พบธุรกิจเหล็กโกง VAT อื้อ ! สรรพากรลุยแก้เกมส์ใบกำกับภาษีปลอมของซาเล้ง เปลี่ยนกฎหมายให้ผู้ผลิตรายใหญ่สามารถหัก-นำส่งภาษีซื้อได้เอง
สรรพากรลุยแก้กฎหมายปราบธุรกิจเหล็กหลังพบว่าออกใบกำกับภาษีปลอม เร่งทำ “รีเวิร์ส ชาร์จ” ตีกรอบให้ผู้ซื้อสินค้า-บริการ เป็นผู้นำส่งภาษี VAT พร้อมเปิดทางให้ ผู้ผลิตรายใหญ่สามารถหัก-นำส่งภาษีซื้อได้เอง
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมกำลังเดินหน้าแก้ปัญหาใบกำกับภาษีปลอม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหล็ก หลังมีการตรวจพบปัญหาใบกำกับภาษีปลอมจำนวนมากหลายคดี ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยขณะนี้กรมกำลังปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แทนผู้ขายสินค้า (รีเวิร์ส ชาร์จ) ได้ ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่การนำส่งและออกหลักฐาน หรือใบกำกับภาษี จะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ขายเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งคาดจะออกกฎหมายได้ภายในปีนี้ และเริ่มใช้ปีหน้า
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็ก มีผู้เกี่ยวข้องรายเล็ก รายใหญ่จำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ โรงหลอม ดีลเลอร์ ผู้รวบรวมไปจนถึงรถซาเล้งรับซื้อของเก่า ซึ่งบางรายก็มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้อง บางส่วนไม่ได้จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เวลายื่นภาษีจะต้องนำภาษีซื้อและภาษีขายมาคำนวณ ซึ่งการคิดภาษีขายมักไม่มีปัญหา เพราะสามารถออกเองได้ แต่จะมีปัญหาตรงภาษีซื้อ ที่จะต้องขอจากรายเล็กที่มาขายของให้ ซึ่งบางรายไม่มี หรือออกใบปลอมมา ก็ทำให้โรงผลิตเหล็กเข้าข่ายปลอมภาษีไปด้วย ดังนั้นกรมจึงแก้กฎหมายให้ผู้ซื้อที่อยู่ในระบบภาษีถูกต้องสามารถเป็นผู้นำส่งภาษีแทนผู้ขาย เพื่อช่วยลดปัญหาการปลอมแปลง
เบื้องต้นการออกกฎหมายนี้จะนำร่องใช้กับอุตสาหกรรมเหล็กก่อน ซึ่งเปิดให้ผู้ซื้อเป็นผู้นำส่งภาษีและออกหลักฐานการเสียภาษีได้ทั้ง 2 ขา เช่น ต่อไปหากรถซาเล้งมาขายเหล็กให้ โรงผลิตเหล็กก็สามารถคิดภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อ และนำส่งให้สรรพากรได้เลย ไม่ต้องเสี่ยงกับใบกำกับภาษีปลอม ขณะเดียวกันก็เป็นแรงจูงใจให้คนที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยากเข้ามาอยู่ในระบบได้ง่ายขึ้นด้วย โดยมีผู้ซื้อ ผู้ขาย ซัพพลายเชน เข้ามาช่วยสนับสนุน ก็จะได้ประโยชน์ทั้งอุตสาหกรรม และลดการรั่วไหลจากปัญหาใบกำกับภาษีปลอม
สาเหตุที่ต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากมีการปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มในธุรกิจนี้จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่ตั้งใจปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อหวังขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าปกติ และทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจปลอมใบกำกับภาษี แต่เนื่องจากโรงหลอมเหล็กที่เป็นผู้รับซื้อเศษเหล็ก อาจมีใบกำกับภาษีปลอมติดเข้ามาด้วย เมื่อกรมตรวจพบก็จะกลายเป็นคดีโกงภาษีไปด้วย โดยในระยะสั้นจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ในระยะยาวอาจต้องแก้ที่ประมวลรัษฎากร
จากการหารือกับผู้ประกอบการเหล็ก ส่วนใหญ่เห็นด้วย และพร้อมจะเข้าร่วมเป็นระบบรีเวิร์ส ชาร์จ โดยผู้ซื้อจะรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งให้ทั้งขาซื้อ ขาขาย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาใบกำกับภาษีได้ครบวงจร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมาย และกำลังดูรายละเอียดเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็ดูว่าจะทำเป็นแบบภาคบังคับหรือสมัครใจ หากเปิดให้เลือกเองได้ ใครเข้ามาร่วม กรมก็ถือว่ามีความบริสุทธิ์ใจที่จะเข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง ก็จะได้รับการอำนายความสะดวกมากกว่าคนที่ไม่เข้าร่วม ซึ่งอาจจะมีการติดตามมากกว่า โดยหากทำแล้วประสบความสำเร็จ ก็อาจมีการขยายไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นเพื่อแก้ปัญหาใบกำกับภาษีปลอมต่อไป
#TheStructureNews
#ธุรกิจเหล็ก #ใบกำกับภาษีปลอม
ตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญ ‘ปิยบุตร’ เผยแนวทางแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตอบโต้ ชี้ครั้งนี้ฝ่ายนิติบัญญัติ ถูกรุกล้ำอำนาจ
รัสเซียตอบโต้ YouTube เตรียมลดความเร็วดาวน์โหลด โดยอาจจะลดความเร็วลงถึง 70% ในสัปดาห์หน้า
ธปท. ออกโครงการ แก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรอีสาน ชี้ ‘มาตรการพักหนี้’ ยิ่งทำ เกษตรกรยิ่งเป็นหนี้
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม