
กฎหมายชาติพันธุ์ฉบับแรกของไทย ‘เสริมศักดิ์’ ชี้จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ผ่านมิติทางวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงาน “KICK OFF กฎหมายชาติพันธุ์: เดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมบนความเสมอภาค” ณ ชุมชนบ้านผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยอย่างเสมอภาคกัน จะดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีมีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วยสวัสดิการของรัฐ
สนับสนุนร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทุกฉบับ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในขณะนี้ เพื่อให้การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาคในฐานะพลเมืองไทย
นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า กฎหมายชาติพันธุ์จะเป็นกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่การแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย พึ่งตนเองได้บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ในการขับเคลื่อนสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ให้คนทุกกลุ่มวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่เป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นการใช้มิติทางวัฒนธรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และสอดคล้องกับนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล
“การจัดงาน KICK OFF กฎหมายชาติพันธุ์ในวันนี้ ถือเป็นหมุดหมายเริ่มต้น ที่กระทรวงวัฒนธรรมในนามของรัฐบาล จะร่วมกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่ม ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน แสดงเจตนารมรณ์เดินหน้าสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคที่ทุกกลุ่มวัฒนธรรมได้รับการคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมศักยภาพอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์ให้เกิดขึ้นภายในรัฐบาลชุดนี้” นายเสริมศักดิ์กล่าว
ด้าน ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทยที่จะให้การยอมรับตัวตนและการดำรงอยู่ของกลุ่ม ชาติพันธุ์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ซึ่งการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 โดยได้จัดเวทีเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนถึง 36 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นมากกว่า 3,000 คน ถือเป็นการจัดทำร่างกฎหมายที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
นอกจากร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว ขณะนี้ ยังมีอีกหลายภาคส่วนร่วมเสนอร่างกฎหมายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันขึ้นมาอีก 3 ฉบับ ซึ่งจะถูกนำขึ้นมาพิจารณาร่วมกัน