NewsHere We Go 34

Here We Go 34

เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีความทุกข์ใจร่วมกับคนไทยทั้งชาติ และทรงรับเอาทุกข์ของครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ที่ จ.หนองบัวลำภู มาเป็นทุกข์ของพระองค์เอง

 

ทรงเป็นห่วงดูแลและเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม พระราชทานกำลังใจไม่เฉพาะครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ แต่ทรงให้สติต่อพสกนิกรของพระองค์ในทั่วประเทศด้วยพระองค์เอง ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน


———-
เหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู
———-

 

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เป็นวันแห่งความเศร้าใจ ทุกข์ใจ และหดหู่ใจของคนทั้งประเทศ การที่คนคนหนึ่งไปยิงและฟันเด็กเล็กๆ อายุไม่ถึง 5 ขวบที่กำลังนอนหลับ ยิงคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เสียชีวิต บางคนเป็นเพื่อนกันด้วย แล้วจบด้วยการยิงตัวเอง เมีย และลูกวัย 3 ขวบ มีคนเสียชีวิตเกือบ 40 คน

 

สาเหตุสำคัญมาจากความเครียดสะสม การถูกกดดันจากความล้มเหลวของชีวิต โทษทัณฑ์ ที่กำลังจะได้รับจากการกระทำของตนเอง ความรู้สึกที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมได้ แม้แต่สังคมระดับหมู่บ้านที่ปลีกตัวออกมาใช้ชีวิต สุดท้ายการใช้ยาเสพติด

 

ทั้งหมดนี้สะสมอยู่ในจิตใจมายาวนาน จนในที่สุดไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ความคับแค้นใจ และการกระทำของตัวเองได้ เหตุเศร้าสลดจึงเกิดขึ้น


———-
เรียนรู้เพื่อลดโอกาสในอนาคต
———-

เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าเหตุทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก คนผิดหวังในชีวิต คนที่มีความคับแค้นใจยังมีอยู่มากในสังคม คนเสพยาเสพติดก็มีอยู่มากเช่นกัน

 

การดูแลความปลอดภัยในสังคมก็ยังทำได้ไม่ดีพอ การสร้างความเกลียดชัง ส่งเสริมการใช้ความรุนแรงด้วยถ้อยคำก็ดี การกระทำก็ดี กระทำได้อย่างเสรีในสื่อออนไลน์ การกระทำที่เรียกว่าบูลลี่ โดยคนกลุ่มหนึ่งที่รุมกระหน่ำซ้ำเติมการกระทำและจิตใจของคนคนหนึ่ง โดยปราศจากเหตุผลและความพอดี

 

เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงในสังคม และผู้รับเคราะห์กรรมก็หาได้เป็นคนที่ยุยงส่งเสริมสร้างความเกลียดชังไม่ แต่กลับเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ใช้ชีวิตอย่างปกติในสังคม

 

กรณีอดีตตำรวจที่ก่อเหตุสลดครั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องควรไปดูประวัติการใช้สื่อออนไลน์ของเขา และควรไปศึกษาวิเคราะห์ว่าข้อความที่เขาเสพในโลกออนไลน์ สร้างความคิดและส่งผลไปที่การกระทำของเขาหรือไม่อย่างไร

 

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่การปราบปรามยาเสพติดให้ดีกว่าเดิม หรือ การปฏิรูปตำรวจให้จริงจัง ถ้าเราเชื่อว่าจิตใจคือตัวกำหนดการกระทำ เราก็ต้องสร้างการบ่มเพาะจิตใจของผู้คน เยียวยารักษาบาดแผลการบาดเจ็บที่จิตใจ ให้ฟื้นฟูกลับคืนมา

 

ต้องทำให้คนไทยรู้สึกตรงกันว่า เราอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง แล้วอะไรบ้างที่เป็นตัวปัจจัยที่มีผลต่อจิตใจของผู้คน ถ้าค้นพบแล้ว ก็ต้องไปบริหารจัดการแก้ปัญหาตรงจุดนั้นๆ ให้ได้ต่อไป


———-
ประชาชนขาดที่พึ่งและถูกแบ่งแยกรุนแรง
———-

ย้อนกลับมาดูเรื่องบ้านเมืองของเรา เรายังติดกับดักของความขัดแย้งที่ยากต่อการประนีประนอม คนไทยกำลังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสองขั้วความคิดทางการเมือง

 

ขณะที่ขั้วที่สามก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนที่อยากมีชีวิตอย่างสงบสุขได้ ฝ่ายหนึ่งเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน สร้างความเชื่อ ความหวัง จัดตั้งแนวร่วม แปรแนวร่วมให้เป็นคะแนน เสียงเลือกตั้ง ครองเสียงข้างมากในสภา แก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมาย ทำบ้านเมืองให้เปลี่ยนแปลง ไปในรูปแบบที่พวกเขาต้องการ

 

อีกฝ่ายหนึ่งปฏิญาณตนลั่นสัจจะวาจา พร้อมสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องเสาหลักของชาติให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงตลอดไป ขั้วที่สามที่พอเป็นความหวังคือ พรรคการเมือง มีผลประโยชน์ของเจ้าของพรรคการเมืองเป็นเครื่องต่อรอง เดินหน้าเอาชนะทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ของชาติและประชาชน

 

คนไทยจึงมองไม่เห็นอนาคตของประเทศที่เขาจะอาศัยอยู่กันได้อย่างสงบสุข ความรุนแรงถูกซ่อนอยู่ในสังคมไทยทั้งสองขั้วของความแตกต่าง ที่พร้อมหยิบยื่นความรุนแรงให้แก่กัน ขณะที่อีกขั้วรอวันได้ประโยชน์ มีอำนาจ ทางการเมืองเพื่อกระทำในสิ่งที่พวกตนต้องการ

———-
ทำอย่างไรถึงจะเดินทางสายกลางได้?
———-

นี่คือความจริงของสังคมไทย เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจในประเทศนี้ที่ต้องบริหารจัดการ ความต่าง ความสุดโต่ง ความเกลียดชัง ผลประโยชน์ให้เข้าที่เข้าทาง เดินหน้าประเทศอย่างไรให้มีความพอดี อยู่ในทางสายกลาง การได้ประโยชน์และการเสียประโยชน์

 

โดยประโยชน์ที่ได้เป็นของส่วนรวม ประโยชน์ที่เสียไปเป็นของส่วนตน มันเหมือนความฝัน แต่ถ้าไม่จัดการให้ทุกอย่างลงตัว ก็น่าห่วงว่า เราจะอยู่กันอย่างมีความสุขได้อย่างไรต่อไป


———-
ระวังการหากินกับ 14ตุลา และ 6 ตุลา
———-

วันสำคัญในเดือนตุลาคมของทุกปีที่ประชาชนมักจะนึกถึงอีกวันหนึ่งคือ วันมหาวิปโยคเรียกร้องประชาธิปไตย 6 ตุลา และ 14 ตุลา กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มักจะชวนคนที่เคยมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวในตอนนั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอายุมากกว่า 60 ปีแทบทั้งสิ้น มาร่วมจัดกิจกรรม

 

ผู้ที่มีบทบาทช่วงนั้น ตอนนี้เสียชีวิตตามอายุขัยไปแล้วหลายคน นักศึกษาที่ประกาศจัดกิจกรรมรำลึกต่างๆ นานา หลายคนยังไม่เกิดด้วยซ้ำ

 

การจัดเสวนาปาฐกถาแต่ละปีต้องอาศัยนักวิชาการสายล้มระบอบมาเล่าเรื่อง ซึ่งจะบอกเหตุการณ์ในแบบที่เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่ หรือจะบิดเบือนประวัติศาสตร์ไปอย่างไร นักศึกษารุ่นนี้ไม่มีทางทราบได้ หากรู้ไม่เท่าทันก็เหมือนถูกปั่นหัวไปเรื่อยๆ ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หลงเชื่อ ตกเป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนต่อไป


———-
ฝ่ายการเมืองที่มุ่งแบ่งแยกประชาชน
———-

พรรคการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนระบอบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินบางพรรคก็ใช้โอกาสช่วงเดือนตุลาคมนี้เช่นกัน จัดอบรมบ่มเพาะเยาวชนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

 

เริ่มจากพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนในเมืองก็มีกลุ่มนักศึกษาที่เคยได้รับการอบรมมาแล้วจัดการไป พวกนี้ตั้งใจจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 กับ 6 ตุลา 19 มาใช้ปั่นหัวเยาวชน

 

คนที่จะไปพูดให้กลุ่มเยาวชนฟัง ล้วนแต่เป็นคนที่มีคดีติดตัวทั้งนั้นและไม่เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ด้วยซ้ำไป เรื่องแบบนี้บางครั้งปล่อยให้เยาวชนคิดเองคงลำบาก ควรต้องมีกลไกที่สร้างความสมดุลเรื่องการให้ข้อมูลเทียบเคียงกันจะได้รู้ว่าใครโกหก ใครบิดเบือน พรรคไหนที่ชอบฉวยโอกาส

 

เพราะก่อนนี้เคยมีตัวอย่างที่พรรคการเมืองใช้บทบาท ส.ส. ของพรรค ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการบางคณะ ทำหนังสือถึงโรงเรียนต่างๆ ให้ส่งเด็กมาอบรมเรื่องการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย แต่กลับให้คนที่มีคดีอาญาติดตัวไปพูดเรื่องล้มล้างสถาบันให้เด็กๆ ฟัง

 

เรียกว่าเนื้อหาไม่ตรงปก ต้องการสร้างขั้ว สร้างแนวร่วม ใส่ความเกลียดชังให้เด็กด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง การทำแบบนี้จะเรียกว่าอะไร พูดอย่าง ทำอย่าง พรรคการเมือง นักการเมืองแบบนี้จะเชื่อถือได้อีกหรือไม่ สถานศึกษาจะทำอย่างไรต่อ จะหาทางป้องกันอย่างไร

 

สภาผู้แทนจะทำอย่างไร จะปล่อยให้คนเหล่านี้ที่มีเจตนาชัดเจนในการใช้บทบาทของสภา ทำลายระบอบการปกครองที่เป็นอยู่แบบนี้ต่อไปหรือ ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางป้องกัน

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า