Newsมองประวัติศาสตร์ชนชาติจีน ที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลายร้อยชาติพันธุ์ เพื่อเปรียบเทียบ และขยายขอบเขตของประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ไปให้ไกลกว่ายุคสุโขทัย 700 ปี

มองประวัติศาสตร์ชนชาติจีน ที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลายร้อยชาติพันธุ์ เพื่อเปรียบเทียบ และขยายขอบเขตของประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ไปให้ไกลกว่ายุคสุโขทัย 700 ปี

นิยามของคำว่า “คนจีน” โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงคนที่สืบเชื้อสายมาจากคนของแผ่นดินที่ปัจจุบันเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้สืบเชื้อสายกระจายตัวอยู่ในทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยของเรา แต่ในเชิงรายละเอียดแล้ว คนจีนนั้น ประกอบไปด้วย เชื้อสายชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันอยู่ไม่น้อยกว่า 200 ชาติพันธุ์ [1] (แต่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลจีนเพียง 56 ชาติพันธุ์เท่านั้น [2])

 

และชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในหมู่คนจีนนั้น คือ “ชาวฮั่น” ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด มากกว่า 90% ของประชากรชาวจีนในปัจจุบัน และชาวฮั่นถือได้ว่าเป็นกลุ่มชนที่มีบทบาทมากที่สุดตลอดประวัติศาสตร์ 5,000 ปีของประเทศจีน

 

แต่คำถามที่น่าสนใจ แม้แต่ในหมู่คนจีนเองก็ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้คือ “ฮั่นแท้คืออะไร?” เนื่องจากตลอดประวัติศาสตร์จีน 5 พันปี ซึ่งชาวฮั่นมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นนั้นเกิดขึ้นมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชนชาติจีนยุคราชวงศ์เซี่ย (2070 – 1600 ปีก่อนคริสตกาล) พื้นที่ในปกครองของยุคนั้นถือได้ว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับพื้นที่ของประเทศจีนในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ปรากฏหลักฐานว่าราชวงศ์ชาง (1600 – 1045 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นราชวงศ์ถัดมา ราชวงศ์มีพื้นที่ในปกครองเพียง 1.25 ล้านตารางกิโลเมตร [3] ในขณะที่จีนในปัจจุบันมีพื้นที่มากถึง 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร 

 

นอกจากนี้ นิยามของคำว่า “ชาวฮั่น” ก็เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อ 206 ปีก่อนคริสตกาล ในขณะที่คำว่า “คนจีน” ที่ปรากฏในภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น มีข้อสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ฉิน” จากราชวงศ์ฉิน ซึ่งเป็นยุคแรกที่จีนปกครองด้วยระบอบจักรวรรดิ ถูกก่อตั้งก่อนหน้าราชวงศ์ฮั่นเพียง 15 ปี

 

อีกทั้งตลอดหน้าประวัติศาสตร์จีนนับจากนั้นมา ชาวฮั่นมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในยุค “5 ชนเผ่า 16 อาณาจักร” (ค.ศ. 304 – 439) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แผ่นดินจีนทางตอนเหนือถูกปกครองโดยชนเผ่า 5 ชนเผ่า (ซฺยงหนู, เจี๋ย, เซียนเป่ย, ตี และเชียง) 

 

และในช่วงเวลาดังกล่าว ชนเผ่าทั้ง 5 เหล่านั้นต่าง “ถูกกลืนกินทางวัฒนธรรม” เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นชาวฮั่น ใช้ชื่ออย่างฮั่น ใช้ชีวิตอย่างฮั่น และเรียกตัวเองว่าชาวฮั่น ซึ่งการหลอมกลืนดังกล่าวนั้นทำให้ชื่อของทั้ง 5 ชาติพันธุ์ไม่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์จีนอีกเลย

 

นอกจากนี้ ราชสกุลหลี่ ซึ่งเป็นผู้ปกครองจีนในยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) ภายหลังการรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งนั้น ความจริงแล้วก็เป็นชาวเซียนเป่ยที่แอบอ้างว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากหลี่ กวง นายพลชื่อดังในยุคราชวงศ์ฮั่น [4]

 

ทำให้เห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 5 พันปีของจีนนั้น ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยคนชนชาติเดียว แต่เกิดขึ้นจากหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งที่สูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ผ่านการหลอมรวมด้วยปัจจัยต่าง ๆ มาตลอด

 

นิยามของ “ชาวจีน” ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เริ่มต้นขึ้นในราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1636 – 1912) ซึ่งเป็นยุคที่ชาวแมนจู ซึ่งถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยขึ้นมาปกครองแผ่นดินจีน ซึ่งพื้นที่ในปกครองของชิงในเวลานั้น ยังรวมเอากลุ่มชาติพันธุ์มองโกล ซึ่งเคยปกครองจีนมาก่อนในยุคราชวงศ์หยวน โดยกุบไลข่าน พระราชนัดดา (หลาน)ของเจงกิสข่าน

 

ทำให้นักวิชาการในราชวงศ์ชิง สร้างแนวคิดชาตินิยมเพื่อหลอมรวมชาติพันธุ์ต่าง ๆ เอาไว้ในปกครอง และในเวลาต่อมา ทั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีน และพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอง ก็รับเอาแนวคิดดังกล่าวขึ้นมาพัฒนาต่อ เพื่อการปกครองแผ่นดินที่ประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์เข้าไว้ด้วยกัน [5]

 

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน จะประกาศนโยบาย “จีนเดียว” เพื่อการอ้างสิทธิเหนือไต้หวัน แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็ยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้คนในประเทศ ซึ่งแนวคิดเรื่องชาติพันธุ์ของชาวจีนในไต้หวันนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเรื่องนี้ เนื่องจากทั้ง 2 รัฐต่างก็สืบทอดแนวคิดชาตินิยมจีนซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากราชวงศ์ชิงเหมือนกัน

 

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยของเราเอง ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เกิดขึ้นจากการหลอมรวมผู้คนเข้าไว้ด้วยกันภายใต้แนวคิดชาตินิยมไทย ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับที่ ดร. ซุน ยัตเซ็น เองก็ผลักดันแนวคิดชาตินิยมจีนเช่นเดียวกัน

 

อย่างไรก็ดี ในทางวิชาการแล้ว ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยของเรานั้น ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยจุดกำเนิดของภาษาไทย ในยุคสุโขทัย ทำให้ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยของเรามีอายุเพียง 700 ปีเท่านั้น และตามบันทึกในประวัติศาสตร์ของชนชาติเรา เพียงระบุเอาไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรไทย ไม่ได้หมายความว่าทรงคิดค้นภาษาไทย

 

และเป็นที่น่าสนใจว่า กลุ่มชาติพันธุ์จีนบางกลุ่มนั้น มีภาษาที่คล้ายคลึงกับภาษาไทยมาก อีกทั้งภาษาไทยนั้นถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มภาษาไท-กะได ซึ่งเป็นภาษาที่พบในหลายพื้นที่ในเมียนมา, ลาว, จีน และอินเดีย

 

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานเชิงโบราณคดีที่ยืนยันว่า พื้นที่ประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีอารยธรรมที่เก่าแก่ย้อนไปได้ไกลกว่าสุโขทัย เช่นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 5 พันปี พอ ๆ กับอายุของประวัติศาสตร์จีน (และเก่าแก่กว่าอังกอร์ของกัมพูชา)

 

ดังนั้น ถ้าหากนักประวัติศาสตร์ไทย ไม่ยึดติดกับการประดิษฐ์อักษรไทย แต่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงผู้คนที่เคยอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินไทย ประวัติศาสตร์ชนชาติไทยของเรานั้น ย่อมจะย้อนไปได้ไกลเป็นพันปีด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

[1] Chih-yu Shih (2004), “Negotiating Ethnicity in China: Citizenship as a Response to the State”, ISBN 0-415-28372-8.

[2] “Into China Ethnically Conglomerate: China’s 56 Ethnic Groups”, https://en.chinaculture.org/focus/focus/minzuwang/2010-06/08/content_381865.htm 

[3] Peter Turchin, Jonathan  Adams and Thomas Hall (2006), “East-West Orientation of Historical Empires and Modern States”, http://jwsr.pitt.edu/ojs/jwsr/article/view/369/381 

[4] Sanping, Chen (Nov 1996). “Succession Struggle and the Ethnic Identity of the Tang Imperial House”. Journal of the Royal Asiatic Society. Third Series. 6 (3): 379–405., https://www.cambridge.org/core/journals/journal-of-the-royal-asiatic-society/article/abs/succession-struggle-and-the-ethnic-identity-of-the-tang-imperial-house/9833A3C945A374DD9BF864C5D318EFF9 

[5] Gang Zhao (2006), “Reinventing China: Imperial Qing Ideology and the Rise of Modern Chinese National Identity in the Early Twentieth Century”, https://web.archive.org/web/20140325231543/https://webspace.utexas.edu/hl4958/perspectives/Zhao%20-%20reinventing%20china.pdf

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า