ผลไม้ของกษัตริย์ ‘สัปปะรด’ ผลไม้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผลไม้สุดหรูหรา และเป็นสัญลักษณ์ความมั่งคั่งของอังกฤษ
ทุกวันนี้ สับปะรดในบ้านเรานั้น ถือได้ว่าเป็นผลไม้ทั่วไปที่สามารถหาทานได้ทั่วไป ตามแผงขายผลไม้ข้างทาง ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รสหวานเปรี้ยว เนื้อชุ่มฉ่ำน้ำ ปอกทานสด ๆ ก็อร่อย ยิ่งนำไปแช่เย็นก็ยิ่งอร่อย อีกทั้งยังนิยมนำไปใช้ประกอบเป็นของหวานแสนอร่อยได้หลากหลาย
อีกทั้งสับปะรดนั้นก็เป็นสินค้าเกษตรที่มีความโดดเด่นอย่างหนึ่งของประเทศได้ โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสับปะรดกระป๋องมากถึง 2 หมื่นล้านบาท ครองสัดส่วนตลาดโลกเป็นอันดับ 1 มากถึง 32%
แต่เมื่อย้อนกลับไปในอดีต ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 สับปะรดเคยเป็นผลไม้ที่หายากมาก และถูกมองว่าเป็นผลไม้ที่สุดแสนจะหรูหรา เลอค่าจนได้รับการขนานนามว่า “ผลไม้ของกษัตริย์” เลยทีเดียว
สับปะรด เป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ และถูกนำเข้ามาสู่ยุโรปจากการค้นพบทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ซึ่งทำให้มหาอำนาจต่าง ๆ ในยุโรปต่างพากันส่งกองเรือไปยังทวีปอเมริกา และขนส่งนำวัตถุดิบจากทวีปอเมริกา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการเก็บอาหารสดในยุคสมัยนั้น ยังไม่เจริญก้าวหน้ามากเพียงพอที่จะเก็บรักษาผลไม้สดในระหว่างการขนส่งข้ามทวีป ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยด้านระยะเวลาในการขนส่ง และวิธีการเก็บรักษาความสดของผลไม้เอง ซึ่งนั่นทำให้จำนวนสับปะรดที่ถูกขนมาจากทวีปอเมริกาสู่ยุโรปนั้น มีจำนวนที่น้อยมาก
นอกจากนี้ ผลและใบของสับปะรดแต่ละลูกนั้น มีลักษณะที่คล้ายกับคนสวมมงกุฎ จึงทำให้สับปะรดถูกนำไปเชื่อมโยงกับความมั่งคั่ง และอำนาจ จนถูกเรียกว่า “ผลไม้แห่งกษัตริย์” นั่นเอง
ในปี ค.ศ. 1661 พ่อค้าชาวบาร์เบโดส (เกาะในแถบทะเลแคริเบียน อเมริกาใต้) ทูลเกล้าถวายฎีกาแด่สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ซึ่งในแต่ละวันพระเจ้าชาลส์จะทรงได้รับฎีกามากกว่าหมื่นฉบับ แต่ความพิเศษของฎีกาฉบับนี้นั้นคือ เขาได้ทูลเกล้าถวายสัปปะรสด้วย และสับปะรดก็ทำให้ฎีกาของพวกเขานั้น ได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว
และในปี ค.ศ. 1675 พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงโปรดให้มีการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ โดยในภาพพระองค์ทรงประทับยืนในสวน โดยมีนายจอห์น โรส คนสวนหลวงกำลังคุกเข่าถวายสัปปะรส เพื่อสื่อความหมายถึงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจของกองเรืออังกฤษในยุคนั้นนั่นเอง
นอกจากนี้ สับปะรดยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการทูตของอังกฤษอีกด้วย โดยใน ค.ศ. 1668 อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังต่อสู้เพื่อแย่งชิงอาณานิคมเวสต์อินดีส (หมู่เกาะในทะเลแคริเบียน) พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงพระราชทานเลี้ยงแด่ราชทูต ชาร์ลส์ โคลแบร์ จากฝรั่งเศส
ซึ่งในการเลี้ยงในครั้งนั้น พระเจ้าชาลส์ทรงหั่นสับปะรดให้แก่ชาร์ลส์ โคลแบร์ และคณะทูตด้วยพระองค์เอง โดยมีพระราชประสงค์ที่จะสำแดงพระราชอำนาจทางเศรษฐกิจอังกฤษ เพื่อข่มฝรั่งเศสผ่านสับปะรด
และถึงแม้ว่าในบันทึกของจอห์น เอเวลิน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระราชทานสับปะรสด้วยนั้นจะระบุว่ามันมีรสชาติที่น่าผิดหวัง เปรี้ยวมากเหมือนลูกควินซ์ (ผลไม้รสเปรี้ยวชนิดหนึ่ง) กับแตง [3]
แต่ด้วยความหายาก และมีจำนวนน้อยของมัน ทำให้สนนราคาของสัปปะรส 1 ลูกในยุคสมัยนั้น มีการประเมินมูลค่าเป็นเงินในปัจจุบันเท่ากับลูกละ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.8 แสนบาทเลยทีเดียว [4]
ที่มา
[1] นายกฯ ปลื้มสินค้าผลไม้ไทย สับปะรดกระป๋อง ที่ 1 โลก-มะม่วงเบาขึ้นทะเบียน GI, https://www.thairath.co.th/news/politic/2593893
[2] Charles II Presented with a Pineapple, https://www.rct.uk/collection/406896/charles-ii-presented-with-a-pineapple
[3] Public Dining in the Reign of Charles II (1630-1685), https://www.rct.uk/collection/themes/trails/public-dining-in-the-reign-of-charles-ii-1630-1685/charles-ii-presented
[4] King Pine, The Pineapple, https://www.historic-uk.com/CultureUK/King-Pineapple/
[5] Tom Standage (2023), “ประวัติศาสตร์กินได้”, แปลโดย โตมร ศุขปรีชา