Newsชาวศรีเทพ- ทวารวดี ชนชาติผู้มาก่อนสุโขทัย อาจจะเป็นบรรพบุรุษของพวกเราคนไทยในปัจจุบัน โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

ชาวศรีเทพ- ทวารวดี ชนชาติผู้มาก่อนสุโขทัย อาจจะเป็นบรรพบุรุษของพวกเราคนไทยในปัจจุบัน โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งตัวอุทยานตั้งอยู่ที่ อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ มีอายุโดยรวมแล้วมากกว่า 1,700 ปี มีอารยธรรมโรมัน, จีนยุคราชวงศ์ฮั่น เป็นอารยธรรมร่วมสมัยร่วมสมัย

 

ชื่อ “ศรีเทพ” เป็นชื่อเรียกโดยอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากการสืบค้นของพระองค์จากทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ในขณะที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกเมืองนี้ว่า “อภัยสาลี” และในปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า เมืองแห่งนี้แท้จริงแล้วมีชื่อเรียกว่าอะไรกันแน่

 

จากการขุดค้นของนักโบราณคดี เมืองศรีเทพแต่เดิมทีเป็นชุมชนที่มีผู้คนอยู่อาศัย และได้รับการพัฒนาขึ้นสู่ความเป็นเมือง เนื่องด้วยความสำคัญด้านยุทธศาสตร์การค้าและการขนส่ง ถือเป็นประตูสู่ภาคอีสานยุคโบราณ เชื่อมโยงเส้นทางการค้าเกลือจากภาคอีสานสู่ภาคกลาง

 

ซึ่งความเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้านี้เองที่ช่วยพัฒนาเมืองศรีเทพ จากชุมชนชนบท สู่ความเป็นเมืองสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรือง และที่น่าสนใจคือ จากการขุดค้น พบตะเกียงโบราณจากจักรวรรดิโรมัน ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมโยงของเส้นทางการค้าของโลกยุคโบราณ จากยุโรปสู่ภูมิภาคสุวรรณภูมิ

 

อย่างไรก็ดี ลักษณะของสถาปัตยกรรมของเมือง มีความสอดคล้องกับอารยธรรม “ทวารวดี” ซึ่งอาณาจักรทวารวดีนั้น เป็นจักรวรรดิโบราณที่สูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ คาดว่าเคยมีอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 16

ทวารวดี เป็นอาณาจักรโบราณซึ่งเคยปกครองดินแดนภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางของประเทศไทย มีวิวัฒนาการทางอารยธรรม สถาปัตยกรรม และรูปแบบการปกครองที่รับอิทธิพลในช่วงแรกมาจากอินเดีย แต่ในช่วงท้ายได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรแขมร์ ซึ่งเป็นอาณาจักรเพื่อนบ้าน อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะว่าทวารวดีพ่ายศึกสงครามกับแขมร์ จึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของแขมร์

 

อย่างไรก็ดี การสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของอารยธรรมทวารวดี และแขมร์เองก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจมีเหตุจากเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงในช่วงปลายพุทธศตรวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 หรืออาจเกิดโรคระบาด จนทำให้อารยธรรมของทั้ง 2 สูญสลายหายไป เกิดเป็นช่องว่างให้มีอารยธรรมเกิดใหม่อย่างสุโขทัย ล้านนา และอยุธยาขึ้นมาแทนที่

 

จากการสันนิษฐานของนักโบราณคดี เชื่อว่าชาวศรีเทพ และทวารวดีนั้น เป็นชาวมอญ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ และเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน

 

ในขณะที่ “คนไท” นั้นอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้มาทีหลัง อีกทั้งยังพบได้ว่า ยังมีชนชาติอื่นที่พูดภาษาที่มีความคล้ายคลึงกับคนไทยในปัจจุบันอยู่ในถิ่นฐานนอกประเทศไทยและลาว อาทิเช่น ในประเทศจีนแถบมณฑลยูนาน และมณฑลเจ้อเจียง และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

 

ซึ่งนี่ทำให้ดูเหมือนว่า คนไทยในปัจจุบัน และคนทวารวดี นั้นมิได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย

 

แต่จากการสืบค้นทางพันธุกรรมแล้ว พบว่าคนไทยในแถบพื้นที่ภาคกลางนั้น มีรหัสพันธุกรรม (DNA) ของชาวมอญผสมอยู่ด้วยมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าคนไท ผู้อพยพมาในยุคหลังนั้น เป็นผู้สร้างอารยธรรมขึ้นใหม่ โดยผสมผสานกับความรู้ และอารยธรรมดั้งเดิม ผสมผสานต่อเติมจนกลายเป็นอาณาจักรสุโขทัย และอยุธยาในเวลาต่อมา

 

อาจเป็นไปได้ว่า คนไท ผู้มาใหม่ ได้อาศัยอยู่ร่วมกับชาวมอญ ซึ่งอาจจะเป็นลูกหลายของชาวทวารวดี ซึ่งเคยอยู่อาศัยมาแต่เดิม ผสมหลอมกลืนกันจนกลายเป็นบรรพบุรุษของพวกเราชาวไทยในปัจจุบัน

 

และเมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา จะเห็นได้ว่านโยบายการปกครองมีลักษณะที่เปิดกว้าง รองรับทุกผู้คนจากทุกชาติศาสนา ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา และการประกอบอาชีพทำกิน ซึ่งรวมไปถึงโอกาสในการเข้ารับราชการ

 

ขุนนางชาวต่างชาติที่เคยมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ไทย นอกจากคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือพระยาวิไชเยนทร์ อดีตนักผจญภัยชาวกรีซ ที่ไต่เต้าจนได้เป็นสมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ยังมียามาดะ นากามาสะ อดีตซามูไรชาวญี่ปุ่นที่ต่อมาได้เป็นถึงเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหัวเมืองที่สำคัญของไทย

 

เฉกอะหมัด กุมมี อดีตพ่อค้าชาวเปอร์เซีย ซึ่งรับราชการในอยุธยา และไต่เต้าจนได้เป็นสมุหนายกในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม มีลูกหลานเข้ารับราชการในราชสำนักอยุธยามาตลอดนับจากนั้น จนกลายเป็นตระกูลขุนนางที่มีอิทธิพลในราชสำนักไทยมาตั้งแต่อยุธยาจวบจนรัตนโกสินทร์ เป็นต้นสกุล บุนนาค ในปัจจุบัน

 

ประวัติศาสตร์ชาติไทย แม้จริงแล้วเกิดขึ้นจากการผสมผสานหลอมรวมผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินที่ปัจจุบันคือประเทศไทย ร่วมแรงร่วมใจกัน พัฒนา ชีวิตและความเป็นอยู่ร่วมกัน จนเกิดเป็นการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มาจนถึงปัจจุบัน

 

ชาวทวารวดี – ศรีเทพในวันนั้น ถึงแม้ว่าบันทึกทางประวัติศาสตร์จะสูญหาย แต่คนน่าจะยังคงอยู่ และผสมผสาน หลอมกลืนร่วมกับผู้มาใหม่ ส่งต่อรหัสพันธุกรรมถึงคนไทยในปัจจุบันก็เป็นไปได้เช่นกัน

 

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง
[1] เมืองโบราณศรีเทพ, https://worldheritagesite.onep.go.th/sitedetail/4
[2] แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของไทยที่บรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก, https://www.onep.go.th/tentative-list/
[3] อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, https://www.finearts.go.th/main/view/8207-อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
[4] ทวารวดี : มิติทางความเชื่อและศาสนา, https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jsrc/article/download/250680/169455
[5] ทวารวดี – ศรีวิชัย : การทบทวนในเรื่องความหมาย, https://lek-prapai.org/home/view.php?id=889
[6] รัฐศรีเทพเกิดขึ้นมาได้อย่างไร, https://www.youtube.com/watch?v=motYi9Gmkq4

[7] “ศรีเทพ” รัฐแรกเริ่ม หรือ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์โบราณ (Si Thep), https://www.youtube.com/watch?v=iUBt5OMUAYY
[8] โบราณสถานเขาคลังนอก : ลําดับอายุสมัยและแนวคิดในการก่อสร้าง, https://sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/id/4b177531-22a3-4a64-90cc-b7c38cd6bfef/Anurak_Depimai_fulltext.pdf?attempt=3
[9] ทวาราวดี อาณาจักรที่สาบสูญ! ความรุ่งเรืองที่มาพร้อมพระพุทธศาสนา วันนี้ยังมีชีวิตให้ท่องเที่ยวชม!!, https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000097031
[10] Dvaravati, https://en.wikipedia.org/wiki/Dvaravati

[11] Dvaravati, https://www.britannica.com/place/Dvaravati
[12] BRIDGE OVER TIME Dvaravati, https://thai-heritage.org/dvaravati/

[13] สามเหลี่ยมมหัศจรรย์แห่งทวารวดี, https://www.youtube.com/watch?v=BSIAeWsIWiw

[14] Close genetic relationship between central Thai and Mon people in Thailand revealed by autosomal microsatellites, https://www.eva.mpg.de/documents/Springer/Srithawong_Close_IntJLegMed_2020_3222843.pdf
[15] Maternal genetic history of the Mon in Thailand, https://www.scopus.com/record/display.uri?eid=2-s2.0-85006013161&origin=inward&txGid=58ea0a6b9e3e9ef8cfc76218e8332be4

[16] Genetic structure of the Mon-Khmer speaking groups and their affinity to the neighbouring Tai populations in Northern Thailand, https://bmcgenomdata.biomedcentral.com/articles/10.1186/1471-2156-12-56

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า