Newsท่าทีของมาเลเซีย สนใจเข้าร่วมลงทุนโดยตรงในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ในขณะที่สิงคโปร์ใช้ AI ยกระดับท่าเรือ

ท่าทีของมาเลเซีย สนใจเข้าร่วมลงทุนโดยตรงในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ในขณะที่สิงคโปร์ใช้ AI ยกระดับท่าเรือ

อาจกล่าวได้ว่า ในการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมานั้น ประเด็นเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะมีการสร้างทางรถไฟเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือในจังหวัดระนอง กับชุมพร ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติอย่างมหาศาล และเกี่ยวพันถึงเม็ดเงินเพื่อการลงทุนหลายล้านล้านบาท

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันในสภาว่า ประมาณการขนส่งทางทะเลในช่องแคบมะละกาจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจนเกิดความแออัด โครงการแลนด์บริดจ์จึงเป็นโครงการที่จะเข้ามาช่วยลดความแออัดในการขนส่งทางทะเลลงได้ [1]

 

ในขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวว่าช่องแคบมะละกาไม่ได้แออัด โดยอ้างว่าตัวแทนจากสภาหอการค้า และที่ประชุมกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ที่เธอเป็นกรรมาธิการอยู่ ก็ได้รับข้อมูลยืนยันในทิศทางเดียวกัน [2]

 

อย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการแลนด์บริดจ์นั้น ไม่ได้มีแต่เพียงแค่คนไทย และประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งตั้งอยู่ริมช่องแคบมะละกา บนแหลมมลายูร่วมกับประเทศไทย บทความนี้ จะรวบรวมความเห็นของมาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่มีต่อโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย

 

มาเลเซีย

อาจจะกล่าวได้ว่า นายคาริสมา ปูเตรา เราะห์มาน นักวิเคราะห์และนักวิจัยจากสถาบันเบต อัล-อามานาห์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบายของมาเลเซีย ยืนยันถึงความแออัดของช่องแคบมะละกาเหมือนกับนายเศรษฐา โดยเขากล่าวว่าการเดินเรือในช่องแคบมะละกาจะล้นในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)  ซึ่งจะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับธุรกิจการขนส่งทางทะเล [3]

 

อย่างไรก็ดี โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นความเสี่ยงต่อท่าเรือกลัง ซึ่งถือว่าเป็นปากประตูสู่ช่องแคบมะละกา ซึ่งอาจจะสูญเสียสินค้าไปมากถึง 20% คิดเป็นมูลค่า 480 ล้านริงกิต ในขณะที่ท่าเรือปีนังจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว [3]

 

สำหรับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย นายดาโต๊ะ เสรี อันวาร์ อิบราฮิม ค่อนข้างจะแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่ารัฐบาลมาเลเซียมีความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย โดยเขาได้เปิดเผยต่อสื่อมาเลเซียเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 ว่าเขาได้เข้าพบและพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของไทย และนายเศรษฐาได้ยื่นหลักประกันต่อรัฐบาลมาเลเซียว่ามาเลเซียจะได้มีส่วนร่วมกับโครงการ [4] [5]

ในขณะที่ ร.ศ. ศาซิดา จัน มูห์ด ข่าน จากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน มหาวิทยาลัยอุตรามาเลเซียระบุว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของมาเลเซีย และมาเลเซียมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาผลกระทบจากแลนด์บริดจ์ของประเทศไทยในทันที [4]

 

อีกทั้งยังเสนอแนะว่า มาเลเซียควรพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและลอจิสติกส์ในพื้นที่ทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายูได้แก่ เมืองปะลิส รัฐเกดาห์ และปีนัง  และควรพัฒนาโครงการสนามบินนานาชาติคูลิม (KXP) เพื่อสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ของประเทศไทย [4] 

 

ซึ่งแนวคิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมาเลเซียนี้ ก็สอดคล้องกับความเห็นของร.ศ. อับดุล ราฮิม อานัวร์ (Assoc. Prof.  Abdul Rahim Anuar) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยด้านอินโดนีเซีย-ไทย-สิงคโปร์ มหาวิทยาลัยอุตรามาเลเซียด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังสนับสนุนให้มาเลเซียเข้าไปลงทุนโดยตรงในโครงการ [4]

 

ด้านนายอาบี โซเฟียน อับดุล ฮามิด CEO ท่าเรือนอร์ทพอร์ต ของมาเลเซีย กล่าวว่าโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยจะเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าสู่ทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมไปถึงการลำเลียงสินค้าไปสู่ทั้งภายในเอเชีย (Inter-Asia) และตะวันออกไกล (Far East) ซึ่งแน่นอนว่ามาเลเซียจะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน [6]

 

อย่างไรก็ดี มาเลเซียไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยไปทั้งหมด มีบางส่วนเสนอให้มีการพัฒนาท่าเรือของมาเลเซีย เพื่อแข่งขันกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยด้วยเช่นกัน 

 

โดยนายลก เซียว ฟุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาเลเซียกล่าวว่า ทุกประเทศมีสิทธิที่จะมีความคิดของตนเอง และกระทรวงจะติดตามการพัฒนาอย่างใกล้ชิด และเราควรจะให้ความสนใจกับการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของตนเอง [7]

 

ดร. ชังคารัน นัมเบียร์ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมาเลเซีย กล่าวว่าโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นความท้าทายต่อท่าเรือของมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่าสายเรือใดจะยังอยู่กับมาเลเซีย สายเรือใดจะใช้ท่าเรือใหม่ของไทย แต่ที่แน่ ๆ คือการจราจรในช่องแคบจะลดลง อีกทั้งยังแนะนำให้มาเลเซียเร่งปรับปรุงท่าเรือทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (operational efficiency)[6]

 

ในขณะที่ ศ. ดร. เย่ว์ คิม เลง ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซันเวย์กล่าวว่า 3 ธุรกิจของมาเลเซียที่เสี่ยงต่อความสูญเสียเนื่องจากโครงการแลนด์บริดจ์ ได้แก่ธุรกิจลอจิสติกส์, พลังงานน้ำมัน และท่าเรือ เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะช่วยลดความแออัดในช่องแคบมะละกา [6]

 

ทำให้ต้นทุนการขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และท่าเรือมาเลเซียควรจะรับมือด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่ายสินค้า, เพิ่มประสิทธิภาพเชิงลอจิสติก และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน [6]

 

—-

สิงคโปร์

สำหรับท่าทีของสิงคโปร์ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะประสบความเสียหายอย่างหนักจากโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยนั้น แต่นายริดซวาน เราะห์มัท นักวิเคราะห์และคอลัมนิสต์ด้านการทหาร จากวารสารเจนส์ ซึ่งเป็นวารสารด้านการทหารที่มีชื่อเสียง กลับมองว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากท่าเรือสิงคโปร์ และอุตสาหกรรมยังมีจุดแข็งที่ดีพอที่จะแข็งขันกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย [8]

 

นายริดซวานระบุว่าท่าเรือของสิงคโปร์ กลายเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าระดับโลกไปแล้ว อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศกับท่าอากาศยานชางฮีได้อย่างรวดเร็วภายใน 60 นาที และมีสินค้าหลายชนิดที่โครงการแลนด์บริจด์ของไทยทำไม่ได้ [8]

 

อาทิเช่นระบบการลำเลียงน้ำมัน และสินค้าเหลวอื่น ๆ หรือระบบขนถ่ายสินค้าจำพวกวัตถุดิบเช่น ธัญพืช แร่ธาตุ ที่มิได้บรรจุใส่ตู้ตามวิธีการปกติ ซึ่งสินค้าประเภทนี้นั้นเหล่านี้มีสัดส่วนถึงครึ่ง ๆ ในการขนส่งในภูมิภาคนี้ [8]

 

นอกจากนี้ สิงคโปร์มีโรงกลั่นน้ำมันเป็นของตัวเอง สามารถจ่ายให้กับเรือที่เข้ามาเทียบท่าได้ และทำให้เป็นที่น่าดึงดูดใจมากกว่า อีกทั้งสิงคโปร์มีความพร้อมเชิงธุรกิจที่เหนือกว่าทั้งในด้านธุรกิจการเงิน การบิน เภสัชกรรม เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าไฮเทค ดังนั้นต่อให้โครงการแลนด์บริดจ์ประสบความสำเร็จจริง ก็จะไม่ส่งผลให้สถานะทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์สั่นคลอน [8]

 

ที่สำคัญ คือด้านความปลอดภัย ซึ่งนายริดซวานระบุอย่างชัดเจนว่า เรือที่เข้ามาเทียบท่าในสิงคโปร์จะได้รับการคุมกันจากกองทัพเรือระดับแนวหน้าของสิงคโปร์ ในขณะที่เส้นทางแลนด์บริดจ์ของไทย จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่พยายามแบ่งแยกดินแดนเป็นอิสระ ก่อตั้งรัฐอิสลามในภาคใต้ของไทย [8] [9] 

 

ร.ศ. อันโตนิโอ แอล. รัปปา อาจารย์ภาควิชาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์ สิงคโปร์ แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทยจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักให้โครงการแลนด์บริดจ์ของไทยนั้นล้มเหลว  [10] 

 

แต่ถึงจะกล่าวเช่นนั้น ร.ศ. อันโตนิโอ กลับมีความเห็นว่าถ้าหากโครงการแลนด์บริดจ์ทำได้สำเร็จ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อสิงคโปร์ในระยะ 50 ปี นับจากนี้ไป [10]

 

ด้านนาย ชี ฮอง ทัต รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ กล่าวว่าการส่งสินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ของไทย จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกามายังท่าเรือของมาเลเซีย และสิงคโปร์ อีกทั้งการลดเวลามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย [11]

