Newsเปิดแนวคิด “พัฒนาด้านวัตถุ แต่รักษาแก่นสาร” ที่สามารถผลักดันให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยที่ยังคงรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมแต่ครั้งโบราณไว้ได้อย่างลงตัว

เปิดแนวคิด “พัฒนาด้านวัตถุ แต่รักษาแก่นสาร” ที่สามารถผลักดันให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยที่ยังคงรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมแต่ครั้งโบราณไว้ได้อย่างลงตัว

ภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของญี่ปุ่น คือเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมร่วมสมัย เทคโนโลยีที่ดูล้ำสมัย และนวัตกรรมมากมายที่ได้กลายเป็นที่จดจำของคนในโลก ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาข้อมือดิจิทัล เครื่องคิดเลขพกพา กล้องถ่ายรูปดิจิทัล รถยนต์ รวมทั้งเครื่องมือความบันเทิงนานาชนิด ฯลฯ

 

ญี่ปุ่นที่ได้กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชียกลับสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งการทำให้ทันสมัยทันโลกพร้อมกับการรักษาวัฒนธรรมส่วนหนึ่งไปด้วยกันได้และมีการนำวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีออกมาสู่เวทีโลกจนกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีส่วนหนึ่งของโลกได้เกิดขึ้นอยู่บนรากฐานทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นทั้งในทางตรงและทางอ้อม

 

โดยจุดเริ่มต้นของแนวคิด “พัฒนาด้านวัตถุแต่รักษาแก่นสาร” ได้ถูกจุดประกายขึ้น หลังจากการที่รัฐบาลบาคุฟุได้ยุตินโยบายการโดดเดี่ยวตนเองที่ได้เคยดำรงอยู่มาหลายร้อยปีภายใต้โชกุนตระกูลโตกุกะวาเนื่องจากการถูกชาติตะวันตกขู่ว่าจะปิดน่านน้ำ หากไม่ยอมเปิดประเทศเพื่อทำการค้า ผ่านนโยบายเรือปืน 

 

ซึ่งจุดประสงค์เดิมของนโยบายการปิดประเทศและโดดเดี่ยวตนเองก็เพื่อปิดกั้นไม่ให้อิทธิพลของชาติอื่นเข้ามาครอบงำในทุกรูปแบบและเป็นนโยบายที่รัฐบาลโชกุนได้มองว่า เป็นนโยบายที่นำความสงบสุขมาสู่ญี่ปุ่นโบราณมาโดยตลอด จนถูกท้าทายครั้งใหญ่จากเหตุการณ์การเจรจาทางการทูตกับกองเรือปืนของสหรัฐอเมริกาจนนำไปสู่การยกเลิกนโยบายปิดประเทศในเวลาต่อมา

 

ตรงนี้จึงทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่พอใจรัฐบาลโชกุนที่แสดงความอ่อนแอออกมาและเกิดการทำร้ายชาวต่างชาติตามเมืองท่าต่าง ๆ จนเกิดการตอบโต้จากกองเรือชาติตะวันตกต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และในภายหลังจะมีการเผชิญหน้าของกลุ่มคนสองกลุ่ม คือ กลุ่มขั้วอำนาจโชกุนและกลุ่มขั้วอำนาจไดเมียวท้องถิ่นทางใต้ ซึ่งกลุ่มขั้วอำนาจหลังจะชูโรงในเรื่องการฟื้นฟูบทบาทของจักรพรรดิญี่ปุ่นให้กลับมามีบทบาทนำอีกครั้ง

 

ซึ่งในมุมของกลุ่มฟื้นฟูจักรพรรดิจะมองว่า หากจะมีอำนาจต่อรองและเผชิญหน้ากับต่างประเทศได้ จะต้องมีเทคโนโลยีและพลังกำลังที่เทียบเท่าจึงจะสามารถอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะต้องปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงอะไร หากแก่นหลักของประเทศยังคงอยู่ดี ก็จะต้องทำเพื่อความอยู่รอด ซึ่งต่างจากกลุ่มขั้วอำนาจโชกุนที่แม้ว่าจะมีมุมมองเป็นมิตรกับชาติตะวันตกมากกว่าแต่ก็ไม่สามารถตัดสินใจนโยบายปฏิรูปประเทศแบบสุดตัวได้เนื่องจากจะเป็นการขัดขากลุ่มผลประโยชน์มากมายที่อยู่ในขั้วอำนาจโชกุน

 

ต่อมาทั้ง 2 ขั้วอำนาจก็เกิดการเผชิญหน้าจนเกิดสงครามโบชินที่นำไปสู่ชัยชนะของกลุ่มฟื้นฟูจักรพรรดิซึ่งได้ประกาศฟื้นฟูระบอบจักรพรรดิหรือสามารถเรียกได้ว่า “การปฏิรูปเมจิ” ซึ่งการปฏิรูปได้มีแกนหลักจาก “เศรษฐกิจดี การทหารดี” ซึ่งคือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าควบคู่กับการพัฒนาทางการทหารที่เป็นรากฐานของการสร้างความมั่นคงในประเทศ โดยจุดสำคัญของเรื่องนี้ คือ การปฏิรูปเหล่านี้ได้ปฏิรูประดับที่ว่า มีการยกเลิกชนชั้นซามูไร ยกเลิกไดเมียว ยกเลิกการแบ่งแยกระหว่างชนชั้นอย่างเป็นทางการ และฟื้นฟูจักรพรรดิ พัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง รวมทั้งริเริ่มวัฒนธรรมระดับชาติมากมาย

 

เพื่อให้ประเทศชาติสามารถอยู่รอดและมีที่ยืนในเวทีโลก จึงได้ผลักดันนโยบายเหล่านี้ออกมาอย่างจริงจัง แม้ว่าจะเกิดการต่อต้านมากมายจากผู้คนในสังคมก็ตาม แต่สุดท้ายการปฏิรูปขนานใหญ่นี้ก็สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างเต็มที่และแปรสภาพประเทศญี่ปุ่นโบราณที่เคยมีเทคโนโลยีล้าหลัง กลายเป็นญี่ปุ่นใหม่ที่ทรงพลังและสามารถเผชิญหน้ากับมหาอำนาจต่าง ๆ ได้มากมาย ทั้งต่อจีน ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และรัสเซีย เยอรมัน ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในช่วงสงครามพิพาทดินแดนและสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามลำดับ

 

จนทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจในสายตาของชาติตะวันตกในเวลาต่อมา ซึ่งหลักคิดของญี่ปุ่นจะประสบพบเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นใหม่ได้เผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาที่เคยแกมบังคับให้เปิดประเทศเมื่อก่อนหน้า ซึ่งสุดท้ายแล้วญี่ปุ่นก็แพ้สงครามด้วยเหตุด้านยุทธปัจจัยและกำลังผลิตที่ด้อยกว่าสหรัฐอเมริกามาก และก็ถูกสหรัฐอเมริกายึดครองในชั่วขณะหนึ่ง

 

ความพ่ายแพ้เหล่านี้ได้ปิดประตูกุญแจสำคัญชิ้นหนึ่งในการรักษาความอยู่รอดของแก่นหลักประเทศ คือ การมีอำนาจต่อรองทางการทหารที่เท่าเทียมกับชาติตะวันตก แต่ก็เป็นเหตุสำคัญต่อการพัฒนากุญแจอีกชิ้นหนึ่งที่ต่อมาจะกลายเป็นกลไกหลักของประเทศ คือ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งเมื่อสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนนโยบายต่อญี่ปุ่น ก็ได้ปลดปล่อยและสนับสนุนญี่ปุ่นเพื่อเป็นด่านหน้าในการตั้งรับต่อภัยคุกคามลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังก่อตัวในช่วงสงครามเย็น

 

และญี่ปุ่นก็ใช้โอกาสที่สหรัฐอเมริกาคุ้มครองญี่ปุ่นในฐานะประเทศพันธมิตรโลกเสรี ในการขับเคลื่อนเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเต็มตัว จนในเวลาไม่กี่สิบปี ญี่ปุ่นได้กลายเป็นมหาอำนาจของโลกอีกครั้ง แต่เป็นมหาอำนาจในทางเศรษฐกิจแทน และเมื่อญี่ปุ่นได้ส่งออกเทคโนโลยีนวัตกรรมสู่โลกก็ไม่ได้ส่งออกเพียงสิ่งของเท่านั้นแต่ได้ส่งออกแนวคิดวัฒนธรรมของญี่ปุ่นออกไปสู่เวทีโลกเช่นเดียวกัน

 

อย่างรถยนต์ญี่ปุ่นที่สามารถตีตลาดสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 70 – 80 ได้เป็นอย่างดีก็เพราะญี่ปุ่นได้ริเริ่มแนวคิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพและสร้างรถยนต์ที่มีขนาดเล็กซึ่งประหยัดน้ำมันมากกว่ารถยนต์อเมริกันที่มีขนาดใหญ่และกินน้ำมันมากกว่า รวมทั้งอุปกรณ์และสื่อความบันเทิงมากมายที่เกิดจากกิจกรรมอดิเรกของคนญี่ปุ่นซึ่งได้แพร่หลายสู่ผู้คนจำนวนมากและยังคงได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน

 

ทั้งหมดนี้คือการปรับตัวมาเป็นการนำวัฒนธรรมและค่านิยมของประเทศเข้าไปแฝงในเทคโนโลยีนวัตกรรมของญี่ปุ่นที่ได้ส่งออกสู่ประเทศต่าง ๆ เพื่อให้วัฒนธรรมและแก่นหลักของประเทศจะยังคงอยู่ทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งตราบที่เทคโนโลยีนวัตกรรมและอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังมีอิทธิพลต่อโลกอยู่ กลไกการรักษาความทันสมัยและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการรักษาแก่นวัฒนธรรมหลักของประเทศก็จะยังคงดำรงอยู่ได้ จากการใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจในการรักษาประเทศให้อยู่รอดและมั่งคั่งในสังคมร่วมสมัย

 

สุดท้ายนี้ ญี่ปุ่นได้รักษาความลงตัวทั้งการเป็นสังคมทันสมัยและการเป็นสังคมอนุรักษนิยมทางวัฒนธรรมมาโดยตลอดก็เพราะได้ใช้กลไกทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนวัตกรรมที่มีอยู่ในการนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศพร้อมเผยแพร่สู่สังคมภาพใหญ่ในระดับโลกและแม้ว่าญี่ปุ่นปัจจุบันจะประสบกับความท้าทายมากมายในการรักษาสถานะเดิมของประเทศให้ยังคงอยู่รอดและมั่งคั่งต่อไป แต่ภาพจำของการนำสิ่งใหม่เข้ามาในประเทศขนานไปกับการรักษาของเก่าของประเทศญี่ปุ่นก็จะยังคงเป็นที่จดจำของหลาย ๆ คน ในฐานะนโยบายและแนวคิดที่สามารถศึกษาพร้อมต่อยอดให้เข้ากับบริบทของประเทศที่มีอยู่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง   

 

โดย ชย

อ้างอิง:

[1] Japan isolated itself from the rest of the world for 265 years. Here’s why. 

https://bigthink.com/the-past/japan-sakoku-shogunate/

[2] The Meiji Restoration and Modernization

http://afe.easia.columbia.edu/special/japan_1750_meiji.htm

[3] Japan Back Then: The Stories That Gripped the Nation in the 1980s

https://www.tokyoweekender.com/art_and_culture/japanese-culture/japan-back-then-the-stories-that-gripped-the-nation-in-the-1980s/

[4] TRADITIONAL CULTURES AND MODERNIZATION

https://www2.kokugakuin.ac.jp/ijcc/wp/cimac/hirai.html

[5] Brief Overview of Japanese Culture

https://doyouknowjapan.com/culture/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า