‘กานา’ นำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยยึดหลัก‘ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง-เกษตรทฤษฎีใหม่’ ยกให้เป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ไทย-กานา ขยายความร่วมมือด้านเกษตรกรรม, ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ ยกให้เป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ไทยและกานาได้ขยายความร่วมมือกันในด้านเกษตรกรรม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ โดยความร่วมมือนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านไทยพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยี องค์ความรู้ ให้คำแนะนำ และผลักดันความร่วมมือสู่ความสำเร็จระหว่างประเทศ
ประเทศกานามีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวและเพิ่มผลผลิตภายในประเทศมากขึ้น จึงสนใจในแนวทางพระราชดำริว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการทำการเกษตรแบบ BCG Model โดยกานาชื่นชมโครงการข้าวรักษ์โลกของไทยที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี และเป็นแนวทางใหม่ของการทำเกษตรกรรมโลก
โดยโครงการข้าวรักษ์โลก เป็นต้นแบบการปฏิวัติการทำนาแบบยั่งยืนตามที่นายกฯ ได้ให้แนวทางไว้ จากแนวคิดการผลิตข้าวแบบใหม่ โดยการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้เพื่อการผลิตและลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต ข้าวที่ได้มีคุณภาพสูง และสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากโครงการข้าวรักษ์โลกตอบโจทย์กระแสผู้บริโภคในโลกยุคปัจจุบัน ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและขยายความร่วมมือด้านเกษตรกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งกานาเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอับดับที่ 74 ของไทย โดยไทยพร้อมให้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี สนับสนุนองค์ความรู้ สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ ผ่านโครงการที่ได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โคกหนองนาโมเดล
โดยไทยและกานาจะร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูล สนับสนุนด้านวิชาการ เครื่องมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศต่อไป