
ควรจัดการอาชญากรเด็กอย่างไร ‘ครูหยุย’ เสนอให้มีการตั้งองค์คณะสหวิชาชีพร่วมพิจารณา และให้มีการจัดการสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่ชักจูงให้เด็กใช้ความรุนแรง
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โพสต์คลิปลงสื่อโซเชียล เพื่อให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการลงโทษเด็กและเยาวชนผู้ก่อเหตุอาชญากรรม
ครูหยุยกล่าวว่าทั้งจากเหตุเยาวชนกราดยิงที่สยามพารากอน และเหตุการณ์เยาวชนรุมทำร้ายป้ารายหนึ่งจนถึงแก่ชีวิตอย่างโหดร้ายทารุณ ทำให้ตนเองสอบถามเข้ามาว่าควรจะทำอย่างไร ครูหยุยอธิบายว่าตามหลักกฎหมายแบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1 กลุ่มต่ำกว่า 12 ปี ถ้าทำผิดศาลจะยกเว้น ไม่เอาโทษ
2 กลุ่มอายุ 12-15 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้น ซึ่งศาลจะมี 3 ทางเลือกคือ ศาลยังคงยกเว้นโทษ หรืออาจจะเรียกผู้ปกครองมาคาดโทษและภาคทัณฑ์ไว้ หรือใช้วิธีกักตัวในสถานพินิจหรือเรียกกันว่าคุกของเด็ก ตามแต่เหตุที่เยาวชนก่อเอาไว้ และดุลยพินิจของศาล
3 กลุ่มเด็กอายุ 15-18 ปี ถ้าจะลงโทษโทษก็จะลดลงตามอายุ
4 กลุ่มช่วงอายุ 18 ถึง 20 ปีก็ต้องรับโทษ แต่ศาลอาญาลดโทษลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่ง
ครูหยุยกล่าวว่า แต่สังคมยังมีข้อสงสัยว่าแบบนี้เด็กจะไม่หลาบจำ ซึ่งตนเองทำงานเรื่องเด็กมานาน เห็นว่าเราต้องมอง 2-3 ทางไปพร้อม ๆ กัน โดยทางที่ 1 เราดูเรื่องโทษ โดยใช้อายุเป็นเกณฑ์ ซึ่งจากเหตุที่เกิดขึ้นนั้น เป็นที่น่าปวดร้าวของสังคม ซึ่งตนเองก็รู้สึกเจ็บปวดเช่นกัน แต่เราต้องมองเรื่องพฤติกรรม
ครูหยุยเสนอว่าอาจจะต้องแก้ไขกฎหมาย ให้มีองค์คณะสหวิชาชีพเข้ามาพิจารณาพฤติกรรมว่า พฤติกรรมแบบนี้รุนแรงเกินไปหรือไม่ สมควรจะได้รับการลด/งดเว้นโทษแบบเดิมหรือไม่ ควรจะต้องได้รับโทษมากขึ้นหรือไม่ ก่อนที่ศาลจะเริ่มการพิจารณาตัดสิน เพื่อการประนีประนอมระหว่างสังคมที่รับไม่ได้เลยกับการปล่อยเด็ก กับสังคมที่เห็นว่าเด็กก็คือเด็ก
ทางที่สองที่ควรทำควบคู่กันไป คือการจัดการกับสื่อออนไลน์ ซึ่งมีเนื้อหาที่มีความรุนแรงให้เด็กและเยาวชนเสพ ซึ่งพ่อแม่ครูบาอาจารย์ควรจะพิจารณาให้ดีว่าจะลดทอนเรื่องการเสพสื่อที่รุนแรงเหล่านี้อย่างไร
ครูหยุยอ้างอิงข้อมูลสถิติว่า ปี 2565 ที่พบว่าคดี ที่เด็กและเยาวชนก่อขึ้นมา มีถึง 12,203 คดี และในจำนวนนี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดกว่า 4,300 คดี
“สังคมไทยเราปล่อยให้มีการเสพน้ำกระท่อมได้ ปล่อยกัญชาเสรีได้ อันนี้น่ากลัวเหมือนกัน เราอาจจะมองเรื่องหนึ่งในมุมหนึ่งเต็มที่ แต่เราก็ลืมมองอีกเรื่องหนึ่ง แล้วเนี่ยบ้านเรากำลังจะเปิดสถานบริการให้เปิดจนถึงตี 4 ของวันต่อมาได้
อันนี้ก็เป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมเหมือนกันที่เราต้องระวัง ในขณะที่เราไปมะรุมมะตุ้มกับเหตุที่เด็กไปทำร้าย แต่เราลืมมองมิติสังคม ที่เป็นตัวเร่งเร้าให้สังคมเป็นตัวสร้างความรุนแรงให้กับเด็กเหมือนกัน ผมจึงอย่างให้มองสองอย่าง” ครูหยุยกล่าว