Articlesรู้เท่าทันกลยุทธ์ ‘คนนอก’ ทางการเมือง แต้มต่อในการเข้าสู่อำนาจ ที่ใช้ได้ผลมาทุกยุคทุกสมัย

รู้เท่าทันกลยุทธ์ ‘คนนอก’ ทางการเมือง แต้มต่อในการเข้าสู่อำนาจ ที่ใช้ได้ผลมาทุกยุคทุกสมัย

ไม่ว่าเราจะเป็นคนประเทศไหน มาจากที่ไหน เกิดในยุคไหน เมื่อพูดถึง “การเมือง” เราอาจจะพูดได้เต็มปากว่าเกือบทุกคนนั้นมีความเห็นในเชิงลบกับการเมือง คงมีจำนวนน้อยที่จะบอกว่า “โอ้ การเมืองของเรานั้นดีมาก ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนแปลงเลย” หรืออย่างน้อยที่สุดคนที่ไม่ได้กล่าวในเชิงลบไปหมดและอาจจะมีความเห็นเป็นกลาง แต่เขาคนนั้นก็น่าจะยังคงมีความต้องการการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างให้มันดีขึ้นกว่าเดิม นั้นคือธรรมชาติของการเมือง ที่เกือบทุกฝ่ายมองว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างจึงอยู่ที่แต่ละฝ่ายแต่ละกลุ่มนั้นมองว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางไหน อะไรต้องเปลี่ยน อะไรต้องปรับ อะไรต้องรักษา อะไรเป็นหลักการพื้นฐาน อะไรที่อาจจะมีความเห็นร่วม ฯลฯ

ด้วยข้อเท็จจริงนี้เอง ทำให้ภาพลักษณ์แบบหนึ่งถูกเลือกใช้โดยผู้ที่ต้องการมีอำนาจทางการเมือง ซึ่งเหมือนจะเป็นวิธีการที่มักจะได้ผลมาโดยตลอด นั่นคือภาพลักษณ์ของการเป็น “คนนอก” ทางการเมือง เพราะถ้าธรรมชาติของการเมืองคือที่เป็นอยู่นั้นมันไม่ดี การฉายภาพหรือสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองเป็น “คนนอก” นั้นก็ถือเป็นการสร้างแต้มต่อให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี เพราะเพียงแค่ใช้วาทะกรรมทางการเมืองและนำเสนอให้สาธารณชนมองเห็นว่าตนเองนั้นเป็นคนนอก เป็นคนหน้าใหม่ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สิ่งที่ตามมานั้นก็คือภาพลักษณ์ของความใสซื่อ ความบริสุทธิ์ทางการเมือง และภาพของความอุทิศตนให้กับส่วนรวม เข้ามาแก้ไขการเมืองที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ในประเทศอเมริกา ก่อนวาระของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เราน่าจะพูดได้เต็มปากว่าหนึ่งในภาพลักษณ์หรือตัวตน (persona) หลักที่โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) นั้นเลือกนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ตั้งแต่การลงสนามหาเสียงเลือกตั้ง นั่นคือการนำเสนอว่าเขาเป็นคนนอกทางการเมือง (political outsider) เพื่อเทียบกับผู้ลงแข่งอื่น ๆ ที่ถูกฉายภาพว่าเป็น “คนใน” หรือ “คนการเมือง” ที่มีส่วนร่วมและอยู่ท่ามกลางความเน่าเฟะของการเมืองอเมริกา ทรัมป์จึงใช้วาทะกรรมการเป็น “คนนอก” นี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองนั้นมีความสะอาดมากกว่าผู้ที่มาจากการเมืองเดิม และเขานั้นก็สร้างภาพลักษณ์ว่าตัวเองจะเข้ามาทำประโยชน์ให้ประชาชนและประเทศเป็นหลัก

