
ต้องเพิ่มทักษะแรงงาน ไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำ ‘สภาพัฒน์’ ชี้ประเทศขาดแรงงานมีทักษะ และทักษะการใช้ AI เพื่อการรองรับอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงเรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2566 โดยในด้านสถานการณ์แรงงานไตรมาสสี่และภาพรวม ปี2566นั้น มีการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น
และการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. และการพัฒนาทักษะด้าน AI ของแรงงาน
ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.7 โดยภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.0 ส่วนการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 2.0 โดยสาขาโรงแรม/ภัตตาคารขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 8.0 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น สำหรับสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า สาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 4.5 3.8 และ 3.1 ตามลำดับ
ขณะที่สาขาการผลิตหดตัวลงร้อยละ 2.3 จากการชะลอการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.6 และ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงานที่ลดลงร้อยละ 23.6 และ 6.8 ตามลำดับ
ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 14,095 และ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และ 0.9 ตามลำดับ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.81 หรือมีผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน รวมทั้งลดลงทุกระดับ
การศึกษา สำหรับภาพรวมปี2566 อัตราการมีงานทำอยู่ที่ร้อยละ 98.68 เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนมีการแพร่ระบาด
ของ COVID-19 ขณะที่การว่างงานโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 0.98 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี2562 ทั้งนี้ประเด็นที่ต้อง
ติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
1) ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ซึ่งโครงสร้างการจ้างงานของอุตสาหกรรมการผลิตในปี2565 ยังเน้นแรงงานไม่มีฝีมือ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 43.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.2 ในปี2560 อีกทั้ง สถานประกอบการจำนวนมากต้องการเพียงแรงงานทักษะพื้นฐาน
2) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. โดยระดับดังกล่าวมีผู้สมัครงานต่ำกว่าตำแหน่งงานว่างถึง 6.8 และ 7.1 เท่า ตามลำดับ
3) การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้AI ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยควรมีการ up skill / reskill ด้าน AI แรงงานในตลาด ผลิตแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้าน AI และทักษะที่เกี่ยวข้อง
“เพื่อปัญหาเหล่านี้ ภาครัฐควรต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น Upskill และ Reskill นอกจากนี้ยังเสนอให้มีโครงการอบรมแรงงานระยะสั้น ๆ 3-6 เดือน เพื่อช่วยยกระดับรายได้แรงงานต้องทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามฐานของทักษะที่เพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เราต้องทำให้แรงงานมีทักษะเพิ่มขึ้นมากกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ” นายดนุชากล่าว