Newsดันโพลจนนำโด่ง! เกณฑ์คนฟังปราศรัยจนล้น! อินฟลูเอ็นเซอร์for sale! ปั่นแฮชแท๊กจนติดอันดับ1! ระวัง “หัวคะแนนสังเคราะห์” ผลิตโดยนักการเมืองและนายทุน เพราะนี่คือ “ขบวนการรากหญ้าปลอมหรือ Astroturfing” ที่ทำกันทั่วโลก

ดันโพลจนนำโด่ง! เกณฑ์คนฟังปราศรัยจนล้น! อินฟลูเอ็นเซอร์for sale! ปั่นแฮชแท๊กจนติดอันดับ1! ระวัง “หัวคะแนนสังเคราะห์” ผลิตโดยนักการเมืองและนายทุน เพราะนี่คือ “ขบวนการรากหญ้าปลอมหรือ Astroturfing” ที่ทำกันทั่วโลก

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนสภาราษฎรหรือที่เรียกว่า ส.ส. นี้ เชื่อว่าหลายๆคนโดยเฉพาะคนที่ชอบเล่นอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลเป็นชีวิตจิตใจ อาจสังเหตุเห็นข้อความรณรงค์หาเสียงให้เลือกพรรคนี้หรือข้อความที่ว่าคนโพสต์ต์จะเลือกพรรคนี้พร้อมอีโมจิและหมายเลขพรรคโดยเฉพาะบางพรรคที่เห็นมากในระดับที่เกินคำว่าพิเศษ โผล่มาในทุกแพล็ตฟอร์มที่เป็นระบบWeb2.0 หรือที่สามารถโพสต์ต์ข้อความลงได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งคลิปน้องหมา น้องแมว ยัน เว็บโป้ยอดนิยม ไม่เพียงแต่โลกไซเบอร์เท่านั้น แต่ในโลกของความจริงก็เห็นพฤติกรรมทำนองนี้อยู่เยอะเช่นกัน  

 

นอกจากเหนือยุทธวิธีหาเสียงแบบเดิมๆ เช่น การติดป้ายทุกหย่อมหญ้า แจกใบปลิวมันทุกบ้าน  ในปีนี้เราก็ได้เห็นกลยุทธใหม่ๆ เช่น ร้านอาหารบางแห่งที่มีข้อความหาเสียงให้เลือกบางพรรคบนใบเสร็จจนเป็นที่โจษจันบนโลกโซเชียลจนตัวเองก็เสร็จไปกับสรรพากรเช่นกัน หรือการออกใบส่วนลดที่มีเบอร์สมัครเลือกตั้งของบางพรรคอยู่ รวมไปถึงการส่งใบปลิวแนบมากับสินค้าที่สั่งทางออนไลน์แม้จะไม่อยากได้ก็ตาม  

 

เรียกได้ว่าไม่ว่าคุณจะทำอะไรอยู่ก็อาจเจอข้อความหาเสียงของบางพรรคได้ในทุกจังหวะและอารมณ์ของชีวิตจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งเลยทีเดียว จนคุณอาจจะนึกถึงคำคมของSpiderman ที่กล่าวว่า “ไม่ว่าไปทีไหน ผมก็เห็นแต่เขา(พรรคนี้)”  ทันที 

 

ถึงอย่างไรก็ดี ไม่ว่าวันนี้คุณจะรู้สึกเหมือนถูกยัดเยียดให้เสพข้อความเหล่านี้จนรู้สึกเอียน แลอยากฟ้อง กกต. ว่ามันผิดกฎหมายเลือกตั้งก็ตามที  แต่คนที่มีพฤติการณ์แบบนี้ทุกคนก็ต่างอ้างว่าทำไปเพราะรักในพรรคนั้นจริงๆ และอยากจะออกมาสนับสนุนแบบปากต่อปาก (Word of mouth) 

 

ทุกคนต่างอ้างว่าตนเองไม่ได้รับเงินแต่เป็นเพียงแค่การสนับสนุนจากรากหญ้า หรือที่เราเรียกกันเล่นๆว่า “หัวคะแนนธรรมชาติ/ออร์แกนิก” นั่นเอง เหมือนกับเหล่าแอคหลุมที่รีวิวสินค้าหรือบริการ ที่ให้คะแนน5ดาวจนเกร่อที่พบกันทั่วไปในอินเตอร์เน็ต ทวิตสินค้าหรือดาราที่มียอดหัวใจและยอดรีทวีตเป็นพันเป็นหมื่นทั้งๆที่ลงได้ไม่กี่นาที หรือเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ที่จู่ๆพร้อมใจกันออกมาสนับสนุนสินค้าต่างๆบนโซเชียลแต่ปฏิเสธว่าไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ อย่างนั้นเลย    

 

พฤติกรรมแบบนี้จะกล้าเรียกว่าเป็นหัวคะแนนธรรมชาติอันบริสุทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มปากได้หรือไม่ คงบอกไม่ได้โดยทันที  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมที่ทำกันเป็นรูปแบบคล้ายคลึงและสอดคล้องกันอย่างดีในช่วงเวลาเดียวกันแบบนี้ ทำให้นึกถึงพฤติกรรมแบบหนึ่งในทางวิชาการ ซึ่งไม่ว่าจะทำไปเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองหรอทางการค้าก็ตาม หรือจะโดยรัฐหรือเอกชนเองก็ดี ที่เรียกว่า “Astroturfing” หรืออาจแปลได้ว่า กระบวนการรากหญ้าปลอม ที่ทำกันแพร่หลายในปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย เช่น สหรัฐอเมริกา

 

นิยามและต้นกำเนิดของคำว่า Astroturfing

 

คำว่า Astroturfing หรือขบวนการรากหญ้าปลอม นั้น ความจริงแล้วมีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 คำๆนี้เดิมทีแล้วมาจากคำว่า turf ที่แปลว่าหญ้าเขียว และเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเครื่องหมายการค้าที่ขายหญ้าเทียม ซึ่งหญ้าพวกนี้มันจะเขียวเหมือนหญ้าจริงที่มักพบได้ในสนามกีฬา แต่อันที่จริงแล้วมันเป็นแค่หญ้าพลาสติกเท่านั้น ซึ่งต่อมาคำว่า Astroturf นี้ก็กลายเป็นคำว่า Astroturfing จากการใช้โดยท่านวุฒิสภา Lloyd Bentsen ที่หมายถึงกิจกรรมทางการเมืองที่ทำให้ดูคล้ายกับทำโดยชนชั้นรากหญ้า (Grassroots) หรือประชาชนทั่วไปเพื่อการล้อบบี้โดยบริษัทโฆษณา[1] 

 

ขบวนการแบบนี้มักจะมีรูปแบบพฤติกรรมที่คล้ายๆกัน พวกนี้จะชอบใช้ภาษาอะไรแรงๆ เพื่อเน้นกระตุ้นเร้าอารมณ์มากกว่าที่จะทำให้เราคิดเป็นเหตุเป็นผล พวกนี้ชอบอ้างว่าพวกเขาได้เปิดเผยความลับที่เดิมทีมันก็ไม่ใช่ความลับที่แค่ทำให้ฟังดูน่าสนใจ  พวกนี้ชอบโจมตีที่ตัวบุคคลแทนที่จะโจมตีไปที่เนื้อหาหรือข้อมูลที่ถกเถียงกัน พวกเขาโจมตีคนที่ตั้งคำถามแทนที่จะเป็นคนที่ถูกตั้งคำถาม [2] 

 

ใครก็ตามที่พยายามเปิดเผยความจริงหรือแก้ข้อมูลผิดๆที่ปล่อยมาจะถูกโจมตีซะเองไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไรก็ตาม คนทำจะโจมตีคนที่พูดความจริง ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือใครก็ตาม ที่แฉความจริง ที่หักล้างบ้างพวกเขา บางครั้งพวกเขาก็จะเอาทั้งความจริงและข้อมูลเท็จมาปะปนกัน แก้ไขข้อมูลในเว็บต่างๆเช่น วิกิพีเดีย ให้ผิด [2]

 

ดังนั้นจากที่มาดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า มันคือการที่พรรคการเมืองหรือองค์กรทางการเมืองใด รวมถึงบริษัทต่างๆ ปลอมหรือแสร้งทำเป็นชาวบ้าน ประชาชนธรรมดาจำนวนมาก ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดๆ แล้วลวงประชาชนทั่วไปว่าพรรค องค์กร บริษัท การรณรงค์ สินค้า บริการใดๆของตัวเอง มีภาพลักษณ์ที่ดีและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่หรือมีประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุนหรือสนใจอย่างบริสุทธิ์ใจหรือที่เรียกว่าเป็นหัวคะแนนออร์แกนิกส์นั่นละเพื่อให้คนทั่วไปออกมาสนับสนุนอีกทีแต่ความจริงคือมันเป็นขบวนการที่จัดตั้งมาแต่แรกแล้ว 

 

รูปแบบการทำขบวนการรากหญ้าปลอม เขาทำกันยังไง? 

 

ขบวนการรากหญ้าปลอมนั้นมีวิธีการทำหลากหลายรูปแบบ ทั้งในโลกของความจริงที่ทำกันมานาน ยันบนโลกไซเบอร์หรือที่เรียกกันว่า (Cyberturfing) ซึ่งโลกไซเบอร์นี้เองที่ถือเป็นตัวปัญหามกที่สุดในยุคปัจจุบันเพราะมันควบคุมยาก ได้ผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะยุคนี้ หลายคนใช้อินเตอร์เน็ตโดนเฉพาะโซเชียลเยอะมาก ทั้งยังหาตัวผู้กระทำยาก แต่ กลับทำไม่ยาก ใช้ทุนไม่มาก นอกจากนี้ก็ยังทำคู่ขนานกันไปได้ด้วย[3]ทั้งโลกแห่งความจริงและโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นเหมือนคอมโบที่ยิ่งทำให้น่าเชื่อถือและหลอกผู้คนได้มากขึ้นอีก 

 

ดังนั้นเพื่อความง่าย บทความนี้จะขอแบ่งรูปแบบการกระทำเป็น 2 แบบ คือ ในโลกแห่งความจริง และ ในโลกไซเบอร์ และจะขอยกเพียงแค่รูปแบบที่พบบ่อยๆที่ชอบทำกันและได้ผลมาแล้วเท่านั้น 

 

  1. ขบวนการรากหญ้าเทียมในโลกแห่งความเป็นจริง

1.1 การรวมกลุ่มปลอม

การรวมกลุ่มกันปลอมๆโดยจ้างคนภายนอกเข้ามาร่วมหรือจะโดยเกณฑ์คนที่เกี่ยวข้องมาเพื่อให้กลุ่ม การชุมนุม การเข้าร่วมใดๆ ให้ดูมีคนจำนวนมากและทรงพลัง เป็นจุดสนใจของสังคมและเกิดอำนาจต่อรอง หรือเกิดกระแสความนิยมปลอมๆ ขึ้นมา ทั้งๆที่คนที่เข้าร่วมจริงมีมากขนาดนั้น วิธีนี้ต้องเรียกว่าเป็นกลยุทธ์คลาสสิกในการทำรากหญ้าเทียมเลยทีเดียว  และเป็นต้นกำเนิดของคำๆนี้จะว่าก็ได้ ผู้อ่านคงนึกภาพได้ไม่ยากและก็อาจจะเคยสัมผัสหรือเห็นมาแล้วบ้างเพราะมีการทำมานาน 

 

ตัวอย่างก็เช่น ที่ออสเตรเลียปี 2010 เมื่อรัฐบาลต้องการออกกฎหมายควบคุมการบรรจุหีบห่อบุหรี่ เหล่าบริษัทผลิตบุหรี่ เช่น Philip Morris International ก็ออกมาคัดค้านโดยแกล้งทำเป็นขบวนการรากหญ้าโดยล่ารายชื่อร้านขายบุหรี่กว่า 1900 ร้านว่าเดือดร้อนและคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ทั้งๆที่ความจริงคือบริษัทที่ต้องการยกเลิกเพราะเสียประโยชน์จากร่างกฎหมายดังกล่าว 

 

 หากใครอ่านดูอาจจะคุ้นๆกับการล่ารายชื่อคัดค้านหรือเสนอแก้ไขกฎหมายบางมาตราในประเทศไทยที่ผ่านมาซึ่งมันก็คือวิชามารคล้ายๆกัน

 

1.2 มูลนิธิ NGOs หรือองค์กรรากหญ้าปลอม 

 

ถ้าคุณไม่ต้องการใช้คนจำนวนมากแต่ต้องการสร้างภาพว่ามีการเรียกร้องทางการเมืองจากหลายภาคส่วน คุณจะทำยังไง? ไม่ยาก ก็ใช้คนจำนวนไม่มากนี่แหละไปจดทะเบียนหรือสร้างนิติบุคคล กลุ่ม มูลนิธิ องค์กรต่างๆขึ้นมา โดยเฉพาะในรูปแบบองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร(NGOs) มูลนิธิหรือองค์กรการกุศล แล้วให้ออกมาเคลื่อนไหวพร้อมกัน แค่นี้ก็ดูเหมือนมีกลุ่มคนจำนวนมากออกมาเรียกร้องทางการเมืองแล้ว ใช้คนน้อยแต่ได้ผลมาก นี่คือวิธีการในยุคใหม่ที่ทำกันและได้ผลดีมาตลอด 

 

ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่ามูลนิธิ NGOs องค์กรการกุศล จะได้รับอคติทางจิตวิทยา ที่เรียกว่า Halo effect ที่เคลื่อนไหวอะไรสังคมก็จะมองว่าผู้ผดุงคุณธรรมตลอด คนจึงไม่สงสัยและมองข้ามการกระทำที่ไม่ถูกต้องไป [4]  เช่น การที่NGOs ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ยอมเปิดเผยบัญชีรายรับจากต่างประเทศซึ่งขัดกับหลักความโปร่งใส(Transparency)ตามระบอบประชาธิปไตย 

 

ตัวอย่างในกรณีนี้ก็เช่น ขบวนทีพาร์ตี ในอเมริกา ที่ตั้งองค์กรการรากหญ้าปลอมทำเป็นว่าสู้เพื่อชนชั้นล่างต่อสู้กับนายทุน แต่ความจริงพวกเขารับเงินจากมหาเศรษฐีให้มาต่อต้านประธานาธิบดีโอบามา [5] หรือเหล่าNGOs ที่รับเงินมาจากCIA ผ่าน NED หรือ National Endowment for Democracy ซึ่งรับเงินมากจากสภาคองเกรซอีกทีมาเพื่อแทรกแซงประเทศต่างๆ โดยทำเป็นว่ากำลังเสริมสร้างประชาธิปไตยแต่ความจริงไม่ใช่และผิดกฎหมายระหว่างประเทศ [6 ]

 

1.3 ความคิดเห็นของประชาชนปลอม

 

ไม่มีทางที่หากผลโพลออกมาแล้วมีพรรคใด หรือ การรณรงค์ใดได้รับคะแนนมากอย่างโดดเด่นแล้วจะไม่มีใครมาสนใจ ไม่ใช่แค่โพลเท่านั้น แต่การทำเป็นว่าสัมภาษณ์ปลอมๆว่าประชาชนกำลังสนใจอะไร หรือชอบสิ่งใดก็ทำให้คนทั่วไปนึกว่าสิ่งนั้นได้รับความนิยมได้ทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น กรณีการปั่นคะแนนภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ภาค9 ให้คะแนนดูสูงตลอดไม่เปลี่ยนแปลง [7]

 

  1. ขบวนการรากหญ้าเทียมในโลกไซเบอร์

2.1 ปั่นยอดLike, Share, รีทวิต , Hashtags 

 

ขบวนการแบบนี้หลายคนอาจจะพอรู้จักกันบ้าง หากใครจำได้กรณีที่สมาชิกพรรคชื่อดังพรรคหนึ่งที่ชอบโจมตีคนเห็นต่างว่าเป็นไอโอ แต่ทำรูปหลุดในทวิตเตอร์ที่มีมือถือหลายๆเครื่องแขวนไว้พร้อมใช้งาน พร้อมโพยข้างๆว่าจะโพสต์ต์อะไร เมื่อไม่นานมานี้ [8] นั่นแหละ ไม่ว่าจะใช้วิธีสร้างแอคเค้ามาเยอะๆต่อหนึ่งคนหรือจะจ้างคนมาเยอะๆเพื่อให้มีหลายแอคเค้า หรือจะใช้บอท เอาก็ได้ แล้วเมื่อถึงเวลาก็ร่วมใจกันคอยปั่นยอด Like, Share, รีทวิต , hashtags ให้มีจำนวนมากเพื่อให้ดูมีความน่าเชื่อถือและมีคนสนใจมากกว่าคอนเท้นอื่นๆ

 

การทำแบบนี้มีผลกับคนทั่วไปมากโดยเฉพาะบนโซเชียลเพราะ hashtags ที่ติดเทรนหรือมีคนใช้มากจะขึ้นยอดเทรนทำให้เนื้อหานั้นเด้งขึ้นมาก่อนเนื้อหาอื่นๆ ทำให้คนทั่วไปจะเห็นเนื้อหาพวกนี้ก่อนและกลายเป็นประเด็นร้อนไป ผู้คนที่เห็นก็จะเกิดอารมณ์คล้อยตาม [9] 

 

ตัวอย่างที่เห้นได้ชัดและดังมาก คือกรณี Brexit ที่มีการปั่นบอทในโลกออนไลน์สนับสนุนการทำBrexit จนผู้สนับสนุนBrexit เป็นผู้ชนะในการโหวต [10]

 

2.2   การนัดหมายการโพสต์ต์ล่วงหน้า (coordinated posters)

การนัดการโพสต์ต์ล่วงหน้าคือ การที่มีผู้ใช้งานตัวจริงคอยแอบชี้แนะผู้สนับสนุนให้โพสต์ต์หรือแชร์ข้อความสนับสนุนหรือไปโพสต์ต์ข้อความต่อต้านคู่ตรงข้ามหรือที่เรียกว่า ทัวร์ลง เช่นกัน ในช่วงที่กำหนดไว้ เพื่อทำให้การสนับสนุนการรณรงค์ สินค้าหรือพรรคการเมืองใด ดูมีพลัง วิธีการนี้อาจไม่เป็นการปลอมหรือหลอกลวงก็ตาม แต่ก็พูดไม่ได้เต็มปากว่านี่คือการเคลื่อนไหวของรากหญ้าโดยบริสุทธิ์หรือออร์แกนิก 100% [11]  ตัวอย่างที่จับได้ก็คือ การเลือกตั้งที่อเมริกาในปี ค.ศ. 2016มีเว็บไซต์ทำไว้เพื่อให้ผู้สนับสนุน ฮิลาลี่ คลินตัน ไปโพสต์ต์ในเวลาใกล้เคียงกัน โดยแดโมเครตเอง รวมทั้งการทวิตขอให้คนโพสต์ต์พร้อมกันช่วงเวลาดีเบต  [12]

 

2.3 Influencers 

การใช้อินฟลูเอนเซอร์ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังมาแรง ทั้งทางด้านการเมืองและด้านการตลาด ผู้คนโดยทั่วไปหากถูกโฆษณาหรือเจอกับรณรงค์ให้เลือกผู้สมัครคนไหนตรงๆ บางครั้งก็อาจรู้สึกต่อต้านในใจบ้างเพราะมักคิดว่าต้องมีการโกหกหรือพูดเกินจริงอยู่แล้ว แต่พอเจอคนที่ตัวเองชอบ ติดตาม บอกให้เลือกคนนี้ บอกให้ซื้ออันนี้ เตือนไม่ให้เลือกคนโน้นก็จะลดการ์ดและมีโอกาสคล้อยตามมากกว่าเพราะคิดว่าเป็นการแสดงออกอย่างบริสุทธิ์ใจ ทั้งๆที่อินฟลูเอนเซอร์ก็รับเงินแบบนี้เป็นปกติ แต่พวกเขามักไม่บอกเรา   

 

ตัวอย่างที่แย่สุดอย่างหนึ่งคือ กรณีคอนเสิร์ต Fyre Festival บนเกาะในบาฮามาส ที่ผู้จัดในอเมริกาจ้างอินฟลูเอ็นเซอร์กว่า400 คน โฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับงานคอนเสิร์ตทั้งๆที่จริงยังจัดงานไม่เสร็จด้วยซ้ำ ที่พักก็แทบไม่มี อาหารไม่พอ ทำเอาผู้คนหลายร้อยคนเกือบติดอยู่บนเกาะ และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์พวกนี้ก็มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่เอาเงินคืนและออกมาขอโทษ [13]

