Articlesทำความเข้าใจแนวคิดและวิธีการในการครอบงำทางความคิด และแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรม Pop-Culture

ทำความเข้าใจแนวคิดและวิธีการในการครอบงำทางความคิด และแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรม Pop-Culture

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 สำนักโพล IFOP (ย่อมาจาก Institut français d’opinion publique หรือ French Institute of Public Opinion) สัญชาติฝรั่งเศส ได้ทำการสำรวจความเห็นของชาวฝรั่งเศสว่าใคร-ประเทศใดที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการเอาชนะประเทศเยอรมันได้ และ “แม้ว่าโซเวียตจะไม่ได้มีส่วนมากในการปลดปล่อยฝรั่งเศสเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และอังกฤษ” คนฝรั่งเศสก็เห็นพ้องต้องกันว่าสหภาพโซเวียตรัสเซียนั้นเป็นผู้ที่มีส่วนมากที่สุดในการเอาชนะเยอรมัน [1][2]

แต่ในปี 1994 และ 2004 สำนักโพล IFOP ได้ทำการสำรวจความเห็นในเรื่องนี้อีกครั้ง ผลสำรวจกลับออกมาว่าชาวฝรั่งเศสมองว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่วนมากที่สุดในการเอาชนะเยอรมันคือ 49% และ 58% ตามลำดับ เรียกได้ว่าตำแหน่งความสำคัญของโซเวียตกับอเมริกานั้นถูกสลับเปลี่ยนกันอย่างสิ้นเชิง อะไรที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดไปได้ถึงขั้นนี้

ส่วนหนึ่งเราอาจจะกล่าวว่าผู้ที่อยู่ร่วมยุคในเหตุการณ์ พวกเขาจะต้องเป็นผู้ที่มีข้อมูลและความเข้าใจที่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนผู้คนรุ่นหลังที่อยู่ในยุคถัด ๆ มาก็คงจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปได้ แต่สิ่งนี้ก็ไม่สามารถจะอธิบายได้ว่าอะไรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดนั้น ๆ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนมีความเห็นที่เปลี่ยนแปลงไป? อะไรทำให้คนฝรั่งเศสเปลี่ยนไปคิดว่าอเมริกามีส่วนในการเอาชนะเยอรมันได้แทนที่จะเป็นโซเวียต?

ความเห็นของคนฝรั่งเศสในเว็บไซต์ les-crises.fr ที่ลงบทความตีแผ่ผลสำรวจของ IFOP ที่ยกมานี้นั้นก็มีคนตอบคำถามนี้เอาไว้อยู่หลากหลาย หนึ่งในผู้แสดงความเห็นนั้นชี้ว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ฮอลลีวูด” ซึ่งในความเห็นเหล่านั้น ก็มีการเรียกสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงจากฮอลลีวูดทั้งหลายว่าเป็น “โปรปากันดา” (propaganda) หรือการ “โฆษณาชวนเชื่อ” อีกด้วย [1]

ความเห็นเหล่านี้นั้นก็คงไม่น่าจะเกินเลยจากความเป็นจริงมากนัก เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา “วัฒนธรรรมป๊อป” หรือ pop-culture ไม่เพียงแต่ของฝรั่งเศส แต่คือของสังคมทั่วโลกนั้นก็เรียกได้ว่าถูกปกคลุมโดยอิทธิพลทางความคิดของวัฒนธรรมอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าวัฒนธรรมป๊อปนั้นเป็นสิ่ง ๆ เดียวกันกับ (synonymous with) วัฒนธรรมอเมริกา

บทความบทหนึ่งของนิตยสารไทม์ (Time) ได้มีการกล่าวไว้ว่า “เมื่อพูดถึงวัฒนธรรม…ศตวรรษที่ผ่านมานั้นเรียกได้ว่าเป็นศตวรรษแห่งอเมริกาที่แท้จริง ด้วยการเป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง และด้วยการมีเศรษฐกิจที่ขยายตัว แผ่อิทธิพล และอำนาจ…สัตว์วิเศษนี้นั้นประกอบขึ้นมาได้จากพละกำลังของวัฒนธรรมอเมริกัน ผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูด, รายการโทรทัศน์, และดนตรี ซึ่งแผ่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก” [3]

เราจะสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ ว่ามีภาพยนตร์กี่เรื่อง รายการโทรทัศน์กี่ตอนที่มีการฉายภาพประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นในระดับรัฐบาลหรือระดับบุคคล ว่าเป็นพระเอกหรือตัวเอก ผู้มีความสำคัญในการกอบกู้สถานการณ์จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นภัยต่อโลก

เหล่านี้คือตัวอย่างของวิธีการในการแผ่ขยายความคิดที่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลาง นั่นคือทุก ๆ อย่างนั้นจะ ‘หมุนรอบ’ อเมริกา ซึ่งเป็นแก่นกลางของขั้วความคิดที่สำคัญของโลก (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีอเมริกาเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของเนื้อเรื่อง และตัวละครอเมริกันเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง ขณะที่ตัวละครอื่นอาจเป็นชาวตะวันตกประเทศอื่นเช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมัน เป็นต้น)

นักวิชาการได้มีการเรียกปรากฏการณ์การแผ่ขยายวัฒนธรรมของประเทศมหาอำนาจหนึ่งเป็นแก่นกลางที่สำคัญเหนือวัฒนธรรมอื่น ๆ ของโลกว่า “จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม” หรือ cultural imperialism ซึ่งได้มีการอธิบายนิยามว่า “การครอบงำทางวัฒนธรรม และการขยายตัวทางวัฒนธรรมของประเทศหนึ่ง ๆ เข้าไปสู่วัฒนธรรมและพัฒนาการทางวัฒนธรรมของอีกประเทศหนึ่ง” [4]

และโดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงปรากฏการณ์การขยายตัวของวัฒนธรรมอเมริกานั้น นักวิชาการอีกท่านหนึ่งก็ได้มีการนิยามถึงคำว่า “การทำให้เป็นอเมริกัน” หรือ Americanization เอาไว้ว่า “การรับ (adoption) รูปแบบการผลิตและบริโภค, เทคโนโลยีและวิธีการจัดการ, แนวคิดทางการเมืองและนโยบายสังคม, วัตถุและสถาบันทางวัฒนธรรมระดับสูงและระดับประชาชน, บทบาททางเพศและกิจกรรมยามว่าง ของอเมริกาในต่างประเทศ” [5]

อีกหนึ่งกรอบความคิดที่จะเอามาเสริมในการอธิบายถึงขั้นตอนวิธีการในการแผ่ขยายอิทธิพลวัฒนธรรมอเมริกันให้เป็นวัฒนธรรมป๊อปของโลกนั้นก็คือทฤษฎีด้านการสังคมและสื่อสารที่เรียกว่า “ทฤษฎีการปลูกฝัง” หรือ cultivation theory ซึ่งในบทความของนักวิชาการไทยท่านหนึ่งได้อธิบายเอาไว้ถึงขั้นตอนวิธีการใช้สื่อปลูกฝังความคิดของผู้คนเอาไว้ดังนี้

“หลังจากผู้คนรับชมภาพยนตร์ พวกเขาก็จะมีความรู้สึกมีส่วนร่วมอย่างจำลอง (pseudo involvement) และรู้สึกเหมือนว่าพวกเขานั้นเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์นั้น หลังจากนั้นพวกเขาก็จะซึมซับคุณค่าหรือนัยยะใด ๆ ก็ตามที่อยู่ในภาพยนตร์ และปรับใช้ (adapt) เข้ามาในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา จึงอาจพูดได้ว่า หากคุณต้องการผู้คนรับรู้คุณค่าใด ๆ เกี่ยวกับประเทศของคุณ มันก็เป็นสิ่งง่ายกว่าในการเอามันอยู่ในภาพยนตร์ และแจกจ่ายภาพยนตร์นั้นไปสู่พวกเขา ทฤษฎีการปลูกฝังนั้นเป็นทฤษฎี[ที่พูด]เกี่ยวกับการที่ผู้คนได้รับการอบรมหรือถ่ายทอด แต่ในส่วนของภาพยนตร์ ทฤษฎีการปลูกฝังนั้นสามารถถูกนำมาใช้ในฐานะการปลูกฝังจากการที่ผู้คนได้รับรู้ถึงภาพยนตร์และว่าพวกเขานั้นซึมซับคุณค่าต่าง ๆ จากภาพยนตร์มากน้อยเพียงใด” [6]

ถ้าเราจะตอบคำถามสุดท้ายจากคำพูดที่ยกมาข้างต้นนี้แล้วละก็ เราอาจจะกล่าวได้ว่าในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากนั้น “ซึมซับคุณค่าต่าง ๆ จากภาพยนตร์[อเมริกัน]” อย่างมาก และไม่เพียงแต่ภาพยนตร์ ศิลปะ ดนตรี คุณค่าทางศีลธรรมและสังคม วิถีชีวิต และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง เรียกได้ว่าเกือบทุก ๆ มิติของสังคมโลกในยุคปัจจุบัน รวมทั้งสังคมไทยเราเอง นั้นก็ได้รับการ Americanize ตามนิยามที่กล่าวถึงข้างต้นอย่างมาก

ซึ่งความเปลี่ยนแปลงบางอย่างนั้นก็อาจจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าเป็นเรื่องดี เช่น การพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่สร้างความสะดวกสบายและประโยชน์ให้สังคม หรือคุณค่าต่าง ๆ เช่น การมีความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมในสังคมและการเมือง แต่ในขณะเดียวกัน อีกก็ยังมีหลายสิ่งที่เราควรจะคิดและชั่งน้ำหนักถึงคุณและโทษอย่างสมดุลก่อนที่จะนำมันมาปรับใช้กับชีวิตและสังคมของเรา เช่น เรื่องความสัมพันธ์ทางครอบครัว หรืออิสรภาพทางความคิดที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นก็อาจจะเป็นการทำความเข้าใจในภาพรวมว่า การแผ่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมความคิดของมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ที่เป็นผู้นำและทำมาอย่างยาวนานและประสบความสำเร็จมาก หรือประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี, และล่าสุดก็คือมหาอำนาจอีกฝั่งหนึ่งคือ จีน เราควรจะต้องทำความเข้าใจว่าการล่าอาณานิคมทางความคิดหรือการขยายจักรวรรดิทางวัฒนธรรมเหล่านี้นั้น ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศเหล่านั้นมากกว่าและไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศอื่น ๆ เป็นหลัก

ดังนั้นเมื่อเราเสพสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อบันเทิง หรือข่าวสาร หรือบริโภควัตถุทางความคิดต่าง ๆ แล้ว การที่เราเข้าใจถึงวิธีการ แนวคิด ทฤษฎี ต่าง ๆ ที่นำไปสู่การสร้างสิ่งเหล่านั้น และรู้ถึงเป้าหมายที่แท้จริงของสิ่งเหล่านี้ เราก็จะมีความสามารถในการชั่งน้ำหนักถึงคุณและโทษอย่างสมดุลเพื่อปรับเอาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราและสังคมส่วนใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า