Newsครั้งหนึ่งที่ญี่ปุ่นพยายามทำลาย ‘ทุนผูกขาด’ แต่สุดท้ายต้องล้มเลิก เพราะทุนใหญ่ก็มีคุณค่าในการคงอยู่ของตัวเอง โดย ชย

ครั้งหนึ่งที่ญี่ปุ่นพยายามทำลาย ‘ทุนผูกขาด’ แต่สุดท้ายต้องล้มเลิก เพราะทุนใหญ่ก็มีคุณค่าในการคงอยู่ของตัวเอง โดย ชย

ทุนใหญ่ในสายตาของหลายคนมักถูกมองในแง่ลบด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา และพยายามคิดวิธีในการลดทอนขีดความสามารถของทุนใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงการครอบงำตลาดหรือผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจภายในประเทศและเปิดทางให้ทุนย่อยเข้ามามีบทบาทในประเทศมากขึ้น

 

ทั้งหมดนี้ อาจดูดีในเรื่องการกระจายทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการมุ่งเน้นทุนย่อยให้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจแต่ในโลกความเป็นจริง การมุ่งเน้นระบบเศรษฐกิจแบบกระจายตัวแต่แรกหรือการปรับสภาพระบบเศรษฐกิจแบบกระจุกตัวให้เป็นแบบกระจายตัวกลับดำเนินการได้อย่างยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ไม่ได้มีศักยภาพทางอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีนวัตกรรมในช่วงเริ่มแรกมากนัก

 

ญี่ปุ่น คือ หนึ่งในประเทศที่เคยเป็นประเทศเกษตรกรรมในช่วงเวลาการปฏิวัติอุตสาหกรรมระยะแรก และเมื่อมีการแปรสภาพประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดปฏิรูปประเทศในลักษณะ “เศรษฐกิจแข็งแรง กองทัพแข็งแกร่ง” 

 

จึงเป็นการเปิดทางให้กลุ่มทุนเดิมของญี่ปุ่นที่เคยมีบทบาทในช่วงรัฐบาลโชกุน ให้จัดตั้งกลุ่มเครือข่ายทุนขนาดใหญ่ที่เป็นกระดูกสันหลังให้ทั้งรัฐบาลปฏิรูปเมจิ กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น ในนามของกลุ่มไซบัตสึ (Zaibatsu) ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการปฏิรูปประเทศให้กลายเป็นประเทศที่พลังทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหารในห้วงเวลาต่อมา

 

ซึ่งกลุ่มไซบัตสึในช่วงเริ่มแรก จะประกอบกันด้วย กลุ่มมิตซุย (Mitsui) กลุ่มซูมิโตโม (Sumitomo) ที่มีบทบาททางเศรษฐกิจมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลโชกุน และกลุ่มมิตซูบิชิ (Mitsubishi) กลุ่มยาซูดะ (Yasuda) ที่เริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจในช่วงยุคจักรพรรดิหลังการปฏิรูปเมจิเป็นต้นมา โดยเฉพาะในด้านการอุตสาหกรรมและการทหารที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามกระแสการปฏิรูปประเทศ

 

โดยเครือข่ายไซบัตสึในภายหลังที่ได้มีอิทธิพลในบริษัทและกลุ่มการค้าอื่น ๆ ของญี่ปุ่น จะได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากภาครัฐ เพื่ออุ้มชูอุตสาหกรรมภายในประเทศให้กำเนิดและเติบโตขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันเครือข่ายไซบัตสึก็จะสนับสนุนแนวทางนโยบายของภาครัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่ระหว่างประเทศ 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกำเนิดของเครือข่ายทางเศรษฐกิจอย่าง ไซบัตสึ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแปรสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้กลายเป็นเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมและเปลี่ยนญี่ปุ่นให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในเรื่องอำนาจทางการทหาร แต่ก็เป็นเหตุผลสำคัญเช่นกันที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในกำมือของไซบัตสึที่มีการเชื่อมโซ่ข้อต่อกันเป็นปึกแผ่นในรูปแบบของการสั่งการแนวตั้งจากบริษัทแม่สู่บริษัทลูก

 

แน่นอนว่า หากจะเรียกทุนไซบัตสึ ว่าเป็นทุนผูกขาดขนาดใหญ่ ก็ย่อมสามารถเรียกได้เต็มปาก เพราะมีการจับมือกันเป็นเครือข่ายเศรษฐกิจขนาดใหญ่รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่นโดยตรง และทุนขนาดเล็กในญี่ปุ่นช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมระยะที่ 2 ก็ยังไม่ได้มีบทบาทในทางเศรษฐกิจมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

 

จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอักษะภายใต้การนำของเยอรมัน ญี่ปุ่นและอิตาลี และฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ก็ต้องถูกสหรัฐอเมริกาในฐานะคู่สงครามเข้ามายึดครองประเทศตามข้อตกลงที่ได้ตกลงไว้

 

ตรงนี้จึงได้ทำให้เกิดความพยายามครั้งใหญ่จากสหรัฐอเมริกาในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศญี่ปุ่นใหม่ ทั้งการสลายอำนาจของกองทัพญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง การสร้างรากฐานของแนวคิดประชาธิปไตยในญี่ปุ่นให้แข็งแรงอีกครั้ง รวมทั้งการผลักดันนโยบายการพัฒนาแบบกระจายศูนย์ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งรวมทั้งการตัดกำลังทุนยักษ์ใหญ่อย่างไซบัตสึด้วย

 

ผ่านการออกกฎเกณฑ์ เงื่อนไข และคำสั่งต่าง ๆ เพื่อลดทอนอำนาจของทุนเหล่านี้ลงด้วยข้ออ้างสำคัญคือ การมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพญี่ปุ่นของทุนใหญ่ดังกล่าว จึงนำไปสู่การบังคับปรับโครงสร้างองค์กรและแยกบริษัทออกมาให้เป็นเอกเทศรวมถึงการยึดทรัพย์สินบางส่วนซึ่งมีหลายบริษัทในญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับมาตรการจนสิ้นสภาพความเป็นบริษัทอย่างกลุ่มยาซูดะ ที่เผชิญกับผลกระทบนี้โดยตรง

 

แถมสหรัฐอเมริกายังออกยาแรงอีกชุดหนึ่งที่เป็นการบ่อนทำลายทุนใหญ่อย่าง การปฏิรูปที่ดินและเพิ่มภาษีมรดก ซึ่งการปฏิรูปที่ดินนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้กว้างขวางมากขึ้นผ่านการบังคับให้ผู้ครองที่ดินขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้งาน ทำการขายที่ดินให้ชาวนาและประชาชนทั่วไป ส่วนการเพิ่มภาษีมรดกมีเพื่อพุ่งเป้าที่บรรดาเครือข่ายบริษัทยักษ์ใหญ่เก่าแก่ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเครือข่ายไซบัตสึในการโยกเม็ดเงินเหล่านี้มาที่ภาครัฐในรูปของภาษีและลดการกระจุกตัวทางการเงินของบริษัทเก่าแก่ไปด้วย

 

แต่เมื่อสงครามเย็นซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสหภาพโซเวียตและฝ่ายสหรัฐอเมริกาเริ่มรุนแรงขึ้น จากการปะทุความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มเปลี่ยนท่าทีของญี่ปุ่นจากเดิมที่เป็นศัตรูผู้ถูกยึดครองเป็นพันธมิตรชายขอบที่ต้องตั้งรับกับภัยคอมมิวนิสต์ภายนอกโดยตรง และทำให้นโยบายการบ่อนทำลายทุนใหญ่ญี่ปุ่นของสหรัฐอเมริกาก็เป็นอันยุติลงไป

 

แถมสหรัฐอเมริกาดันต้องการให้ญี่ปุ่นฟื้นฟูอุตสาหกรรมของตนเองที่ได้เคยถูกทำลายลงไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้เครือข่ายเศรษฐกิจอย่างไซบัตสึที่เคยสิ้นสภาพได้กลับมาฟื้นคืนอีกครั้งภายใต้ชื่อ เคเรนสึ ซึ่งเป็นการประกอบกันของบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 แห่งแรก พร้อมบริษัทขนาดย่อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาในฐานะพันธมิตรสำคัญในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์

 

แม้ว่าโครงสร้างของเคเรนสึจะไม่ได้แน่นหนามากนัก เมื่อเทียบกับไซบัตสึ แต่ก็แทบไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ทั้งในเรื่องแกนนำของเครือข่ายเศรษฐกิจ รูปแบบการปฏิบัติงาน รวมทั้งสัดส่วนทางเศรษฐกิจของเครือข่ายเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ยังอยู่ในสัดส่วนสูง และเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกันในการผลักดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากภาวะฟื้นฟูเศรษฐกิจกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำโลกในปัจจุบัน

 

สุดท้ายนี้ หากยังคงมองทุนใหญ่เป็นตัวร้ายบริสุทธิ์อย่างแท้จริงนั้น ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็คงไม่ได้เป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ ทั้งที่ก็มีรูปแบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกันในรูปแบบของเครือข่ายทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่รวมทั้งการสนับสนุนทางการเมืองควบคู่กับการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา และหากยังคงมีความแน่วแน่ที่จะสลายทุนใหญ่ให้หายไปจริง ๆ ต่อไปนั้น

 

“กรณีของญี่ปุ่น น่าจะสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่าง ถึงความยากในการจะสลายอำนาจทุนใหญ่               และดันสลายไม่สำเร็จเสียด้วย เนื่องจากทุนใหญ่ไม่เพียงมีความสามารถในการปรับตัว แต่ยังมีความสำคัญและคุณค่าในตัวเองต่อสังคมด้วยเช่นกัน”

 

โดย ชย

อ้างอิง:

[1] วิวัฒนาการของบริษัทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

https://mgronline.com/daily/detail/9470000051435

[2] Zaibatsu and “Keiretsu” – Understanding Japanese Enterprise Groups

https://corporate.findlaw.com/corporate-governance/zaibatsu-and-keiretsu-amp-150-understanding-japanese.html

[3] Birth of the Zaibatsu: Meiji Industrial Modernization

https://democraticac.de/?p=82002

[4] What was the Zaibatsu of Japan?

https://marketbusinessnews.com/financial-glossary/zaibatsu/

[5] Understanding Japanese Keiretsu

https://www.investopedia.com/articles/economics/09/japanese-keiretsu.asp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า