Newsศีลธรรม กรอบพื้นฐานการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีเอกภาพและความเจริญ

ศีลธรรม กรอบพื้นฐานการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีเอกภาพและความเจริญ

หากย้อนสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นที่กล่าวถึงอย่างร้อนแรงในโลกออนไลน์เมื่อช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมา ก็ไม่พ้นเรื่องกรณีนักร้องคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่า มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับชายที่มีความสัมพันธ์แบบผูกมัดกับผู้หญิงอีกคนอยู่ และกลายเป็นกระแสสังคมขนานใหญ่ที่มีการพูดถึงในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยมุมมองส่วนใหญ่จะมองไปที่การต่อต้านพฤติกรรมดังกล่าวที่ถูกมองว่าเป็นการละเมิดบรรทัดฐานพื้นฐานในสังคม ซึ่งคือ การละเมิดคนอื่น โดยเฉพาะการเข้าไปเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อชายที่มีความสัมพันธ์ดังกล่าวอยู่แล้ว

 

แน่นอนว่า การต่อต้านจากสังคมขนานใหญ่เช่นนี้ ย่อมเป็นการต่อต้านโดยการหยิบศีลธรรมและบรรทัดฐานในการโจมตีพฤติกรรมที่มองว่าเป็นการละเมิดแนวทางพื้นฐานของสังคม ซึ่งก็มีบางคนที่มีมุมมองไปอีกทางหนึ่งในทางที่ว่า แนวคิดศีลธรรมในเรื่องไม่ผิดลูกผิดเมียของคนอื่น ถือว่า เก่า โบราณ และไม่เปิดเสรีในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ บางส่วนก็มองว่า ต่อให้มีการผิดลูกผิดเมียคนอื่น สังคมก็ไม่มีสิทธิ์ตัดสินและต่อต้าน เพราะมองว่า เป็นพฤติกรรมส่วนตัว 

 

ทั้งที่การละเมิดคนอื่นไม่ว่าในมิติใด ต่างก็เป็นการละเมิดต่อสาธารณะทั้งนั้น และสังคมก็มีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตราบที่เป็นการวิจารณ์โดยสุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลสาธารณะ ที่ย่อมถูกคาดหวังจากการได้รับโอกาสสำคัญในฐานะแบบอย่างของสังคมและการมีบทบาทในฐานะเครื่องมือชี้นำกระแสความคิดในสังคมสาธารณะจากการเผยแพร่ตัวตนผ่านกลไกพื้นที่บริเวณที่มีการเข้าถึงจากผู้คนเป็นจำนวนมากทั้งแบบตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจต่างก็เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นบุคคลสาธารณะด้วยกันทั้งสิ้น

 

และสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นการย้ำความหมายและความสำคัญของศีลธรรมในฐานะแนวทางพื้นฐานของสังคม ซึ่งเครื่องมือชิ้นนี้ได้เกิดขึ้นจาก 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ กรอบกติการ่วมกันในสังคมและความดีงามที่สังคมมองว่า “ควรจะเป็น” ในสังคมดังกล่าว ซึ่งในแต่ละสังคมก็จะมีลักษณะรายละเอียดที่แตกต่างกันไป แต่หัวใจสำคัญก็คือ การสร้างกลไกการกำกับสังคมที่อยู่เป็นกลุ่นก้อนให้สามารถดำเนินไปได้โดยไม่เกิดการกระทบกระทั่งหรือขัดแย้งมากนักและพัฒนาสังคมให้ไปข้างหน้าไปเรื่อย ๆ ในด้านต่าง ๆ 

 

ซึ่งที่มาของทั้ง 2 องค์ประกอบดังกล่าว ได้เกิดขึ้นจากความพยายามในการจัดตั้งและรักษาสภาพสังคมในช่วงการก่อตั้งชุมชนมนุษย์โบราณ โดยทั้งกรอบกติการ่วมกันในสังคมและความดีงามที่สังคมคาดหวังให้เป็น คือองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมให้อยู่รอดในช่วงยุคโบราณที่เต็มไปด้วยความไร้ระเบียบ ป่าเถื่อน และไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งบุคคลในสังคมที่อยู่รอดและมีเสถียรภาพก็จะมีเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและวัฒนธรรม โดยไม่ต้องกังวลถึงความอยู่รอดมากนัก ตราบใดที่กลไกสังคมยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ

 

ทั้งนี้ หากแยกองค์ประกอบทั้งสองส่วนนี้ก็จะพบว่า ในส่วนของกรอบกติการ่วมกันนั้นต่างก็มีแก่นหลักในทุก ๆ กรอบกติกาบนโลก คือ การรักษาสภาพของสังคมให้สามารถดำเนินไปได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงจากการละเมิดผู้อื่นของบุคคลในสังคม ซึ่งแนวคิด “การป้องกันการละเมิดผู้อื่น” ต่างก็เป็นแนวคิดที่มีการปรับใช้ในบรรทัดฐาน ศีลธรรม และกฎหมาย ที่มีการปรับแต่งให้เข้ากับบริบทของสังคมที่มีความหลากหลายบริบท

 

อีกส่วนหนึ่ง คือ ความดีงามที่สังคมคาดหวังให้เป็น ซึ่งมีบทบาทเป็นเปลือกของแนวคิดศีลธรรมที่เป็นการนำเสนอสิ่งที่สังคมควรจะเป็น จึงจะเป็นสิ่งที่ดี โดยเมื่อเวลาผ่านไป มุมมองต่อคุณค่าความดีงามก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทเวลา บริบทสังคม และสภาพแวดล้อม เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมที่มีพลวัตใหม่ ๆ เข้ามา และยังสามารถรักษาแก่นสำคัญของคุณค่าศีลธรรมที่เป็นการเกาะกลุ่มพลังทางสังคมและการไม่ละเมิดต่อผู้อื่นและสาธารณะซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของสังคมให้ดำเนินไปได้ดี

 

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงช่วงยุคสมัยที่เกิดกระแสการรื้อสร้างวัฒนธรรมและแนวคิดทางสังคมในปัจจุบัน ก็มีความพยายามของบางแนวคิดทางการเมืองและสังคมที่ต้องการทำลายคุณค่าศีลธรรมเดิมให้สิ้นซาก ผ่านวิธีการต่าง ๆ สารพัดอย่าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมไปกับการสร้างคุณค่าความคิดใหม่ที่ย่อมเป็นการนำสู่การทำลายเอกภาพทางสังคมอย่างย่อยยับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสถาบันครอบครัวและสถาบันสังคมทั่วไป ผ่านการใช้เหตุการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ในการฉวยโอกาสดังกล่าว

 

เพราะรากฐานของการสร้างคุณค่าความคิดใหม่นั้น ไม่ใช่การสร้างคุณค่าความคิดใหม่โดยอาศัยความสมัครใจของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม แต่กลับเป็นการบังคับให้ยอมรับความคิดใหม่โดยใช้ข้ออ้างสารพัด ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของแนวคิดลัทธิตาสว่าง (Woke) ที่กำลังคุกคามรากฐานสังคมไปทั่วโลก โดยอ้างว่าแนวคิดตนเองนั้น ดีที่สุด ทันสมัยที่สุด เท่าเทียมที่สุด 

 

แต่ความเป็นจริงนั้นกลับใช้ความดีในแบบของตนไปกดทับคนอื่นที่เชื่อไม่เหมือนตนเองในรูปแบบของการใช้วัฒนธรรมคว่ำบาตร (Cancel Culture) ซึ่งเมื่อโดนกระทำกลับ ก็จะอ้างว่าถูกคุกคามจากสังคมในรูปแบบต่าง ๆ และต่อต้านวัฒนธรรมคว่ำบาตรที่กระทำต่อลัทธิตาสว่าง ทั้งที่ในทางกลับกัน ก็มีการใช้วัฒนธรรมคว่ำบาตรในการโจมตีคนอื่น ๆ ไปทั่ว ซึ่งเป็นความย้อนแย้งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในกลุ่มลัทธิตาสว่างกระแสหลัก

 

ดังนั้นแล้ว เหตุผลสำคัญที่ ศีลธรรม ซึ่งมีทั้งกรอบกติกาหลักและความดีที่สังคมคาดหวังให้เป็นนั้น มีความคู่ควรต่อการปกป้อง ก็คือ การเป็นกลไกภายในทางสังคมที่คอยรักษาเอกลักษณ์ของมนุษย์ในสังคมหนึ่ง ๆ ให้ยังสามารถรักษาเอกลักษณ์ที่มีการพัฒนามาจากบริบทสังคมเดิมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ก็ยังเป็นการรักษาหลักการพื้นฐานอย่าง “การไม่ละเมิดผู้อื่น” ให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง ควบคู่กับการรักษาหลักการโดยพื้นฐานของ “ศีล” อย่างแท้จริง คือ การทำในสิ่งที่ควรจะทำ ไปพร้อมกันด้วย   

 

นอกจากนี้ แนวคิดศีลธรรมยังมีความสำคัญในฐานะเครื่องมือในการรักษาสภาพกลุ่มก้อนในสังคมควบคู่กับกฎหมายในขอบเขตสังคมนั้น ๆ ที่แม้ว่าสังคมจะพัฒนาไปมาก แต่ศีลธรรมที่เคยทำหน้าที่ทั้งกำกับสังคมและนำเสนอความดีที่ควรจะเป็น ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะกฎหมายขนานอ่อนที่ทำหน้าที่กำกับพฤติกรรมของผู้คนในสังคมให้ไม่ละเมิดผู้อื่นควบคู่กับกฎหมายหลัก ในฐานะเครื่องมือในการรักษาระเบียบและความเป็นเอกภาพทางสังคมควบคู่กับการปรับแนวคิดทางสังคมให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อให้ยังคงอยู่รอดและใช้งานได้จริง 

 

สุดท้ายนี้ แม้ว่าคุณค่าแนวคิดศีลธรรมจะมีการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาและบริบททางสังคม แต่ใจความสำคัญของแนวคิด “ศีลธรรม” ในฐานะหลักการยึดเหนี่ยวสังคมให้เป็นหนึ่งเดียวและกรอบกติกาพื้นฐานร่วมกันในสังคม ก็ยังอยู่รอดมาถึงปัจจุบัน และตราบใดที่กรอบกติกาพื้นฐานยังเข้มแข็งพร้อมกับการปรับตัวตามบริบทสังคม สังคมนั้นก็จะยังคงรักษาความเป็นเอกภาพทางสังคมควบคู่กับการพัฒนาต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนไม่รู้จบ

อ้างอิง:

[1] The Difference Between Morals and Ethics 

https://www.verywellmind.com/morality-vs-ethics-what-s-the-difference-5195271

[2] The Importance of Being Moral

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/one-among-many/201607/the-importance-being-moral

[3] Importance of Family Values

https://www.lovetoknow.com/life/relationships/importance-family-values

[4] basic norm

https://www.lsd.law/define/basic-norm

[5] ลัทธิตาสว่าง (Woke) กับความสุดโต่งทางวัฒนธรรม อยู่รอดอย่างไร เมื่อถูกมองว่าเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ในสังคม 

https://thestructure.live/fight-back-against-woke-culture-2022-08-24/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า