วุฒิสมาชิก เดวิด เพอร์ดู (David Perdue) จากรัฐจอร์เจีย (Georgia) ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นของเขาลงหนังสือพิมพ์ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) ในช่วงการหาเสียงของทรัมป์ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าบทความของเขาสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนอเมริกันจำนวนมากได้พอสมควร (จากการที่ท้ายสุดทรัมป์นั้นได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจริง ๆ) เดวิด กล่าวไว้ว่า

“นานมากแล้วที่นักการเมืองอาชีพนั้นสัญญาอะไรเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำตามนั้น การติดอยู่ในทางตัน[ทางการเมือง]และการไม่มีผลลัพธ์หลายครั้งในวอชิงตันนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เรามีระบบการเมืองที่ปกป้องผู้ที่มีอำนาจแต่ทิ้งคนอเมริกันไว้เบื้องหลัง…สองปีที่ผ่านมา ผมเองก็เป็นนักธุรกิจคนนอกที่ลงมาหาเสียงเป็นครั้งแรก และต้องยอมทนคำวิพากษ์ต่าง ๆ เหมือนกับที่คุณทรัมป์ได้รับทุกวันนี้ ด้วยประสบการณ์ของผม ผมน่าจะเข้าใจปรากฏการณ์ทรัมป์และความเป็นจริงใหม่ของ[ประชาชน]ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนี้ได้ดีกว่าผู้อื่น…เขา (ทรัมป์) คือคนนอกที่แท้จริงคนเดียวที่ลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี” [1]

จากการเก็บสถิติของมหาวิทยาลัยมอนเมาท์ (Monmouth University) รัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey) เกี่ยวกับความนิยมใน “คนนอก” แสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันกว่าครึ่ง (52%) นั้นนิยมผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นคนนอกมากกว่าจะเป็นคนใน อย่างไรก็ตามคนอเมริกันกว่า 61 เปอร์เซ็นต์กลับมีความรู้สึกชอบผู้ลงสมัครที่มีประสบการณ์ทางการเมืองด้วย ความขัดแย้งในความชอบนี้นั้นทำให้ลักษณะของ “คนนอก” นั้นสามารถแบ่งแยกย่อยออกไปได้เป็นสองแบบคือ “คนในที่เป็นคนนอก” (insider outsider) และ “คนนอกโดยสมบูรณ์” (complete outsider) [2]

ซึ่งในขณะที่เราอาจจะมองเห็น (และตามในบทความของวุฒิสมาชิกเดวิด) โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นถือว่าอยู่ใน “คนนอก” แบบหลัง คือเป็น “คนนอกโดยสมบูรณ์” ซึ่งคนนอกลักษณะนี้นั้นเราอาจจะเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนอยู่แล้ว ส่วน “คนในที่เป็นคนนอก” นั้นจะเป็นแบบไหนกัน?

ก่อนหน้าวาระของทรัมป์ ประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) เองนั้นก็เข้าข่ายที่จะเป็น “คนในที่เป็นคนนอก” โอบามานั้นเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐอิลลินอยส์ (Illinois) “แต่ด้วยอายุ, เชื้อชาติ, และนโยบายของเขา” โอบามาก็สามารถที่จะใช้วาทะกรรมและภาพลักษณ์ความเป็น “คนนอก” ได้ แม้กระทั่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง หรือพูดอีกอย่างคือเป็น “นักการเมือง” อย่างเต็มตัวมาก่อนหน้านั้น รวมทั้งผู้ว่าการรัฐ (governor) หลายคน เช่น บิล คลินตัน (รัฐอาร์คันซอ) หรือ จอร์จ บุช (George Bush; รัฐเท็กซัส) นั้นก็สามารถใช้ภาพลักษณ์ “คนนอก” ได้ เพราะเขาถือว่าตัวเองเป็นนักการเมืองที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับหน่วยงานหลักในเมืองวอชิงตัน [2]

