
ไทยถูกรุกรานทางเศรษฐกิจ ‘สภาอุตสาหกรรม’ ชี้สินค้านำเข้าด้อยคุณภาพทะลัก ทำลายธุรกิจไทย จี้ ‘ศุลกากร’ ควรเข้มงวดกับสินค้านำเข้ามากกว่าส่งออก
สืบเนื่องจากกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหารือร่วมกับกรมสรรพากร คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เรื่องการปลดล็อกกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนไทย
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า
ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาประเทศ 3 ด้านหลัก
คือการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ, การผลักดันจีดีพีไทยให้เติบโต 5% ต่อปี ตามนโยบายของรัฐบาล และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งมีข้อย่อย 8 ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of Doing Business)
ต้องขอบคุณนายเศรษฐา ที่รับฟังและดินหน้าลดอุปสรรคการลงทุนที่เอกชนทั้งไทยและต่างชาติเผชิญในปัจจุบัน ถือได้ว่าเดินเรื่องเร็ว และเดินหน้าจริงจังเรียกหน่วยงานต่างๆ หารือ และคาดหวังให้การทำงานร่วมกันของรัฐและเอกชนครั้งนี้ ทำให้การลงทุนของไทยเติบโต อุปสรรคการลงทุนหมดไป
นายเกรียงไกรกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังนั้น ปัจจุบันไทยมีกฎหมายที่บังคับใช้ในภาคธุรกิจกว่า 100,000 ฉบับ อยากให้รัฐบาลเร่งพิจารณา ที่ผ่านมาคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญซึ่งเคยปรับปรุงกฎหมายเกาหลีจนเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ให้เข้ามาทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
เพื่อเลือกกฎหมายสำคัญประมาณ 1,000 ฉบับ มาปรับปรุงให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งพบว่าสามารถลดต้นทุนการทำธุรกิจได้ถึง 200,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงควรเร่งเดินหน้า และอยากให้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่ศึกษาเรื่องนี้มานานพอสมควร
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ปัจจุบันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดสินค้าไทยมาจาก 3 ส่วนคือ
1.สินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มราคาไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งมีปริมาณมาก และมีการสำแดงราคาเท็จ ส่งผลกระทบต่อสินค้าไทย
2.สินค้าที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทย และหลายสินค้ามีการปรับเปลี่ยนพิกัดเพื่อเลี่ยงภาษี อาทิ กลุ่มสินค้าเหล็ก ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแก้ไข
3.สินค้าที่ตั้งใจสำแดงเท็จ อาทิ กรณีหมูเถื่อน และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า
อยากจะให้กรมศุลกากรเข้มงวดในการตรวจสอบ เพราะถือเป็นด่านแรกในการปกป้องผู้บริโภค และปกป้องสินค้าไทย ถึงแม้ว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ปราบปรามสินค้าด้อยคุณภาพตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง
แต่เนื่องจากสินค้าด้อยคุณภาพเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ สมอ. รับมือไม่ไหวต้องให้กรมศุลกากรสกัดให้ได้ก่อนเข้าประเทศไทยจะเหมาะสมที่สุด ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญหน้ากับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ส.อ.ท.สะท้อนเรื่องนี้มานานแล้ว
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า กรมศุลลากมักเข้มงวดกับสินค้าส่งออกมากกว่าสินค้านำเข้า จึงอยากจะให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน ให้ตรวจสอบสินค้านำเข้าก่อนปล่อยเข้าประเทศไทยอย่างละเอียด เพื่อปกป้องสินค้าไทย เศรษฐกิจไทย
ในขณะที่การทำงานของ สมอ. ในการกำหนดมาตรฐานบังคับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นเรื่องดี แต่กระบวนการใช้เวลานานถึง 1 ปี การดำเนินการของศุลกากรจึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในเวลานี้