Newsการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของขบวนการคาตาลันในสเปน ที่ถูกสเปนและสหภาพยุโรปกดทับอย่างเจ็บแสบ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม นำไปสู่การเป็นบทเรียนราคาแพงในสังคมสมัยใหม่

การลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของขบวนการคาตาลันในสเปน ที่ถูกสเปนและสหภาพยุโรปกดทับอย่างเจ็บแสบ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม นำไปสู่การเป็นบทเรียนราคาแพงในสังคมสมัยใหม่

เมื่อนึกถึงความพยายามในการแยกตัวเป็นเอกราช ก็มักจะนึกถึงประเทศในช่วงยุคก่อน ๆ ที่มีการเรียกร้องอิสรภาพและเอกราชจากการยึดครองของลัทธิอาณานิคมเสียส่วนมาก แต่ก็มีการเรียกร้องการเป็นเอกราชโดยใช้เหตุผลของความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อ ในหลายประเทศเช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีของขบวนการแบ่งแยกดินแดนปัตตานีก็อยู่หนึ่งในนั้นโดยใช้ข้ออ้างสารพัดเพื่อทำให้ดูมีความชอบธรรมมากขึ้น

 

หนึ่งในข้ออ้างสำคัญของการเรียกร้องเป็นเอกราชโดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการเรียกร้องจากข้ออ้าง “สิทธิ์ในการปกครองตนเอง” ซึ่งเป็นอ้างว่า ตนไม่ใช่เชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรม เดียวกับประเทศเดิม และต้องการแยกตัวเป็นประเทศเอกราช ทั้งที่ในยุคปัจจุบัน รัฐบาลกลางส่วนใหญ่ในโลกก็ได้มอบอำนาจการปกครองตนเองทั้งในรูปแบบของอำนาจปกครองท้องถิ่น อำนาจปกครองพิเศษ หรือแม้แต่อำนาจปกครองตนเอง ตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยไม่ต้องแบ่งแยกเป็นประเทศเอกราชใหม่เลยด้วยซ้ำ

 

และหากสังเกตดู จะพบว่าชาติเกิดใหม่ในช่วงยุค 2000 ที่ได้แยกตัวเป็นเอกราชด้วยเหตุผลด้านวัฒนธรรมและไม่ได้เกี่ยวข้องกับลัทธิอาณานิคมในศตวรรษก่อนหน้า มักจะอยู่ในทวีปเอเชียหรือแอฟริกา แต่กลับไม่ค่อยพบอยู่ในทวีปยุโรปมากนัก หากไม่นับกรณีความขัดแย้งชาติพันธุ์ในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย 

 

เหตุผลสำคัญที่ความพยายามในการแยกตัวเป็นเอกราชช่วงยุค 2000 เป็นต้นมา ด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรมของทวีปยุโรปหลายขบวนการมักประสบความล้มเหลวก็ด้วยหลายสาเหตุ อย่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เป็นกระดูกสันหลังสำคัญของการเกิดชาติเกิดใหม่ซึ่งมีขบวนการเรียกร้องเอกราชหลายกลุ่มที่ล้มเหลวจากกรณีของดินแดนที่หวังจากแยกตัวเป็นเอกราช ก็ยังคงต้องอาศัยความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากรัฐบาลกลางอยู่

 

หรือแม้แต่ปัจจัยด้านการเมืองที่ในหลายประเทศในยุโรปก็มีการเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลท้องถิ่นในหลายพื้นที่สามารถบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองได้แทบเต็มที่ ซึ่งส่งเสริมการปกครองตนเองแบบสันติและสามารถบริหารอำนาจทางการเงินได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องแยกตัวเป็นเอกราชซึ่งมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก

 

อีกทั้งในการจัดตั้งชาติเกิดใหม่ในยุโรปก็มีความยากลำบากสาหัส ด้วยความเป็นโครงสร้างเชิงสถาบันของประเทศทวีปยุโรปที่มีความแน่นหนาทั้งในเรื่องกฎเกณฑ์ ข้อตกลง รวมทั้งการเข้าร่วมในกติการ่วมต่าง ๆ ที่มักจะมีระยะเวลาค่อนข้างนานในการเข้าร่วมข้อตกลงต่าง ๆ ที่มีความละเอียดอ่อนสูง อย่างสหภาพยุโรปที่การพิจารณาการเข้าร่วมอาจใช้เวลาหลายปีในการเพียงจะเข้าร่วมองค์กรทางเศรษฐกิจเท่านั้น

 

กรณีของขบวนการเรียกร้องเป็นเอกราช “กาตาลุญญา” ก็เช่นเดียวกัน ที่มีความพยายามในการเรียกร้องเป็นเอกราชจากสเปน ด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรมและภาษา ที่มีความแตกต่างจากสเปน และยังมีมุมมองด้านเศรษฐกิจที่มองว่าสเปนสูบเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของแคว้นคาตาลัน (เมืองสำคัญ – บาร์เซโลนา) ที่มีสัดส่วนทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง และมองว่าการแยกดินแดนจะส่งผลดีกว่าที่เป็นอยู่

 

ซึ่งหากมองเพียงองค์ประกอบของการแยกตัวเป็นประเทศเอกราช กรณีของกาตาลุญญา มีความเป็นไปได้สูงที่สามารถแยกตัวได้จริงทั้งด้วยปัจจัยด้านการเมืองที่มีผู้คนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่รองรับ และปัจจัยด้านวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองอยู่หลายเรื่อง ซึ่งจะขาดเพียงอำนาจต่อรองซึ่งสามารถได้จากอำนาจทางการทูตหรืออำนาจทางการทหาร

 

โดยในประเทศเกิดใหม่แทบทั้งหมดในทวีปเอเชียและแอฟริกาหลังยุค 2000 มักจะมีอำนาจทางการทหารหรือไม่ก็อำนาจทางการทูตด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในกรณีของขบวนการแยกตัวเป็นเอกราชกาตาลุญญาที่ถึงขั้นสามารถจัดทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชโดยรัฐบาลท้องถิ่นคาตาลัน กลับประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่มีสัญญาณดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จในการแยกตัวเป็นเอกราชโดยสันติในทวีปยุโรปสมัยใหม่

 

สาเหตุสำคัญของความล้มเหลวของการเคลื่อนไหวเป็นเอกราช มีทั้งประเด็นภายในประเทศและประเด็นระหว่างประเทศในประชาคมยุโรป โดยประเด็นภายในประเทศนั้น การเรียกร้องเป็นเอกราชนั้นถือว่าผิดกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญของสเปน และการจัดทำประชามติก็ไม่ได้เป็นการจัดทำโดยถูกกฎหมายสเปน ซึ่งในภายหลังก็ได้มีการดำเนินคดีกับแกนนำสำคัญของขบวนการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้การแยกตัวเป็นเอกราชโดยสันติของกาตาลุญญาด้วยเหตุผลด้านวัฒนธรรม จะนำไปสู่การแยกตัวของหลายชาติพันธุ์และหลายกลุ่มก้อนในสังคมยุโรปอย่างรวดเร็ว เพราะในยุโรปก็มีขบวนการเรียกร้องเอกราชในลักษณะเดียวกับกาตาลุญญาอยู่เป็นจำนวนมากในหลายประเทศ ซึ่งต่อให้รัฐบาลกลางหลายประเทศจะยินยอมให้รัฐบาลท้องถิ่นปกครองตนเองได้ระดับหนึ่ง แต่คงไม่ยอมให้แยกตัวได้แน่นอน

 

ตรงนี้จึงทำให้ขบวนการแยกตัวเป็นเอกราชกาตาลุญญาไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากประชาคมยุโรปมากนัก เพราะมองว่าถ้าสามารถแยกตัวได้สำเร็จ ก็จะส่งผลแบบลูกโซ่ต่อประเทศอื่น ๆ เช่นเดียวกัน และที่หนักยิ่งกว่า คือ ต่อให้ประเทศกาตาลุญญาจะเกิดขึ้นได้จริง แต่เรื่องจะไม่จบเพียงแค่นั้น 

 

เพราะหากกาตาลุญญาต้องการที่จะเข้าร่วมองค์กรหรือข้อตกลงต่าง ๆ ของประชาคมยุโรป ก็จะต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างยาวนานและรอบคอบในการเข้าร่วมในแต่ละข้อตกลงตามประสาการปฏิบัติงานและระบบงานขององค์กรขนาดใหญ่ในยุโรป ซึ่งจะเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะต้องแบกรับเพื่อเพียงที่จะรับสิทธิ์อะไรต่าง ๆ ที่เคยได้รับเดิมจากการอยู่กับสเปน 

 

หนักยิ่งกว่า ในหลายข้อตกลงของยุโรปอย่างการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือการเข้าถึงตลาดเศรษฐกิจร่วมในยุโรป นอกจากการใช้เวลาหลายปีในการพิจารณาและปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขของข้อตกลงแล้วนั้น ก็ยังต้องมีการลงนามรับรองโดยสมาชิกสหภาพยุโรปเดิมในขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะเป็นสมาชิกภาพอย่างสมบูรณ์ โดยค่าเฉลี่ยเวลาการเป็นสมาชิกภาพอยู่ที่ราว ๆ 9 ปี

 

แน่นอนว่า สเปนสามารถเตะถ่วงหรือวีโต้กาตาลุญญาด้วยเหตุผลสารพัดอย่าง ซึ่งจะเป็นการถ่วงเวลาการเข้าร่วมสหภาพทางเศรษฐกิจให้ช้าลงไปอีก และระหว่างที่กาตาลุญญายังไม่มีข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับยุโรป การค้าขายระหว่างกันก็จะยิ่งมีความยากลำบากจากทั้งกำแพงภาษีนำเข้า-ส่งออก พิธีสารศุลกากรที่มักใช้เวลาอยู่พอสมควร หรือแต่กฎเกณฑ์ที่มีความเข้มงวดมากกว่าการอยู่ในชายคาเดียวกันกับประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอยู่แล้วอย่างสเปนในบริบทที่มีความเป็นอิสระจากรัฐบาลอยู่ส่วนหนึ่งอยู่แล้วในปัจจุบัน 

 

ดังนั้นแล้ว กรณีของกาตาลุญญานั้น สามารถบ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวเป็นประเทศเอกราชเกิดใหม่ในช่วงยุคสมัยใหม่ที่ไม่ได้มีความง่ายดายในการบรรลุเป้าหมายให้เกิดขึ้นจริง และยิ่งโครงสร้างเดิมของประเทศเดิมที่เคยเป็นส่วนหนึ่งและกลุ่มทวีปที่ดำรงอยู่มีข้อตกลงร่วมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ตามประสารัฐสมัยใหม่ การจะแยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราชย่อมเป็นเรื่องที่ยากแสนสาหัส โดยเฉพาะกับภูมิภาคที่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ซับซ้อนหนาแน่น อย่างภูมิภาคยุโรป

 

“และคงเป็นบทเรียนราคาแพงให้แก่ขบวนการเรียกร้องเอกราชอื่น ๆ บนโลกได้เป็นอย่างดี”

 

โดย ชย

อ้างอิง:

[1]  Catalonia profile

https://www.bbc.com/news/world-europe-20345071

[2] Catalonia’s bid for independence from Spain explained.

https://www.bbc.com/news/world-europe-29478415

[3] Catalonia referendum: Thousands turn out for closing rally.

https://www.bbc.com/news/world-europe-41449762

[4] Five years on from the illegal Catalan independence referendum

https://www.realinstitutoelcano.org/en/blog/five-years-on-from-the-illegal-catalan-independence-referendum/

[5] Is Catalonia still dreaming of independence from Spain?

https://www.theguardian.com/world/2022/sep/25/is-catalonia-still-dreaming-of-independence-from-spain

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า