Newsมรดกก้อนใหญ่ที่ IMF ทิ้งไว้ให้ไทยและเอเชียหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

มรดกก้อนใหญ่ที่ IMF ทิ้งไว้ให้ไทยและเอเชียหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

หนึ่งในผลพวงสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ฯลฯ เมื่อปี 2540 คือ การต้องถูกผูกมัดข้อตกลงกับ IMF เพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือด้านการเงินในรูปแบบของเงินกู้ยืม ที่มีเงื่อนไขการให้กู้ยืมที่เคร่งครัดและให้ความสำคัญกับการรัดเข็มขัดทางการเงินตามแนวคิดทางการเงินแบบเสรีนิยมใหม่ที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาดังกล่าว

แต่เดิมนั้น วิกฤตเศรษฐกิจเอเชียที่เกิดขึ้นในไทยเป็นแห่งแรก ถูกมองจากองค์กรการเงินและประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจว่าเป็นวิกฤตการเงินเล็ก ๆ ที่ไม่น่าจะส่งผลกระทบร้ายแรงอะไรต่อระบบเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อวิกฤตนั้นได้แผ่ขยายจากไทยไปยังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ก็ได้สร้างความวิตกกังวลว่า วิกฤตการเงินจะแผ่ขยายไปยังประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอื่น ๆ ด้วยขนาดเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังมีบทบาทเป็นพันธมิตรทางการเมืองและเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐอเมริกา

จึงเกิดแรงกดดันมหาศาลจากประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย ภายใต้การนำของญี่ปุ่นต่อองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในวิกฤตครั้งนี้ จึงเป็นที่มาของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบของเงินกู้ช่วยเหลือขององค์กร IMF ต่อประเทศเกาหลีใต้ และต่อมาได้ขยายความช่วยเหลือไปยังประเทศอื่น ๆ อีกในภายหลัง

แต่การช่วยเหลือทางการเงินของ IMF ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไข ในทางตรงกันข้ามกลับมีเงื่อนไขรุนแรงและพยายามที่จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เข้ารับเงินกู้ของ IMF ให้กลายเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ให้มีกลไกทางการเงินที่มีเสถียรภาพ และสามารถมีระบบเศรษฐกิจที่กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง ซึ่งมุมมองความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจได้กลายเป็นแนวคิดกระแสหลักในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยมีหัวใจหลักอยู่ที่การมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นอิสระต่อกันและมีเสถียรภาพภายใต้การนำของเอกชน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับวินัยการเงินและการควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐไม่ให้ขาดดุลมากจนเกินไป

เงื่อนไขหลักที่ IMF ได้วางไว้คร่าว ๆ ต่อประเทศผู้รับกู้หลัก คือ การตัดรายจ่ายภาครัฐออกเป็นจำนวนมากเพื่อให้มีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนเพื่อลดภาระของภาครัฐ การลดการควบคุมกลไกเศรษฐกิจของภาครัฐให้น้อยลงเพื่อเปิดทางให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจมากขึ้น การให้ธนาคารกลางมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการรักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด ฯลฯ

แม้ว่าจะเป็นเงื่อนไขที่โหดร้ายสำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ที่ต้องแบกรับเงื่อนไขเหล่านี้ แต่ต่างก็จำใจยอมแบกรับเงื่อนไขเพื่อแลกกับความช่วยเหลือดังกล่าว ที่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศผู้รับเงินกู้ อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจสำคัญให้เป็นของเอกชน การยุติการควบคุมราคาสินค้าและการอุดหนุนสินค้าพื้นฐาน การปรับดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามา การเข้มงวดกับสถาบันทางการเงินโดยเฉพาะเงินทุนสำรองในธนาคาร การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งรายละเอียดการบังคับใช้เงื่อนไขและจำนวนเงินกู้ก็มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน

ผลพวงตรงนี้ได้กลายเป็นมรดกก้อนใหญ่ที่บางส่วนได้ทยอยหายไปในช่วงเวลาหลังจากนั้น เช่น การมีอำนาจในการตัดสินใจทางการเงินได้ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องถูกกำกับดูแลโดย IMF การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มักเป็นการเพิ่มการใช้รายจ่ายภาครัฐ หรือการลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นการลงทุนและกู้ยืมภายในประเทศ

ทว่าก็มีผลพวงมากมายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในช่วงหลังจากการฟื้นตัวได้ระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้ข้อผิดพลาดทางการเงินครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้จากการไม่ระมัดระวังในการควบคุมฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ที่เกิดจากการที่เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศเศรษฐกิจใหม่ในทวีปเอเชียเป็นจำนวนมาก

ผสมผสานกับแนวทางทางเศรษฐกิจที่ทาง IMF ได้วางเงื่อนไขทางการเงินไว้บางส่วนที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันในฐานะนโยบายทางเลือก อย่างแนวคิดการกำกับดูแลระบบการเงินของประเทศผ่านนโยบายการสำรองเงินทุนในธนาคารพาณิชย์ และการให้ความสำคัญกับนโยบายการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการรักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัดที่ยังคงใช้ได้ดีในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดการผันผวนและทรุดตัวในช่วงหลังจากนั้นไม่นาน ที่มีนามว่า “วิกฤตซับไพรม์” ในปี พ.ศ.2550 – 2551

บทเรียนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น ได้กลายเป็นเกราะป้องกันทางเศรษฐกิจไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำอีกในปี พ.ศ.2550 – 2551 ซึ่งเป็นวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่ได้สั่นคลอนระบบเศรษฐกิจของชาติตะวันตกหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาในรูปแบบที่คล้ายกับวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 เพราะมีจุดเริ่มต้นจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และการกำกับดูแลทางการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้ง 2 วิกฤตจะมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกัน แต่วิธีการแก้ไขปัญหากลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในขณะที่ฝั่งเอเชียถูกบังคับให้ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ปล่อยให้ภาคเอกชนที่อ่อนแอล้มละลายหายไป และถูกเข้มงวดกับนโยบายทางการเงินรวมทั้งการกำกับการดูแลของภาคธนาคาร กลับกลายเป็นว่าเมื่อธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Lehman Brothers ล้มละลาย สหรัฐอเมริกาได้ใช้นโยบายอุ้มภาคการเงินด้วยการพิมพ์เงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้บานปลายกว่านี้ ซึ่งถือได้ว่า ได้ใช้วิธีการที่แตกต่างจากประเทศในทวีปเอเชียก่อนหน้านี้ที่มีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแรงกว่าจากบทเรียนราคาแพงของวิกฤตการเงินเมื่อสิบปีก่อนหน้า

ผลสรุปจากเรื่องนี้คือ แม้ว่าผลงานที่ IMF ได้เริ่มไว้ในทวีปเอเชียจากโครงการความช่วยเหลือเงินกู้ทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดความทุกข์ยากภายในประเทศจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเผชิญวิกฤตทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้กลายเป็นบทเรียนราคาแพง ที่ทำให้มีการเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงินและให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จนสามารถรอดพ้นจากวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในทศวรรษต่อมา ในขณะที่ชาติตะวันตกกลับประสบปัญหาแบบเดียวกันกับที่ชาติเอเชียได้เคยมาเผชิญก่อนหน้านี้

สุดท้ายนี้ ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแรงอย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรีบเร่งและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเปราะบางทางเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นระบบเศรษฐกิจที่เติบโตบนพื้นฐานของความเป็นจริงและสามารถต้านทานกับความผันผวนทางเศรษฐกิจของโลกได้ดี ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า

“เมื่อเกิดวิกฤตก็จะสามารถรับมือและอาจจะเปลี่ยนเป็นโอกาสได้”

โดย ชย

อ้างอิง :

[1] Recovery from the Asian Crisis and the Role of the IMF

https://www.imf.org/external/np/exr/ib/2000/062300.HTM#I

[2] ถอดบทเรียน 6 อดีตผู้ว่าฯธปท. ฝ่าวิกฤติต้มยำกุ้งถึงโควิด ‘รักษาความเชื่อมั่น-ทำสิ่งถูกต้อง’

https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/107898-EX-bot-Governor-80-year-report-new.html

[3] IMF แนะวิธีแก้วิกฤต “แฮมเบอร์เกอร์” ไม่แรง-เข้มงวดเหมือนคราว ‘ต้มยำกุ้ง’

https://mgronline.com/around/detail/9510000043017

[4] ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540’ วิกฤตที่ทำให้ประเทศไทยล้ม ก่อนที่จะลุกขึ้นมาใหม่ เป็นไทยที่แข็งแรงมั่นคงกว่าเดิม

https://thestructure.live/วิกฤตต้มยำกุ้ง-2540/

[5] Ten years After the Asian Financial Crash, South Korea Booms Back

https://www.dw.com/en/ten-years-after-the-asian-financial-crash-south-korea-booms-back/a-5213435



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า