
จ่อใช้ ‘สัตว์เลี้ยงบำบัด’ การแพทย์ไทยในอนาคตเตรียมรองรับผู้สูงวัย ให้ช่วยดูแลคนโสดป่วยระยะสุดท้าย
กรมการแพทย์เผยทิศทางพัฒนา เตรียมรุก 3 ด้าน รองรับดูแลผู้สูงอายุ ระบบการแพทย์แม่นยำ และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เล็งจัดระบบรองรับดูแลคนโสดด้วย Pet Therapy
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เผยถึงนโยบายและทิศทางกรมการแพทย์สู่อนาคต ภายในงานประชุมวิชาการ รพ.ราชวิถี ครั้งที่ 33 ว่า ปัจจุบันเราพยายามใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อบริการประชาชน ลดปัญหาผู้ป่วยล้น รพ. เช่น ระบบแพทย์ทางไกล ดูแลรักษาที่บ้าน OPD จะกลายเป็น Home IPD แทน
โดยในอนาคต วอร์ด รพ.จะเล็กลงเรื่อยๆ อย่างวอร์ด รพ.ของกรมการแพทย์หลายที่ มะเร็งมารักษาแล้วกลับบ้าน ไม่ต้องนอน รพ. ญาติพี่น้องก็ไม่ต้องมาเฝ้า ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ส่วนสิ่งที่ต้องเตรียม คือ บริการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่กำหนดอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยคลินิกผู้สูงอายุ จะไม่เน้นหาโรคอย่างเดียว แต่จะคัดกรองสุขภาพว่า เป็นไปตามวัยหรือไม่ หากเจอโรคก็ส่งรักษา
ส่วนเรื่องการแพทย์แม่นยำเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นหนึ่งใน 3 เรื่องหลักอนาคต ร่วมกับผู้สูงอายุ และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน อย่างจีนมีการเก็บจีโนม อนาคตระบบนี้จะมาแน่นอน เราต้องเตรียมพร้อม ต่อไปเราจะรู้โรคได้แม่นยำ รู้ได้ก่อน ป้องกันได้ก่อน สำหรับดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ทุกวันนี้คนแทบไม่ได้ไปธนาคาร ไม่ต้องถอนเงินสด โอนผ่านระบบดิจิทัล เราต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
ปัญหาคือ คนรุ่นเก่าอาจยังไม่ชิน ในอดีตหมอรุ่นเก่าไม่อยากคีย์ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ แต่วันนี้ไม่ได้แล้ว ต้องมีการใช้เทคโนโลยีทั้งหมด คนที่อยู่ระดับบริหารต้องให้ความสำคัญกับดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีรองรับบริการคนไข้ที่บ้าน สร้างความมั่นใจให้ประชาชน การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)
รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี นำสัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) ซึ่งอนาคตจะมีคนโสดเยอะ และมักอยู่คอนโดมิเนียม ไม่มีครอบครัว จะไม่มีคนช่วยดูแล สิ่งเหล่านี้จะดูแลเขาอย่างไร ยิ่งเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย หากมีสัตว์เลี้ยงก็อยากให้ รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี ฝึกสัตว์เลี้ยงของคนไข้ให้สามารถดูแลเบื้องต้นได้
ในอนาคตคลินิกเด็กเล็กจะน้อยลง แต่คลินิกผู้สูงอายุจะมากขึ้นเรื่อยๆ และระบบต้องมีโฮมวอร์ดเพราะทุกคนไม่อยากเดินทาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่อยากอยู่ รพ. อยากอยู่กับครอบครัว เราต้องจัดระบบรองรับ แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นญาติด้วยว่า ระบบการแพทย์จะดูแลได้อย่างดีแม้คนไข้อยู่บ้าน