ถึงอย่างนั้นก็ตาม การที่ใช้ภาพลักษณ์ “คนนอก” มาเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ นโยบายและการบริหารงานหลังจากนั้นเองจะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า “คนนอก” ที่เข้ามาเล่นการเมืองเหล่านั้นจะเป็นคนคนนอกจริง ๆ หรือไม่ เป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์กว่านักการเมืองที่มือสกปรกตามที่เขาโฆษณาหาเสียงเอาไว้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าหลายครั้งหรืออาจจะเรียกได้ว่าแทบทุกครั้ง ที่ภาพลักษณ์กับความเป็นจริงนั้นกลับออกมาคนละทิศทางกันเลย

แม้ว่าการปราศรัยหาเสียงของทรัมป์จะเต็มไปด้วยวาทะกรรมที่ต่อต้านสถาบันหลัก (anti-establishment) อย่างการวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองที่อยู่ในตำแหน่ง จนไปถึงการโจมตีนักการเงิน นายธนาคาร และนักธุรกิจ ที่ถูกเหมารวมเรียกว่าเป็น “พวกวอลล์สตรีท” (Wall Street) แต่เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว คณะรัฐมนตรีของทรัมป์กลับเต็มไปด้วยนักการเมืองหน้าเดิมและ “พวกวอลล์สตรีท” ที่ทรัมป์โจมตีอย่างรุนแรงมาก่อนหน้านี้ [3]

ไม่เพียงเท่านั้น หนึ่งในเป้านิ่งสำคัญที่นักวิจารณ์การเมืองใช้เป็นเครื่องชี้วัดว่าโดนแก่นแล้ว นโยบายแห่งรัฐของอเมริกานั้นมีการเปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่ นั้นก็การพิจารณาไปถึงการดำเนินนโยบายทางการทหารและการต่างประเทศ ซึ่งในกรณีนี้เอง ตั้งแต่วาระของประธานาธิบดีบุช ถึงโอบามา จนมาถึงทรัมป์ (และอาจจะกล่าวได้ว่าถึงไบเดนด้วย) นโยบายต่างประเทศของอเมริกานั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใดนักเลย [4]

การเป็น “คนนอก” นั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในวาทะกรรมหรือการสรางภาพลักษณ์ที่มีได้ผลดียิ่ง ไม่ใช่ในการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ แต่คือการนำผู้ใดผู้หนึ่งเข้าไปสู่อำนาจการเมือง โดยที่เขาไม่จำเป็นจะต้องมีนโยบายที่แตกต่างจากเดินหรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพียงมีการใช้วาทะกรรมหรือภาพลักษณ์คนนอกให้ถูกจังหวะ ก็จะทำให้เขาคนนั้นเข้าสู่อำนาจได้อย่างง่ายดาย

ตัวอย่างในประเทศอื่น ๆ ที่เราอาจจะกล่าวถึง ถ้าจะให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นก็เช่น ประธานาธิบดีของยูเครนในปัจจุบัน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี นั้นก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลสาธารณะที่ใช้วาทะกรรมและภาพลักษณ์ความเป็นคนนอกนั้นได้อย่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคนหนึ่งในช่วงเวลาปัจจุบัน สามารถผันตัวเองจากวงการบันเทิงขึ้นมาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองในประเทศของตนเองได้

อย่างไรก็ตามในกรณีของยูเครนนั้น การเป็นคนนอกของเซเลนสกีอาจจะเป็นกรณีที่สะท้อนความเป็นจริงทางการเมืองของยูเครน ณ ขณะนี้ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการสร้างภาพ นั่นเพราะสถานการณ์การเมืองของยูเครน ที่ถูกแผ่อิทธิพล แทรกแซง และครอบงำโดยมหาอำนาจตะวันตกอย่างสิ้นเชิงนั้นเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาและอาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหลักในการทำให้การใช้วาทะกรรมและการสร้างภาพลักษณ์ของเซเลนสกีนั้นประสบความสำเร็จ กล่าวคือถ้าหากปราศจากการสนับสนุนของต่างชาติแล้ว การขึ้นมามีอำนาจผ่านความเป็นคนนอกของเซเลนสกีนั้นก็อาจจะไม่ได้มีความราบรื่นและเป็นจริงได้แบบที่เป็นอยู่

ส่วนในประเทศไทยของเรานั้น หากพูดถึงการใช้วาทะกรรมและภาพลักษณ์การเป็นคนนอกที่ประสบความสำเร็จนั้น หนึ่งในคนที่มีอาจนึกภาพขึ้นมาได้ทันทีนั้นก็คงไม่ใช่ที่ไหน นอกจากอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กับวาทะกรรม “ผมพอแล้ว” ซึ่งแม้ไม่ได้จะมีกล่าวคำว่า “คนนอก” อย่างชัดเจนโดยตรงก็ตาม ก็เป็นตัวสะท้อนชั้นดีกว่าเขานั้นพยายามแสดงตัวว่าเป็นคนนอก การสร้างภาพลักษณ์ของทักษิณว่าเขานั้นไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือมีความสัมพันธ์ซับซ้อนใด ๆ กับผู้มีอำนาจทางการเมืองนั้นทำให้เขาก้าวเข้ามาในสนามการเมืองได้อย่างก้าวกระโดด

เส้นทางทางการเมืองของทักษิณนั้นจึงมีความคล้ายคลึงกับทรัมป์อยู่พอสมควรทั้งในการใช้วาทะกรรมและภาพลักษณ์คนนอกเป็นแต้มต่อในการหาเสียง และรวมทั้งบทสรุปหลังจากการเข้ามาบริหารราชการการถูกขุดคุ้ยอดีต ที่ว่าในความเป็นจริงเขานั้นก็เป็น “คนใน” มากกว่าจะเป็นคนนอก ทั้งความสัมพันธ์พิเศษที่เขามีกับผู้มีอำนาจรัฐและผู้มีอำนาจในกองทัพขณะที่เขาเริ่มทำธุรกิจโทรคมนาคม [5] การเป็นคนเข้านอกออกในของเขากับรัฐจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถกล่าวได้เลยว่าเขานั้นเป็นคนนอกที่แท้จริง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การใช้วาทะกรรมนี้ลดประสิทธิภาพลงไปเลย การเป็นคนนอกนั้นจึงยังสามารถเป็นทางลัดของการเข้าสู่เกมการเมืองของบุคคลสาธารณะหลายคนได้

อีกทั้งการสร้างความน่าเชื่อถือว่าตนเองมีทรัพย์สินมากพอแล้ว จึงเข้ามาทำงานการเมือง “เพราะอยากทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง ผมรวยแล้วผมไม่โกง” ซึ่งคำ ๆ นี้ หรือคำกล่าวในลักษณะเดียวกันนี้ก็ยังถูกนำมาใช้ซ้ำอีกในอดีตอันใกล้ โดยผู้เล่นใหม่ในเกมอำนาจ นั่นคือโดย ธนาธร จึงรุ่งรวงกิจ ที่มีการใช้วาทะกรรมว่า “ผมไม่ได้อยากรวย” จนกระทั่งมีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์โดยนักวิชาการที่อยู่ในฝักฝ่ายเดียวกัน ซึ่งคือใครไปไม่ได้นอกจาก ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ [6]

ทั้งหมดนี้คงชี้ให้เราเห็นได้พอสมควรว่าวาทะกรรมและการใช้ภาพลักษณ์การเป็น “คนนอก” ของผู้ต้องการเข้าสู่สนามการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่มีความแยบยลมาก เพราะมันมักจะไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงแต่กลับเป็นการปกคลุมความสัมพันธ์ที่พวกเขาเหล่านั้นมี คำว่า “คนนอก” จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจของผู้โหยหาเหล่านั้น เมื่อใดที่เราได้ยินคำนี้ หรือเมื่อใดที่เราเห็นว่ามีบุคคลสาธารณะผู้มีความทะเยอทะยานที่เขาพยายามนำเสนอตัวเองในภาพลักษณ์นี้ สิ่งแรกที่เราควรทำจึงเป็นการขุดคุ้ยหาความจริงเพื่อให้สังคมได้รู้กันว่าเขาคนนั้นเป็น “คนนอก” หรือเป็น “คนใน” กันแน่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า