 

2.4 บทความ ข่าวออนไลน์ และวิกิพีเดีย ปลอม  

 

เคยไหมเวลาจะซื้อของอะไร หาข้อมูลทางการเมืองบางอย่าง คุณก็เลยเข้าไปค้นคว้าข้อมูลดูในอินเตอร์เน็ต คุณพบหลายๆเว็บไซต์ ข่าว บทความ หรือวิกิพีเดีย มันให้ข้อมูลมาทางเดียวกัน คุณคิดว่าคุณทำการบ้านแล้ว ไม่โดนหลอกแน่นอน แต่สุดท้ายก็โดนหลอกจนได้ ข้อมูลที่คุณหามาได้เป็นข้อมูลเท็จทั้งสิ้น  อย่าแปลกใจเพราะการแก้ไขหรือลงข้อมูลเท็จหลายๆที่ หากใครมาอ่านก็อาจเชื่อได้ 

 

บางครั้งคุณอาจลองไปแก้ให้ถูกแต่พอกลับไปดูข้อมูลเท็จที่ว่าก็ถูกแก้ไขกลับมาใหม่ในวิกิพีเดีย นั่นก็เพราะมีขบวนการคอยจับตาดูการแก้ไขข้อมูลเหล่านี้ตลอดเวลา บางครั้งแม้กระทั่งเจ้าของข้อมูลตัวจริงเมื่อขอแก้ไขให้ถูกก็อาจถูกแบนได้เลยโดยแอดมินของเว็บไซต์เหล่านี้ [2] ตัวอย่างในไทยที่เห็นได้ชัดคือ การแก้ไขข้อมูลผิดๆอยู่เรื่อยในวิกิพีเดียกรณี ข้อมูลเท็จใส่ร้ายนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา  ว่าวางแผนฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์[14]

 

ทำไมขบวนการนี้มันจึงได้ผลดี?

คีย์วอร์ดของสาเหตุที่ว่าทำไมขบวนการรากหญ้าปลอมจึงสำเร็จได้ดีนั้น คงหนีไม่พ้น 2 ทฤษฎี นี้ คือ Bandwagon effect และ Herd mentality 

 

Bandwagon effect หรือปรากฎการณ์ขบวนรถแห่ นั้นถือเป็นcognitive bias หรืออคติในกระบวนการคิดรูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้คนเราพอเห็นคนจำนวนมากทำอะไรบางอย่างหรือมีความคิดอุดมการณ์อะไรที่เหมือนกัน ผู้ที่เห็นก็จะเริ่มมีความรู้สึกนึกคิดที่จะทำอะไรเหมือนกับคนกลุ่มใหญ่ และคิดว่าที่ทำๆกันมานั้นเป็นอะไรที่ถูกต้องแล้ว ถ้าคนกลุ่มมากเห็นว่าถูกต้อง ก็ต้องถูกต้องแน่นอนเช่นกัน [15] ใครๆเขาก็ทำกันว่างั้น

 

ส่วน Herd mentality นั้นคือการศึกษาทางจิตวิทยาที่พบว่ามนุษย์เรานั้น แม้จะมีเจตจำนงของตัวเอง แต่พออยู่ในกลุ่มเสียงส่วนใหญ่ก็จะเริ่มทำตามเสียงว่วนใหญ่นั้น โดยไม่ได้คิดอะไรก่อนเลยหรือว่าถูกจริงๆไหม ประหนึ่งฝูงแกะ แพะ ที่ถูกต้อนให้ตามๆกันไป หรือสัตว์ขากีบที่ชอบอยู่กันเป็นฝูง ซึ่งมีผลการศึกษาในการโลกออนไลน์พบว่า ถ้ามีคนกดUp vote เยอะ ก็จะมีคนกดUp Vote ตามมาเยอะเช่นกัน [16]

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหากมีการรวมกลุ่มรากหญ้าปลอมๆไม่ว่าบนทางไหนก็ตาม ก็คาดหวังผลทางจิตวิทยาได้ว่าจะทำให้มีคนเข้าร่วมหรือคล้อยตามได้มาก เมื่อเห็นกลุ่มคนจำนวนมากหรือข้อมูลชุดเดียวกันจำนวนมากโผล่ขึ้นมา ประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อะไรมาก่อนก็มีสิทธิสูงที่จะถูกหลอกโดยขบวนการเหล่านี้  ดังนั้น การที่เราจะเอาตัวรอดจากพวกนี้ได้ก็คือการที่จะต้องศึกษาไว้ก่อนนั่นเองว่าเขาหลอกกันยังไง เพื่อที่จะได้เปลี่ยนมุมมองของเราให้เห็นว่าพฤติกรรมบางอย่างที่เราเห็นว่ามันปกติ ความจริงอาจไม่ปกติ เหมือนการแยกหัวคะแนนออร์แกนิกออกจากหัวคะแนนสังเคราะห์ นั่นเอง

 

มนุษย์ประเสริฐและฉลาดกว่าสัตว์ขากีบ ถ้าเราไม่อยากถูกมองเป็นแค่ฝูงสัตว์ฝูงหนึ่ง ก็ต้องมีสติควบคุมอารมณ์ให้ได้  อย่าโดนขบวนการแบบนี้หลอก ต้องเลือกให้ดี อย่าโดนครอบงำ เดี๋ยวจะโดนเหมารวมว่าเป็นฝูงสัตว์ไม่ใช่มนุษย์ โดยไม่รู้ตัว

 

อ้างอิง

[1Haikarainen Johanna Emilia, Astroturfing as a global phenomenon, University of. Jyväskylä, Finland, 2014. P.4

[2] Attkisson, S. (2015). Astroturf and manipulation of media messages. TEDxUniversityofNevada https://www.youtube.com/watch?v=-bYAQ-ZZtEU

[3] Leiser M., “AstroTurfing, ‘CyberTurfing’ and other online persuasion campaigns”, in European Journal of Law and Technology, Vol 7, No 1, 2016.

[4] Kahneman, Thinking fast and slow. London: Penguin books, 2011, p82.

[5] มติชนสุดสัปดาห์ ,วิกฤติศตวรรษที่21 : ขบวนการรากหญ้าและรากหญ้าเทียมhttps://www.matichonweekly.com/column/article_62283

[6] https://web.archive.org/web/20201103163813/https://www.ned.org/region/asia/thailand-2019/ ; https://www.youtube.com/watch?v=4Ce7Zzcg1uY

[7] https://bleedingfool.com/blogs/is-rotten-tomatoes-rigging-rise-of-skywalkers-audience-score/

[8] https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000097801

[9] Leiser M., “AstroTurfing, ‘CyberTurfing’ and other online persuasion campaigns”, in European Journal of Law and Technology, Vol 7, No 1, 2016.

[10] https://www.washingtonpost.com/news/the-intersect/wp/2016/06/27/how-online-bots-conned-brexit-voters/

[11]  Caitlin Dewey, The three types of political astroturfing you’ll see in 2016 retrieved 9th May 2023: https://www.washingtonpost.com/news/the-intersect/wp/2016/09/26/the-three-types-of-political-astroturfing-youll-see-in-2016/

 

[12]https://web.archive.org/web/20161109183752/https://www.hillaryclinton.com/forms/grassroots-tweeters/ ;

https://twitter.com/AdamParkhomenko/status/652621791798685696?ref_src=twsrc%5Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E652621791798685696%7Ctwgr%5E3ef5720f3b283b0ec38e46a82f7b79d2082ab6e7%7Ctwcon%5Es1_&ref_url=httpsintersect%2Fwp%2F2016%2F09%2F26%2Fthe-three-types-of-political-astroturfing-youll-see-in-2016%2F%3A%2F%2Fwww.washingtonpost.com%2Fnews%2Fthe-

[13] Chinery et. al. v. Fyre Media, Inc., Complaint at 2, Chinery et al v. Fyre Media, Inc., (2017), BC659938

 

[14] https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/92017-repoer07.html

[15] https://effectiviology.com/bandwagon/#:~:text=One%20example%20of%20the%20bandwagon,likely%20to%20upvote%20it%20themself.

[16] Taylor, Sean J.; Aral, Sinan; Muchnik, Lev (2013-08-09). “Social Influence Bias: A Randomized Experiment”. Science. 341 (6146): 647–651.




เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า