
ลุยประชุม BRICS มาครง ขอคำเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 15 ในฐานะผู้นำชาติตะวันตกคนแรกของงาน
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ขอให้ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา ของแอฟริกาใต้ ส่งคำเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ประจำปีครั้งที่ 15 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเมืองพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2566
หนังสือพิมพ์ L’Opinion ของฝรั่งเศสรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า มาครงหยิบยกประเด็นความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ระหว่างหารือทางโทรศัพท์กับผู้นำแอฟริกาใต้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้นำแอฟริกาใต้ไม่ได้ระบุว่าจะขยายการประชุมนี้ไปยังผู้นำประเทศอื่นๆ หรือไม่
ทั้งนี้ หากมาครงเข้าร่วมการประชุม เขาจะกลายเป็นผู้นำชาติตะวันตกคนแรกที่เข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
เห็นได้ชัดว่าผู้นำกลุ่ม BRICS และมาครง มีความปรารถนาร่วมกันที่จะยกเครื่องระเบียบการเงินและภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก โดยมาครง จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่กรุงปารีสในสัปดาห์หน้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกเครื่องระบบการเงินเพื่อประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา
ซึ่งรามาโฟซา มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย โดยการพบปะอย่างจริงใจระหว่างเขากับมาครง อาจเป็นเวทีสำหรับผู้นำฝรั่งเศสที่จะสร้างประวัติศาสตร์ในพริทอเรีย
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของมาครงกับประเทศกลุ่ม BRICS ที่เหลือซึ่งได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ยังคงร้าวฉาน เนื่องจากปารีสได้ส่งข้อความที่ชวนสับสนไปยังประเทศเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น มาครงเรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพในยูเครนและเสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงสนับสนุนแผนสันติภาพที่ร่างขึ้นโดยยูเครนซึ่งรัสเซียปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ขณะที่ยังคงส่งอาวุธหนักไปยังเคียฟต่อไป
ในทำนองเดียวกัน มาครงยืนยันว่ายุโรปจะต้องไม่ทำตามสหรัฐฯ ในการเผชิญหน้ากับจีน และคัดค้านการเปิดสำนักงานประสานงานของนาโตในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม เขาลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับผู้นำกลุ่ม G7 คนอื่นๆ เมื่อเดือนที่แล้ว โดยระบุว่าจีนเป็น ‘ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความมั่นคงของโลกและความเจริญรุ่งเรืองในยุคปัจจุบัน’ ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกับของสหรัฐฯ
ในขณะเดียวกัน การประณามรัสเซียของมาครง ได้สร้างความไม่พอใจให้กับอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปแอฟริกา ซึ่งมองว่ารัสเซียเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้มากกว่าอดีตเจ้าอาณานิคมของตน