี และการค้าประเวณีรูปแบบอื่นๆ นั้น มองการค้าประเวณีว่า

ไม่ว่าจะถูกกฎหมายก็ดี ผิดกฎหมายก็ช่าง การค้าประเวณีก็ถูกใช้เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากผู้หญิงและเด็กที่อยู่ตามชายขอบเพื่อการแสวงหาผลกำไร

มีรากฐานมาจากปิตาธิปไตย (ระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในสังคม), ประวัติศาสตร์ของการล่าอาณานิคม และระบบการตลาดของการใช้ความรุนแรงทางเพศที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 

นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนกลายเป็นวัตถุทางเพศ และกลายเป็นเรื่องทางเพศต่อไป

เมื่อไม่นานมานี้เอง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานค้ามนุษย์ ประจำปีนี้ ปรับระดับของประเทศไทยให้กลับขึ้นมาอยู่ที่ เทียร์ 2 ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่ต้องจับตามอง 

ซึ่งประเทศที่จัดว่าอยู่ในระดับนี้นั้น คือประเทศที่อเมริกามองว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ พ.ร.บ. คุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ “Trafficking Victims Protection Act (TVPA)”  โดยสมบูรณ์แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติให้ได้ตาม มาตรฐาน

ซึ่ง พ.ร.บ. คุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ ที่สหรัฐอเมริกาใช้ในการจัดระดับนี้ มองว่า การค้าประเวณี เป็นส่วนหนึ่งของการค้ามนุษย์

เมื่อหันกลับไปมองการค้าประเวณีในอเมริกา ก็จะเห็นได้ว่า มีเพียงรัฐเนวาดาเพียงรัฐเดียวเท่านั้นที่อนุญาตให้มีการค้าประเวณี และมิได้ให้เสรีทั่วทั้งรัฐ แต่เป็นเพียงบางพื้นที่เท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้มีการค้าประเวณี

จากทั้งหมดที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ เราจะเห็นได้ว่า พุทธศาสนา จารีตและกฎหมายไทยในสมัยก่อนนั้น มิได้ห้ามการค้าประเวณี

แต่เป็นเพราะแรงกดดันจากนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแก้ไขกฎหมายตาม “อนุสัญญาว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้อื่น” ของสหประชาชาติ

และการจัดอันดับที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ก็ส่งผลกระทบให้เกิดข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า ซึ่งเป็นผลเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ดังนั้น กรรมการผู้ตั้งคำถามของกองประกวดนางงาม ฯ ควรจะหันไปถามสหประชาชาติ, สหรัฐอเมริกา และ NGO ด้านสิทธิมนุษยชน 

ในปมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในการค้าประเวณี

มากกว่าที่จะหันมาถามเอากับประเทศไทย ที่เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามข้อตกลงของสหประชาชาติ และสหรัฐอเมริกา

 

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง :

[1] 6 วลีนางงามสปีชจับใจ สุดปังบนเวที Miss Universe Thailand 2022 

[2] “ปัญหาโสเภณี: เหตุปัจจัย มุมมอง และวิธีการแก้ปัญหาตามแนวทางพุทธศาสนา”, พระมหาวินัย ผลเจริญ (พ.ศ. 2542), พุทธศาสน์ศึกษา กันยายน – ธันวาคม 2542, หน้า 3 – 36 

[3] “การศึกษาวิเคราะห์การบรรลุธรรมของโสเภณีในคัมภีร์พระพุทธศาสนา”, โสภณ เทียนศรี และพระเมธีวรญาณ (พ.ศ. 2563), วารสาร มจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (มกราคม มิถุนายน 2563) 

[4] “a Convention for the Suppression of the Traffic in Persons and of the Exploitation of the Prostitution of Others”, United Nation 1950 

[5] “THE SEX TRADE”, The Coalition Against Trafficking in Women 

[6] “เปิดสถิติการค้ามนุษย์ในไทย 2022 จากการจัดอันดับ กต.สหรัฐ ไทยขึ้นสู่เทียร์ 2”, Spring News (พ.ศ. 2565) 

[7] “ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์”, ศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 

[8] “Victims of Trafficking and Violence Protection Act of 2000”, Authenticated U.S. Government Information (2000) 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า