
คลองแม่ข่าโมเดล ‘วราวุธ’ ชื่นชม ‘เชียงใหม่’ ใช้ที่ดินรัฐ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมกิจกรรมงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2566 ภาคเหนือ “จังหวัดยุทธศาสตร์ ที่ดินที่อยู่อาศัยมั่นคง จากการยกระดับความร่วมมือทุกภาคส่วน” พร้อมทั้งเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การใช้ที่ดินของรัฐแก้ปัญหาคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา ในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่
ระหว่างเทศบาลนครเชียงใหม่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และเครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งมอบงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 5 โครงการ จากนั้นมอบนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
นอกจากนี้ ได้รับมอบข้อเสนอด้านที่อยู่อาศัยจากขบวนองค์กรชุมชน โดยมี นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชน
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ UNISERV Chiang Mai University ห้องประชุมทองกวาว ถนนนิมมานเหมินทร์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ในโอกาสนี้ ได้เดินทางไปลงพื้นที่ ณ ชุมชนหัวฝ่าย และชุมชนกำแพงงาม ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมและให้กำลังใจ “วิถีชีวิตผู้คนริมคลองแม่ข่าภายใต้บริบทของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่” อีกทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการการพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่า และทำกิจกรรมสัญลักษณ์การพัฒนาคลอง
นายวราวุธ กล่าวว่า องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT) กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก หรือ World Habitat Day เริ่มตั้งแต่ปี 2528 เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
สำหรับปี 2566 วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) กำหนดจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อหลัก เศรษฐกิจชุมชนที่ยืดหยุ่น เมืองที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตและการฟื้นฟู
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Smart Housing) ภายใต้เป้าหมาย 1,300,000ครัวเรือน ทั่วประเทศ โดยบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยของกระทรวง พม.
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย และมีการประกาศใช้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยพื้นที่ริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา อีกทั้งมีแผนพัฒนาพื้นที่รูปธรรม เป็นพื้นที่รองรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งถือเป็นความสำเร็จและเป็นความภาคภูมิใจของทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยบนที่ดินของเทศบาลนครเชียงใหม่ ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีเจตนาอย่างแน่วแน่ ในการที่จะให้ทุกคน ทุกครอบครัว ที่นอกจากจะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว
ยังต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เด็กที่เกิดใหม่ต้องได้รับการดูแลมีพัฒนาการที่สมวัย ครอบครัวต้องปราศจากความรุนแรง ผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มคนเปราะบาง จะต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงในทุกวิถีทาง เพื่อเป็นพลังสำคัญ ในการร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้ความเข้มแข็งอย่างมั่นคงยั่งยืนตลอดไป
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า เรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย จะไม่ใช่การทำงานเพียงแค่ภาครัฐหรือภาคเอกชน วันนี้ การลงนาม MOU กับทุกๆ ภาคส่วนนั้น แสดงให้เห็นถึงการมีบ้านที่ดี ที่เพรียบพร้อม การที่จะมีสังคมที่ดี สังคมที่อบอุ่นนั้น ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน วันนี้เป็นการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน
และท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์จะตกอยู่กับพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานะ อย่างเช่นตัวอย่างวันนี้ เรามีล่ามภาษามือมาด้วย เพื่อที่ว่าคนหูหนวกจะได้เข้าใจว่า วันนี้รัฐมนตรีมาพูดเรื่องอะไร และมาทำอะไร นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการทำงานนั้น ทุกองคาพยพต้องเดินทางไปด้วยกัน เพื่อที่สังคมไทยจะได้พัฒนาไปข้างหน้าโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเรื่อง Timeline ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ถ้าสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังให้เงินกระทรวง พม. มาเพียงพอ เราจะสามารถสร้างให้เสร็จได้ในคราวเดียว แต่วันนี้มีข้อจำกัดในเรื่องด้านงบประมาณ สำนักงบประมาณจะแบ่งจ่ายมาให้กับกระทรวง พม.
โดยทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จะทยอยดำเนินการทีละชุมชน แต่จะพยายามทำให้เร็วที่สุด เพราะที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญของพี่น้องประชาชน ดังนั้น กระทรวง พม. จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนการสร้างที่อยู่อาศัยนั้น จะมีเพียงไม่กี่หน่วยงาน
ซึ่งหน้าที่ใหญ่ต้องเป็นกระทรวง พม. ที่ต้องดูแลเรื่องนี้ ถ้ามีหน่วยงานอื่นประสงค์จะแบ่งงบประมาณมาสร้างที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องประชาชน กระทรวง พม. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ อ.แม่แจ่ม คงต้องมีการคุยกัน เพราะพี่น้องประชาชนย่อมต้องมีเงื่อนไขในการทำหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งทางเรามีความเข้าใจ ทั้งเรื่องการทำมาหากิน มีความท้าทายและมีข้อจำกัดหลายอย่าง
และต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐหลายเรื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ภาครัฐเองที่เป็นพื้นที่ป่านั้น ประเทศไทยมี 323 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 31.6% และเป้าหมายของประเทศนั้น เราต้องการให้มีพื้นที่ป่าให้ได้ถึง 35% เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกัน
เพราะท้ายที่สุดแล้ว การรักษาพื้นที่ป่าเอาไว้ คนที่จะได้ประโยชน์ที่สุดไม่ใช่ใครอื่น คือพี่น้องประชาชนทุกคน ถึงได้เป็นจุดมุ่งหมายของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 คนและป่าจะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ แต่ความต้องการและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนั้น ขอยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐเราที่จะต้องดูแล และสามารถทำให้พี่น้องประชาชนนั้นดำรงชีพอยู่ได้อย่างดีที่สุด
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยของเรามีพื้นที่ 323 ล้านไร่ จะไม่มีการงอกไปกว่านี้ แต่ทางตรงกันข้าม ปริมาณประชากรในประเทศมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน หมายถึงว่า ประชากรต่อ 1 พื้นที่ที่เราอยู่ นับวันจะมีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนทุกคน รักษาและหวงแหนผืนแผ่นดินของเราไว้ให้ดี ทั้งที่ทำกิน อยากจะให้ทุกคนรักษาไว้ให้ดี ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนอื่นที่ไม่ควรจะได้ เราจะต้องรักษาสมบัตินี้เป็นแผ่นดินไทยของพวกเราทุกคน ให้อยู่จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน