
ก้าวไกล – 7 พรรคร่วม แสดงจุดยืน “ไม่เห็นด้วย” กับการแบ่งแยกดินแดน ขององค์กรนักศึกษา สามจังหวัดชายแดนใต้ ชี้ เป็นวิธีการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถทำได้
9 มิ.ย. 66 คณะทำงานย่อยพรรคร่วมรัฐบาล ว่าด้วยสันติภาพชายแดนใต้-ปาตานี ซึ่งเป็นคณะทำงานย่อยของคณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ได้จัดประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกที่พรรคก้าวไกล โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคร่วมมาอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคประชาชาติ มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายมุข สุไลมาน รองหัวหน้าพรรค นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย
นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการวางกรอบในการทำงานร่วมกันตามที่ที่แต่ละพรรคให้สัญญาประชาชนไว้ และจะมีการลงรายละเอียดในการประชุมครั้งหน้า โดยนัดหารือที่พรรคประชาชาติ ในวันที่ 19 มิ.ย.
โดยต่างเห็นพ้องที่จะให้ลดบทบาท วิธีคิด และกลไกทางทหารลง แต่เพิ่มบทบาทพลเรือนมากขึ้น โดยเฉพาะตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน นั่นคือบทบาทรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร
นายรอมฎอนยังได้ระบุด้วยว่า ที่ประชุมมีการพูดถึงกรณีเปิดตัวขององค์กรนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้ ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ยืนยันว่ากรอบการทำงานจะยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกไปของรัฐปัตตานี (ปาตานี) แต่จะใช้วิธีการกระจายอำนาจให้กับประชาชนในท้องถิ่นให้มากขึ้น
ไม่ห่วงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องของความรุนแรง เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นการกล้าเผชิญ คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา
สำหรับหน่วยงานความมั่นคงนั้น เป็นระบบราชการภายใต้รัฐบาลอยู่แล้ว จะต้องมีการพูดคุยกัน แต่ระหว่างนี้ผู้รับผิดชอบของ 8 พรรคการเมือง ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว
ส่วนแนวคิดการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนที่รัฐบาลเดิมได้ทำมานั้น ที่ประชุมยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่
สำหรับการยุบ กอ.รมน. นั้น ต้องอาศัยฉันทามติร่วมกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
ด้านนายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ย้ำว่าถ้าเป็นการทำประชามติ เพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เราไม่สนับสนุน เพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เราเปิดเสรีในการแสดงออกของประชาชน และไม่กังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