
เผยท่าทีของชาติมหาอำนาจ ที่มีต่อการโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่ของอิหร่าน ต่ออิสราเอล รัสเซีย-จีน-อินเดีย เรียกร้องให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจ สหรัฐประกาศยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2567 อิหร่านเปิดฉากการโจมตีใส่อิสราเอล ด้วยโดรนนับร้อยและจรวดมิสซาย เพื่อเป็นการแก้แค้นการโจมตีสถานกงสุลของอิหร่านในซีเรีย ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน รวมถึงนายพลคนสำคัญของอิหร่าน เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ซึ่งในครั้งนั้นอิหร่านประกาศว่าจะเอาคืนด้วยการโจมตีที่มีขาดเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ กองกำลังอิศราเอลเปิดเผยว่าสามารถสกัดกั้นการโจมตีส่วนใหญ่เอาไว้ได้ แต่ทั้งนี้มีรายงานว่ามีมิสซาย 7 ลูก เข้าถึงเป้าหมาย ฐานทัพอากาศรอมอนของอิสราเอล ยังไม่ทราบระดับความเสียหาย
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บรรดาชาติมหาอำนาจต่างมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ความตึงเครียดที่ขยายกว้างขึ้นในภูมิภาคดังนี้
สหรัฐฯ
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประณามการโจมตีของอิหร่าน และสัญญาว่าจะประสานงานกับกลุ่ม G7 เพื่อตอบโต้ทางการทูต อีกทั้งยังประกาศว่าสหรัฐฯ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลืออิสราเอลในการสกัดกั้นการโจมตีในครั้งนี้ อีกทั้งยังกล่าวว่า นี่เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังศัตรูว่าพวกเขาไม่สามารถคุกคามความมั่นคงของอิสราเอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะยังให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเข้มแข็งต่อไป
รัสเซีย
กระทรวงต่างประเทศรัสเซียแถลงว่า มีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ เราได้เตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าวิกฤตการณ์จำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล ซึ่งมักถูกกระตุ้นด้วยการกระทำยั่วยุอย่างขาดความรับผิดชอบ ซึ่งจะนำไปสู่ความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้น
จีน
กระทรวงการต่างประเทศจีนแสดงความกังวล และแถลงว่าจีนเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ในความสงบและใช้ความอดกลั้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความตึงเครียดบานปลายอีกต่อไปอีกทั้งยังระบุว่าความขัดแย้งในครั้งนี้มาจากการให้ท้ายความขัดแย้งในฉนวนกาซ่า และการระงับความขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด
สหภาพยุโรป
นายโจเซป บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง โพสต์ X ระบุว่า “สหภาพยุโรปประณามการโจมตีของอิหร่านต่ออิสราเอลที่ไม่อาจยอมรับได้ นี่เป็นการลุกลามอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงในภูมิภาค”
อินเดีย
กระทรวงต่างประเทศอินเดียแสดงความกังวลอย่างจริงจัง และเรียกร้องให้ลดระดับความรุนแรงลงในทันที ใช้ความอดทนอดกลั้น และกลับคืนสู่เส้นทางการทูต อีกทั้งยังระบุว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค