Articlesทำความเข้าใจและรู้เท่าทันกลยุทธ Strategic Voting กลยุทธการหาเสียงเลือกตั้งที่มีใช้กันในการเมืองทั่วโลก

ทำความเข้าใจและรู้เท่าทันกลยุทธ Strategic Voting กลยุทธการหาเสียงเลือกตั้งที่มีใช้กันในการเมืองทั่วโลก

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คำว่า strategic voting นี้เหมือนจะกลับมาอีกครั้งในสนามการเมือง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำที่ถูกใช้ทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง โดยในความเป็นจริงแล้วก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกการเลือกตั้งทั่วโลกด้วยซ้ำ แม้ว่านักวิชาการเองก็ยังไม่รู้ว่า strategic voting นั้นมีกลไกและทำงานอย่างไร

 

ในมุมหนึ่งเราอาจจะเทียบการ strategic voting นั้นกับการ ‘เลือกซื้อสินค้า’ ซึ่งหลายครั้งที่เราก็มีความจำเป็นที่จะต้อง ‘ต่อรอง’ กับความต้องการของตัวเราเองด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เพียงแต่เราไม่สามารถระบุได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าอะไรคือปัจจัยนั้น ๆ และอะไรคือตรรกะของการเลือกซื้อของชิ้นหนึ่ง ๆ แต่แน่นอนว่ามันคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปกับทุกคน

 

ในกรณีของ strategic voting นั้นก็อาจจะคล้ายกัน แม้เราจะระบุไม่ได้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือวิธีคิดในการลงคะแนนเสียงแบบ strategic voting แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเมืองในอดีต จะทราบว่า strategic voting นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งหลายครั้ง ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งที่ผ่านมา หรือแม้กระทั้งการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดในปี ’62

 

อย่างที่ได้กล่าวไป แม้นักวิชาการจะยังไขคำตอบไม่ได้อย่างชัดเจนว่า strategic voting ทำงานอย่างไร ในบทความนี้เราจะมาสวมบทบาทนักวิชาการ พยายามทำความเข้าใจว่า strategic voting นั้นจริง ๆ แล้วมันคืออะไร และความคิดแบบไหนบ้างที่เป็นไม่ใช่การ strategic voting จริงแต่เป็นเพียงการเอามันมาเป็นวาทะกรรมเพื่อโกยคะแนนเสียงในโค้งสุดท้ายนี้ เราไปทำความเข้าใจกันเลยที่นี่

 

 

ทำความรู้จัก Strategic Vote : โหวตอย่างไรไม่ให้คะแนนเสียเปล่า

พูดถึง ‘การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์’ หรือที่เรียกกันด้วยภาษาอังกฤษว่า strategic voting นั้น ดูเหมือนจะเป็นคำที่มีการพูดถึงมากในระยะหลังนี้ที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครกำลังใกล้เข้ามาทุกที แต่แม้ว่าจะมีการใช้และพูดถึงกันมาก หลายคนอาจจะยังไม่สามารถที่จะนิยามได้ชัดเจนว่ามันคืออะไร

 

ในหนังสือ “คู่มือการวิจัยการเมืองในยุคคอมพิวเตอร์” (Handbook of Research on Politics in the Computer Age) ได้มีการนิยาม strategic voting เอาไว้ว่าคือ “การที่ผู้ลงคะแนนเสียงตัดสินใจย้ายการสนับสนุนพรรคหรือผู้สมัครที่ตนเองชื่นชอบเป็นอันดับแรก ไปเป็น[พรรคหรือผู้สมัคร]อีกคนหนึ่ง เพราะความคิดเห็นว่าคนหลังนั้นมีโอกาสที่จะชนะมากกว่า”

 

ถ้าหากจะทำความเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ สมมติว่าเราชอบพรรคการเมืองหนึ่งมาก อาจด้วยเหตุผลเพราะพรรคการเมืองนั้นมีนโยบายที่ตรงกับอุดมการณ์ของเราที่สุด หรือมีบุคคลสาธารณะที่เราชอบนั้นสนับสนุน หรือมีนักการเมืองในพรรคที่เราชอบ อย่างไรก็ตามเรามองเห็นได้ว่าพรรคนี้เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กและเรียกได้ว่าไม่มีโอกาสที่จะชนะพรรคการเมืองขนาดใหญ่อื่น ๆ ได้เลย เราจึงตัดสินใจที่จะละทิ้งการโหวตหรือตัดสินใจไม่โหวตให้พรรคการเมืองที่เราชอบที่สุดนี้ แล้วเปลี่ยนมาโหวตให้พรรคการเมืองที่มีโอกาสชนะมากกว่า ซึ่งแม้เป็นพรรคการเมืองที่เราชอบน้อยกว่า แต่ก็ไม่ใช่พรรคการเมืองที่เราเกลียดหรือต่อต้าน

 

ในความหมายอีกขั้นหนึ่งของ strategic voting คือการที่ผู้ลงคะแนนเสียงนั้นมีเป้าหมายที่นอกเหนือไปกว่าผลลัพธ์ของการเลือกตั้งนั้น ๆ เช่น หากมองการเมืองในลักษณะของ “ฝ่าย” เช่น ฝ่ายซ้าย-ขวา โดย strategic voting ในความหมายนี้จึงกลายเป็นการโหวตลงคะแนนโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งชนะอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นการป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งชนะการเลือกตั้ง โดยไม่มีความสนใจว่าผู้ลงสมัครจะเป็นคนใด ตราบใดที่ผู้สมัครคนนั้นอยู่ฝ่ายเดียวกัน

 

ตามนัยยะหลังนี้เองก็อาจจะยกอีกนิยามขึ้นมาได้ว่า strategic voting คือ “การโหวตให้ตัวเลือกที่เราชอบเป็นอันดับสอง เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเลือกที่เราชอบน้อยที่สุดชนะ[การเลือกตั้ง] เมื่อตัวเลือกที่เราชอบเป็นอันดับหนึ่งนั้นไม่มีโอกาส[ชนะ]” [2]

 

สิ่งที่เหมือนกันในนิยามทั้งสองนี้คือการที่ผู้ลงคะแนนเสียงจะต้องมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นตัวเลือกที่ชื่นชอบที่สุด แต่เลือกที่จะไม่เลือกหรือเปลี่ยนตัวเลือก ไปเลือกตัวเลือกที่ชื่นชอบรอง ๆ ลงมา หรืออีกวิธีคิดหนึ่งคือการไม่มีตัวเลือกที่ชื่นชอบที่สุด แต่มีตัวเลือกที่ตรงกับฝ่ายหรือกลุ่มที่ต้องการมากที่สุด โดยที่ใจความของการ strategic voting นั้นคือความสามารถในการ “การเปลี่ยนตัวเลือก” ได้

 

ผู้ที่เรียกตัวเองว่ากำลังจะใช้วิธี strategic voting นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีตัวเลือกที่ตายตัว หรือเป็นผู้ที่เปลี่ยนตัวเลือกของตัวเองได้ตามการวิเคราะห์โอกาสที่จะชนะ

 

แต่ถ้าผู้ที่มีตัวเลือกหนึ่งยืนเอาไว้แล้ว และพยายามจะเชิญชวนหรือเรียกร้องให้ผู้อื่นมากเลือกตัวเลือกเดียวกับตนเองนั้น คงจะเรียกอย่างเต็มปากไม่ได้ว่านั่นคือการ strategic voting

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีหลังนี้ก็คือความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา ในปีพ.ศ. 2562 ซึ่งมีการใช้ strategic voting ในเชิงวาทะกรรมทางการเมือง ทำนองว่า ‘หากต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยเอาชนะฝ่ายเผด็จการได้จะต้องลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ด้วยการเทคะแนนให้กับพวกตนเท่านั้น’

 

ในขณะที่มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ที่ก็มองว่าตนเองอยู่ใน ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ เช่นกัน แต่พวกเขาสามารถมองเห็นหรือ ‘รู้ทัน’ การที่พรรคเพื่อไทยใช้คำว่า strategic voting เป็นวาทะกรรม อย่างที่ปรากฏในบทความของเว็บไซต์มติชน ที่ว่าไว้ว่า “สำหรับผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจหรือเชียร์พรรคการเมืองอื่น แล้วตัดสินใจเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ตามข้อเสนอให้กับพรรคเพื่อไทย แทนที่จะเลือกกับพรรครองๆ ที่เป็นพันธมิตรกันในขณะนี้ ก็เท่ากับไปลดคะแนนและจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรคเหล่านั้น ในความหมายนี้ จึงไม่มีการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” มีแต่ของ “เครือข่ายทักษิณ” เท่านั้น…ดังนั้น ไม่แปลกใจเลยที่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เพราะพวกเขาได้ประโยชน์จากข้อเสนอนี้” [3]

 

ในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ การใช้คำว่า strategic voting เป็นวาทะกรรมในการโกยคะแนนเสียงลักษณะเดียวกันนี้ก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม เราต้องทำความเข้าใจเสมอว่าถ้ายึดตามนิยามที่ยกมาทั้งสองนี้แล้วละก็ การ strategic voting โดยไม่ได้มีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนตัวเลือกของตนเอง นั้นคือการยืนกรานหรือตั้งธงที่จะเลือกตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่งไว้แล้ว มันก็ไม่ใช่ strategic voting ที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการเอาคำว่า strategic voting มาเป็นเครื่องมือในการหาคะแนนเสียงเพิ่มก็เท่านั้น

 

ปรากฏการณ์ strategic voting (หรือบางครั้งมีการเรียกด้วยคำอื่นเช่น tactical voting, sophisticated voting, หรือ insincere voting) นั้นเป็นสิ่งที่นักวิชาการจำนวนมากพยายามศึกษาและทำความเข้าใจ โดยเฉพาะการทำความถึงกลไกและวิธีการที่ strategic voting จะประสบผลสำเร็จในการเลือกตั้งหนึ่ง ๆ ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนอย่างไรก็ตามนักวิชาการก็เห็นว่าปรากฏการณ์นี้มีอยู่จริงและเป็นสิ่งนี้เกิดขึ้นทุก ๆ การเลือกตั้งทั่วโลก

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า