Newsรู้หรือไม่? นม และขนมหวาน ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นอาวุธ เพื่อปกป้องประชาธิปไตย

รู้หรือไม่? นม และขนมหวาน ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นอาวุธ เพื่อปกป้องประชาธิปไตย

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ที่สหรัฐอเมริกา และพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสสามารถยกพลขึ้นบกที่แคว้นนอร์มังดี และรุกคืบเข้าสู่เยอรมนีทางทิศตะวันตก ในขณะที่สหภาพโซเวียตรุกคืบสู่เยอรมนีทางทิศตะวันออก ทำให้เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ยุโรปถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยฝั่งตะวันตกเป็นของอเมริกา-อังกฤษ-ฝรั่งเศส ในขณะที่ตะวันออกเป็นของสหภาพโซเวียต

 

และนับจากนั้น รัฐที่อยู่ใต้การปกครองของโซเวียตก็ค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนให้เป็นลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ในขณะที่ฝั่งตะวันตกใช้ระบอบเสรีประชาธิปไตย สงครามเย็นก็เริ่มตั้งเค้า และความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจสหรัฐอเมริกา-สหภาพโซเวียตเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะผลักดันทฤษฎีเศรษฐกิจและการปกครองของตน โดยมีเบอร์ลินเป็นเสมือนตัวแทนของยุโรป ตามคำกล่าวของนายวยาเชสลาฟ โมโลตอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพโซเวียตที่ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับเบอร์ลิน คือเกิดขึ้นกับเยอรมนี สิ่งที่เกิดขึ้นกับเยอรมนี คือเกิดขึ้นกับยุโรป”

 

ค.ศ. 1948 (พ.ศ.2491) สหภาพโซเวียตพยายามที่จะสกัดกั้นการขนส่งทางบกและทางรางของฝ่ายอเมริกา ที่จะขนส่งอาหารและเชื้อเพลิงเข้าสู่เบอร์ลิน ทั้งเพื่อสกัดกั้นแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจของเยอรมนีตะวันตก และเพื่อบีบให้อเมริกา, อังกฤษ และฝรั่งเศส ถอนทัพล่าถอยออกไปจากเบอร์ลิน

 

แต่ฝ่ายอเมริกาตัดสินใจที่จะไม่ยอมถอยกลับ และไม่ยอมใช้กำลังเข้าตอบโต้ ไม่แม้จะส่งทหารเข้าคุ้มกันขบวนขนส่งทางบก เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการปะทะกันจนกลายเป็นชนวนของสงครามครั้งที่ 3 แต่ทหารและประชาชนชาวเบอร์ลินตะวันตกล้วนแต่ต้องการอาหารและเชื้อเพลิง

 

มีการประมาณว่า ประชาชนชาวเบอร์ลินตะวันตก 2 ล้านคน ต้องการอาหารวันละ 1,500 ตัน และถ่านหินกับเชื้อเพลิงอีก 2,000 ตันต่อวันเป็นอย่างน้อยที่สุด แต่ถ้าจะให้เพียงพอจริง ๆ ต้องการมากถึง 13,500 ตันต่อวันสำหรับฤดูร้อน

 

อเมริกาตัดสินใจใช้วิธีการขนส่งทางอากาศ โดยเรียกชื่อปฏิบัติการขนส่งทางอากาศนี้ว่า ปฎิบัติการ วิสเทิล (Operation Vittles) หรือ เบอร์ลินแอร์ลิฟ (Berlin Airlift) ด้วยการใช้เครื่องบินขนส่งทางทหาร รุ่น C-47 Skytrain และ C-54 Skymaster เพื่อการขนส่งอาหาร, ยา และเชื้อเพลิงเข้าสู่เบอร์ลิน

 

และเนื่องจากเครื่องบินหลักที่ใช้ในการขนส่งทางอากาศของอเมริกา เป็นเครื่องบินที่ผลิตโดยของบริษัท อากาศยาน ดักลาส (Douglas Aircraft Company) ทางบริษัทจึงได้จัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ โดยพาดหัวว่า “นม อาวุธใหม่ของประชาธิปไตย (Milk New Weapon of Democracy) ขึ้น

 

ในขณะที่เรืออากาศโทเกล ฮาลวอร์เซน เกิดแนวคิดที่จะนำช็อกโกแลต และหมากฝรั่ง มาผูกเข้ากับผ้าเช็ดหน้า เพื่อปล่อยจากเครื่องบิน ซึ่งการกระทำของเขาเป็นที่ถูกใจของเด็ก ๆ ชาวเบอร์ลิน จนผู้คนพากันเรียกเขาว่า “คุณลุงช็อกโกแลต” และนักบินอื่น ๆ ก็พากันทำตาม

 

ชาวอเมริกันเองก็ชอบใจกับการกระทำของเหล่านักบินนี้ ขนมหวานต่าง ๆ กว่า 3 ตันถูกส่งมาจากโรงงานผลิตขนมหวานในอเมริกา และบางส่วนเด็ก ๆ ชาวอเมริกันก็บริจาคให้ ได้ถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบิน เพื่อเป็นการผูกสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ๆชาวอเมริกันกับเบอร์ลิน ทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้ได้ผลมากยิ่งขึ้นในการทำสงครามประชาสัมพันธ์ (สมัยนั้นยังไม่มีการนิยามคำว่า สงครามข่าวสาร และ ซอฟ์ต พาวเวอร์) 

 

สุดท้าย ฝ่ายโซเวียตเป็นฝ่ายถอนการปิดล้อมเบอร์ลินออกไปด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ซึ่งกินระยะเวลาการปิดล้อมทั้งสิ้น 323 วัน

 

อย่างไรก็ดี อาหารส่วนใหญ่ที่ถูกขนส่งไปยังเบอร์ลินในปฎิบัติการครั้งนี้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแป้งและข้าวสาลี โดยมีรายงานว่าในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 ทหารอเมริกันส่งแป้งและข้าวสาลีมากถึงวันละ 646 ตัน ในขณะที่นมผงถูกส่งไปเพียงวันละ 19 ตัน และนมสดสำหรับเด็กอ่อนถูกส่งไปเพียงวันละ 5 ตัน

 

แต่เนื่องด้วยในการทำสงครามประชาสัมพันธ์ (ในเวลาต่อมาถูกพัฒนาเป็นคำว่า สงครามข่าวสาร) มีเพียงนม และขนมหวานเท่านั้นที่ถูกนำมากล่าวถึง นั่นจึงทำให้ นมและขนมหวานกลายเป็นอาวุธเพื่อการปกป้องประชาธิปไตยไปโดยปริยาย

อ้างอิง

[1] Tom Standage (2023), “ประวัติศาสตร์กินได้”, แปลโดย โตมร ศุขปรีชา

[2] Wikipedia, “Berlin Blockade”, https://en.wikipedia.org/wiki/Berlin_Blockade

[3] “Berlin Airlift – The Story Of A Great Achievement (1949)”, https://www.youtube.com/watch?v=_nHdB1vJNsg 

[4] 1949 Douglas Advertisement Featuring the Berlin Airlift, https://secure.boeingimages.com/archive/1949-Douglas-Advertisement-Featuring-the-Berlin-Airlift-2F3XC5HXLKV.html 



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า