
สมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน เสด็จพระราชดำเนินมา รพ.จุฬาฯ ทรงยกย่องเจ้าฟ้าพัชรกิติยา เป็นเจ้าหญิงที่รัก และแรงบันดาลใจแก่ผู้คนมากมาย
สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุกแห่งภูฏาน เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานแจกันดอกไม้ที่หน้าพระรูป พร้อมลงพระนามเยี่ยมพระอาการประชวร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงยกย่องเป็นเจ้าหญิงที่รักและแรงบันดาลใจแก่ผู้คนมากมาย
วันนี้ (22 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุกแห่งภูฏาน เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานแจกันดอกไม้ที่หน้าพระรูป พร้อมลงพระนามเยี่ยมพระอาการประชวร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมีคณะผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เฝ้าฯรับเสด็จ
โอกาสนี้ สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุกแห่งภูฏาน ทรงลงพระนามเยี่ยมในสมุดลงพระนามความว่า
“ถึง…เจ้าหญิงอันเป็นที่รัก และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย
สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และข้าพเจ้า สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน พร้อมด้วยพสกนิกรชาวภูฎาน
ขออวยพรอย่างจริงใจให้ท่านทรงหายจากอาการพระประชวรโดยเร็ว และมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง
ลงพระนามาภิไธย
สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน “
การเสด็จพระราชดำเนินมาไทยของสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา เพื่อพระราชทานแจกันดอกไม้ที่หน้าพระรูปพร้อมลงพระนามเยี่ยมพระอาการประชวร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาในครั้งนี้ สะท้อนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับภูฏาน
ย้อนกลับไปในวันฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2549 มกุฏราชกุมารจิกมีเสด็จมาไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ ราชอาณาจักรภูฏานมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศ แต่มีเพียง 4 ประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตภูฏานโดยมีไทยเป็นหนึ่งในนั้น อีก 3 ประเทศคืออินเดีย คูเวต และบังคลาเทศ และภูฏานมีสำนักงานถาวรผู้แทนคณะทูตที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ภูฏานและไทยยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเรื่อยมา ทั้งทางด้านการศึกษา การพัฒนา การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม ไอที รวมทั้งด้านธุรกิจ เนื่องจากมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนทำกิจการโรงแรม ก่อสร้างและอาหารในภูฏาน
ทั้งนี้ไทยและภูฏานมีความคล้ายคลึงกันในด้านวัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ การปกครองของภูฏานแสดงถึงความใกล้ชิดของสถาบันกับประชาชนในรูปแบบประชาธิปไตย ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งใกล้เคียงกับไทย
ภูฏานเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเรื่องนโยบายความสุขมวลรวมนานาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) เป็นแนวคิดที่มีขึ้นกว่า 40 ปี เพื่อต้องการเน้นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ดูแลป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ
ภูฏานได้ชื่อว่าเป็น “ราชอาณาจักรแห่งมังกรสายฟ้า” เป็นประเทศที่งดงามบนเทือกเขาหิมาลัย และเป็นประเทศที่น้อมนำนโยบายความสุข เพื่อเสริมสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ประชากรกว่า 7 แสนคน ในประเทศที่เป็นที่เรียกขานว่า “ดินแดนแห่งความสุข”
“อาคม” คาด เฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก ย้ำแบงก์ชาติจับตามองอย่างใกล้ชิด เตรียมตรึงดอกเบี้ยช่วยลูกค้า
ซาอุดีอาระเบีย-ญี่ปุ่น ร่วมมือด้านความบันเทิงและท่องเที่ยว เพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน
พร้อมปกป้องไต้หวัน ไบเดนประกาศส่งกองทัพช่วยไต้หวัน หากจีนเตรียมรุกรานไต้หวันในอนาคต
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม