ไทยขึ้นแท่นอันดับ 1 ของเอเชีย พาณิชย์เผย ไทยส่งออกไอศกรีมมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ชี้ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบที่หลากหลาย
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ามูลค่าการส่งออกไอศกรีมของไทยเติบโตต่อเนื่องติดต่อกันตลอดช่วงระยะเวลา 7 ปี โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ตั้งแต่ปี 2560 – 2566 ที่ 12.43% ต่อปี
ซึ่งในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไอศกรีมประมาณ 5,099 ล้านบาท ขยายตัว 7.3% ขึ้นแท่นอันดับที่ 1 ของเอเชีย และ 11 ของโลก โดย 10 อันดับแรกประกอบด้วย
1 เยอรมนี
2 ฝรั่งเศส
3 เบลเยียม
4 เนเธอร์แลนด์
5 อิตาลี
6 โปแลนด์
7 สหรัฐอเมริกา
8 สเปน
9 สหราชอาณาจักร
10 ฮังการี
ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป แต่ถ้าหากนำประเทศเหล่านั้นมารวมกันเป็นสหภาพยุโรป ไทยจะขึ้นแท่นอันดับที่ 4 ของโลกในทันที โดยเป็นรองเพียงกลุ่มสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
สำหรับ 5 ประเทศที่นำเข้าไอศกรีมจากประเทศไทยมากที่สุด 5 อันดับแรกประจำปี 2566 ได้แก่
1 มาเลเซีย นำเข้าไอศกรีม 29.5% ของมูลค่าการส่งออกไอศกรีมของไทย
2 เกาหลีใต้ นำเข้า 11.3%
3 เวียดนาม นำเข้า 9.5%
4 สิงคโปร์ นำเข้า 6.5%
5 กัมพูชา นำเข้า 6.3%
นายพูนพงษ์กล่าวว่าจุดเด่นของไอศกรีมของไทยมาจากการยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบที่หลากหลาย และสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นไอศกรีมได้อย่างสร้างสรรค์และถูกใจผู้บริโภค ผลไม้ไทยเกือบทุกชนิดสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตไอศกรีมรสชาติต่างๆ ได้อย่างลงตัว
ขนมไทยก็ถูกนำมาประยุกต์เป็นไอศกรีมได้อย่างน่าสนใจ ขณะที่สมุนไพรไทยก็สามารถเป็นส่วนผสมในไอศกรีมเพื่อชูอัตลักษณ์ความเป็นไทย ตลอดจนการรังสรรค์รูปแบบและรูปทรงของไอศกรีม ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสุขภาพและความยั่งยืนมากขึ้น ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสามารถพัฒนาไอศกรีมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
และแสวงหาโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าใหม่ ๆ มากขึ้น เนื่องจากไอศกรีมไทยยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมากทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดโลก