Articlesคนที่เข้าใจ “รัสเซีย” และไม่ชอบพฤติกรรม “ตำรวจโลก” คือคนที่มีความคิดแบบ “Realism”

คนที่เข้าใจ “รัสเซีย” และไม่ชอบพฤติกรรม “ตำรวจโลก” คือคนที่มีความคิดแบบ “Realism”

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ประเทศรัสเซียได้ตัดสินใจเปิดฉากรุกรานประเทศยูเครน ทำให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบครั้งใหญ่หลังจากที่โลกปราศจากสงครามแบบนี้มาหลายปี นับตั้งแต่ที่ประเทศอเมริการุกรานประเทศอิรักเมื่อปี 2003 สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกและการวิพากษ์วิจารณ์การรุกรานของรัสเซียไปต่าง ๆ นานา

ในขณะที่สื่อกระแสหลักที่เป็นของฝั่งตะวันตกก็พร้อมใจกันออกมาประณามการรุกรานของรัสเซียที่บุกรุกยูเครนที่อ่อนแอและฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศกว่าประดุจตัวร้ายในภาพยนตร์ Hollywood ที่เห็นกันทุกเมื่อเชื่อวัน รัสเซียในฐานะผู้ใช้กำลังทหารกับผู้อ่อนแอก็ดี ผู้ทำผิดกฎหมายก็ดี ย่อมถูกมองว่าเป็นวายร้ายของสังคมโลกและไม่ควรได้รับการสนับสนุนตามสายตาของโลกเสรีนิยมปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นก็ดีมีผู้คนหลายคนกลับออกมาสนับสนุนรัสเซียอยู่ไม่น้อยทั่วโลกเช่นกัน อะไรคือแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังคนเหล่านี้ที่ตำราในโรงเรียนไม่สอนกันแน่?

ก่อนที่จะวิจารณ์การกระทำของรัสเซียในครั้งนี้ได้นั้น ผู้อ่านควรเข้าใจก่อนว่ามันมีแนวความคิดพื้นฐานที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งมีอยู่หลายทฤษฎีด้วยกัน โดยมี2 แนวคิดหลักในปัจจุบันที่กลายเป็นแนวคิดหลักในโลกก็คือ 1. แนวคิดทางเสรีนิยม (Liberalism) และ เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) 2. แนวคิดแบบสัจนิยม (Realism) และ สัจนิยมใหม่ (Neo-Realism) ซึ่งในความเป็นจริงแม้เราจะไม่เคยศึกษาแนวคิดไหนเลย เราก็มักจะมีแนวความคิดไปทางทฤษฎีหนึ่งอยู่แล้วโดยอัตโนมัติตามกระแสของโลกที่ถ่ายทอดผ่านการขัดเกลามาในสังคม

1.แนวคิดแบบเสรีนิยม และเสรีนิยมแบบใหม่

แนวคิดนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่1 และ 2 ซึ่งนำไปสู่องค์การสันนิบาตชาติและองค์การสหประชาชาติในเวลาต่อมา ทฤษฎีเสรีนิยมนั้นเป็นแนวทางการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดย เชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศจะสามารถแก้ไขได้ด้วยระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเท่านั้น และเชื่อว่าการสร้างความมั่งคงร่วมจะสามารถทำได้โดยการสร้างองค์กรระหว่างประเทศขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือกันในประเทศสมาชิกและกลไกของกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชนและหลักคุณธรรม

ภายหลังสงครามเย็น หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แนวคิดเสรีนิยมได้รับความนิยมขึ้นมากเรื่อย ๆ จนกลายเป็นแนวคิดหลักของโลกและได้รับการฟื้นฟูครั้งใหม่เป็นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ โดยเน้นที่ในทฤษฎีที่เชื่อ เศรษฐศาสตร์การเมืองในเรื่องตลาดเสรี (Free – Market) ระบอบการปกครองแบบสากล (International Regimes) และธรรมาภิบาลโลก (Global Governance) สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ผ่านการเจรจาและทำข้อตกลงต่าง ๆ แทนการใช้กำลังทหาร นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการพึ่งพากันอาศัยกันโดยเฉพาะด้านการเมืองและเศรษฐกิจจะสามารถนำสังคมโลกไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ปัจจุบันแนวคิดเสรีนิยมใหม่ถือเป็นแนวคิดหลักของโลกที่ถูกสอนและเสนอในประเทศประชาธิปไตยแทบทุกประเทศ

2. แนวคิดแบบสัจนิยมและสัจนิยมใหม่

ตรงกันข้ามกับแนวคิดแบบเสรีนิยม สัจนิยมจะเน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมระหว่างประเทศโดยจะเน้นปัจจัยเรื่องอำนาจ (Power) และผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interests) โดยเชื่อว่าการต่อสู้ดิ้นรนและแสวงหาอำนาจเพื่อปกป้องหรือหามาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาตินั้นถือเป็นสิ่งที่ระบบรัฐ (State-System) หรือสังคมระหว่างที่เป็นอนาธิปไตย ต้องมีโดยธรรมชาติ นอกจากนั้นยังเห็นอีกว่าการเมืองนั้นเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อดิ้นรนให้ได้มาซึ่งอำนาจเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ โดยเฉพาะความมั่นคงของชาติ (National Security) โดยเห็นว่าหากไม่อยากให้มีสงครามก็ต้องจัดให้มีสมดุลในอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศเพื่อไม่ให้รัฐหรือกลุ่มใดเขาครอบงำโลกหรือประเทศอื่นได้

ส่วนแนวคิดแบบสัจนิยมใหม่นั้นก็พัฒนามาจากสัจนิยมอีกทีโดยมองว่าโครงสร้างของโลกคือตัวกำหนดผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างประเทศ แนวคิดใหม่นี้มองเห็นและก็ให้ความสำคัญกับความร่วมมือต่างๆของรัฐ (Cooperation) ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังเห็นว่าความร่วมมือนี้มันก็มาจากอำนาจของรัฐอยู่ดีนั่นเอง

จากแนวคิดสองแนวคิดนี้จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่เสรีนิยมเท่านั้นที่เป็นแนวคิดที่ผู้คนเห็นด้วย แต่ยังมีแนวคิดแบบสัจนิยมอีกที่หลายคนคล้อยตาม แม้พวกเขาไม่เคยศึกษาแนวคิดแบบนี้มาเลยก็ตามที จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นบนโลกจะเห็นได้ว่าตะวันตกที่เชิดชูเสรีนิยมพยายามใช้องค์กรระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ การค้าเสรีในการจัดระเบียบของโลกอยู่ผ่านองค์กรสหประชาชาติ ศาลระหว่างประเทศ WTO รวมทั้ง NATO โดยมีอเมริกาเป็นหัวหอกในการทำหน้าที่เป็นตำรวจโลกนั่นเอง

แต่จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแนวความคิดเสรีนิยมนั้นมันเริ่มใช้ไม่ได้ผล จากการที่เราจะเห็นประเทศตะวันตกที่อ้างเป็นตำรวจโลกละเมิดกฎที่ตัวเองตั้ง เช่น การละเลยคำตัดสินศาลโลกของอเมริกาในคดีแทรกแซงประเทศนิการากัว ในปี 1986 การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและขาดความชอบธรรมในการรุกรานอิรักจากการกล่าวหาว่ามีอาวุธร้ายแรงครอบครองแต่สุดท้ายก็หาไม่ได้ การใช้ NATO เป็นเครื่องมือในการแพร่อิทธิพลมาทางตะวันออกซึ่งผิดสัญญาที่เคยให้ไว้กับรัสเซียจนเกือบจะมีการตั้งฐานยิงจรวดติดชายแดนรัสเซีย ทั้ง ๆ ที่ NATO ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสโซเวียต ซึ่งก็ไม่มีอยู่ตั้งนานแล้ว การแทรกแซงองค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO โดยสหรัฐ รวมทั้งการปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครน ฯลฯ
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าสุดท้าย แล้วความร่วมมือกันระหว่างประเทศก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็กผ่านองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้น อำนาจต่อรองและใช้กฎหมายระหว่างประเทศหรือความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นที่พึ่งย่อมมีมากน้อยไปตามอำนาจของแต่ละรัฐที่มีตรงตามแนวคิดสัจนิยม ถ้าอยากได้สันติภาพบนโลกนี้วิธีเดียวคือการให้ตะวันออกเช่น จีนและรัสเซียขึ้นมามีอำนาจบ้างเพื่อที่จะได้เกิดสมดุลบ้างนั่นเอง ไม่ใช่มีแต่ตะวันตกที่เป็นผู้มีอำนาจชี้ผิดถูกบนโลกและเอาเปรียบประเทศอื่นๆ ซึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า “ตำรวจโลกนั้นไม่มีอยู่จริง ที่มีอยู่คือมาเฟียที่ใส่เสื้อของตำรวจเท่านั้น”

อ้างอิง :

[1] จันตรี สินศุภฤกษ์, กฎหมายระหว่างประเทศกับการเมืองระหว่างประเทศ , วิญญูชน 2547 หน้า 51-56

[2] บทที่ 2 แนวความคิด ทฤษฎี และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

[3] Baylis, John. “Chapter 7 Realism” and “Chapter 8 Liberalism” in The Globalization of world politics: an introduction to international relations. Oxford: Oxford University Press, c2005

[4] International trade dispute settlement: WTO Appellate Body crisis and the multiparty interim appeal arrangement

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า