 

ซึ่งบริษัทขนส่งจะต้องเปรียบเทียบต้นทุนโดยรวมเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ โดยปัจจัยดังกล่าวประกอบด้วยเวลาที่จำเป็นในการขนถ่ายสินค้า, เวลาที่ใช้ในการขนส่งผ่านแลนด์บริดจ์ และบรรทุกลงเรือรอที่อยู่อีกด้านหนึ่ง [11]

 

และเพื่อการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของท่าเรือสิงคโปร์ นายชีกล่าวว่าสิงคโปร์จะลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของท่าเรือให้สูงขึ้น โดยสิงคโปร์ได้ลงทุนพัฒนาท่าเรือทัวส์ (Tuar Port) เพื่อให้เป็นท่าเรืออัตโนมัติอย่างสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2040 [11]

 

ซึ่งท่าเรือดังกล่าวจะสร้างศักยภาพในการแข่งขันผ่านการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งจะทำให้การส่งถ่ายสินค้าทำได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้คนในการบริหารลาน ช่วยลดระยะเวลาการลำเลียงในท่าเรือสิงคโปร์ลงกว่าเดิมได้ 6-9 วัน [8]



โดยสรุปแล้ว ท่าทีของมาเลเซียต่อโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย คือการจับตามองอย่างใกล้ชิด, เสนอตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโดยตรง และในขณะเดียวกัน ก็เร่งพัฒนาปรับปรุงท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและอุตสาหกรรมของตนเอง ทั้งเพื่อการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และเพื่อการแข่งขันกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย

 

ในขณะที่ท่าทีของสิงคโปร์คือการเร่งพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของท่าเรือและอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อแข่งขันกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย โดยสิงคโปร์มีจุดแข็งอยู่ที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่พรั่งพร้อมมากกว่า, มีโครงสร้างด้านอุตสาหกรรมในประเทศที่น่าดึงดูดใจ อีกทั้งมีศักยภาพในการเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือกันทางอากาศเข้าด้วยกัน ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงในส่วนนี้

 

และถึงแม้ว่ามาเลเซีย และสิงคโปร์จะแสดงท่าทีต่อโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยในทิศทางที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้ง 2 ประเทศเหมือนกัน คือการไม่หยุดการพัฒนาตัวเอง ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

 

ซึ่งประเทศไทยของเราเองก็ควรจะพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันให้ทันเพื่อนบ้าน ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคในประเทศของตนเองต่อไป

 

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง

[1] “เศรษฐา” แจงเป้าหมายโครงการ “แลนด์บริดจ์” หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ยันพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย, https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/politics/1248103/

[2] “ศิริกัญญา”จี้นายกฯแจง “แลนด์บริดจ์”ใหม่ หลังพูดข้อมูลผิด, https://www.thansettakij.com/politics/585067

[3] Thai land bridge may spell financial setbacks for Malaysian ports, https://www.freemalaysiatoday.com/category/highlight/2023/11/21/thai-land-bridge-may-spell-financial-setbacks-for-malaysian-ports/

 

[4] ขอมีส่วนใน ‘แลนด์บริดจ์’ สื่อรัฐบาลมาเลเซียเผย ‘มาเลเซีย’ ควรมีส่วนร่วมโดยตรง ในผลประโยชน์จากโครงการ, https://www.facebook.com/thestructure.live/posts/pfbid02myzAMbqmwD6g6HH25SbmfKMwe2AF89nF8mWy68tbZPzRfzzPjeqHtZEmYaGZR7t8l

[5] Thailand’s land bridge project will benefit Malaysia, says Anwar, https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2023/11/27/thailands-land-bridge-project-will-benefit-malaysia-says-anwar/

 

[6] “Thai landbridge plan poses critical challenge for Malaysian ports”, https://www.nst.com.my/business/economy/2023/11/981115/thai-landbridge-plan-poses-critical-challenge-malaysian-ports

 

[7] Nothing to worry about, says Loke on Thai land bridge idea, https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2023/11/21/nothing-to-worry-about-says-loke-on-thai-land-bridge-idea/

 

[8] Thailand’s Land Bridge and Why Singapore Is Not Too Worried About It, https://www.youtube.com/watch?v=XtHJ2ERM8Fg

 

[9] The Kra Canal and Why It Will Not Happen, https://www.youtube.com/watch?v=GXbAqaUdQds 

 

[10] Analysis: Thailand’s proposed land bridge project easier than Kra Canal idea, but steep challenges await, https://www.channelnewsasia.com/asia/thailand-srettha-thavisin-land-bridge-project-port-malacca-strait-canal-3860941 


[11] Higher costs likely for shippers that use proposed Thai land bridge project: Chee Hong Tat, https://www.straitstimes.com/singapore/politics/higher-costs-likely-for-shippers-that-use-proposed-thai-land-bridge-project-chee-hong-tat

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า