Newsความอ่อนแอของเศรษฐกิจลาว ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก่อหนี้สินสาธารณะเกินตัว จนนำไปสู่วิกฤตซ้อนวิกฤตในปัจจุบัน โดย ชย

ความอ่อนแอของเศรษฐกิจลาว ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก่อหนี้สินสาธารณะเกินตัว จนนำไปสู่วิกฤตซ้อนวิกฤตในปัจจุบัน โดย ชย

ข่าวสารต่างประเทศมากมายในช่วงระยะหลังมานี้ได้มีการกล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจลาวที่อยู่ในภาวะวิกฤตในหลายส่วนทั้งระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่มีจำนวนมาก ระดับทุนสำรองต่างประเทศที่มีน้อยนิดและรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ยาก รวมทั้งระดับเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงโดยไม่มีแนวโน้มที่ว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงต่อจากนี้

 

แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ก็เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตได้เช่นนี้ แต่ได้มีการสะสมมาเรื่อย ๆ ด้วยปัจจัยภายในมากมายที่ถูกซ้ำเติมด้วยปัจจัยภายนอกอีกมากเช่นกัน จนทำให้กลายเป็นเหตุการณ์ในข่าวสารต่างประเทศที่ได้มีการกล่าวถึงและนำเสนอเป็นจำนวนมาก

 

อย่างแรกเลย ลาว เป็นประเทศที่มีรายได้สำคัญจากสินค้าปฐมภูมิจำพวกทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐานจำนวนมาก และด้วยที่ขนาดเศรษฐกิจลาวมีขนาดเล็กรวมทั้งไม่ได้มีเทคโนโลยีในประเทศมากนัก จึงต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจชายแดนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อมองภูมิประเทศของลาวที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเลซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการค้าขายและสร้างเสริมพลังทางเศรษฐกิจในประเทศส่วนใหญ่บนโลก

 

โดยเฉพาะเมื่อลาวได้มีการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและมีนโยบายเอื้อให้นักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ก็ได้กลายเป็นจังหวะสำคัญในการลงทุนในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคส่วนพลังงาน ภาคส่วนทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งภาพส่วนการก่อสร้างต่าง ๆ จากนักลงทุนต่างประเทศที่มองเห็นในศักยภาพของประเทศลาวที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และมีแรงงานจำนวนมากที่สามารถใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมัยใหม่ของลาวจนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องหลายปี

 

และจังหวะสำคัญก็ได้มาถึง เมื่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ได้เกิดขึ้นจากจีนในนามของโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อจีนเข้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งทางบกและทางน้ำ โดยที่ลาวนอกจากจะอยู่ในแผนการเชื่อมต่อของจีนแล้วก็ยังมีการผลักดันการพัฒนาด้านการคมนาคมอย่างจริงจังเพื่อแปรสภาพประเทศจากประเทศที่ถูกล้อมด้วยผืนดิน (Land Lock) ให้กลายประเทศที่เป็นจุดเชื่อมต่อสู่ประเทศต่าง ๆ (Land Link) 

 

รายละเอียดสำคัญของการพัฒนาขนาดใหญ่นี้มีทั้งการลงทุนในระบบรางและระบบถนนเพื่อการเชื่อมต่อระหว่างจีนและลาว การลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติและไฟฟ้าซึ่งเป็นรายได้หลักของลาวในเรื่องการขายวัตถุดิบพื้นฐานและไฟฟ้าสู่ประเทศอื่น ๆ ในฐานะ “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” รวมทั้งการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในลาว ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น

 

แต่มูลค่าการลงทุนที่มหาศาลก็ทำให้ลาวต้องแบกรับภาระหนี้สาธารณะในจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีระดับหนี้ต่างประเทศในระดับสูงกับจีน เพื่อใช้เงินกู้จำนวนมากในการพัฒนาประเทศในการผลักดันโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ต่าง ๆ ให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง 

 

จุดพลิกผันแรกของลาวได้เกิดขึ้นเมื่อเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลทำให้ต้องมีการปิดการเข้า-ออก ประเทศ เพื่อควบคุมการติดเชื้อในประเทศ ที่กลายเป็นการทำลายรายได้สำคัญอีกส่วนหนึ่งของลาวคือ การท่องเที่ยว ไปแทบทั้งหมด และแม้ว่ารายได้การท่องเที่ยวจะไม่ได้มีมากนักแต่ก็เป็นช่องทางขนาดใหญ่ในการได้รับเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ไม่แพ้การขายทรัพยากรพื้นฐานและไฟฟ้าเลยทีเดียว 

 

อีกจุดชี้ขาดชะตาเศรษฐกิจลาวสำคัญ คือ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเมื่อเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ก็ทำให้ราคาสินค้าพื้นฐานจำนวนมากปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำพวกพลังงาน ซึ่งลาวต้องพึ่งพาทรัพยากรพลังงานจากภายนอกแทบทั้งหมด จึงประสบกับการผันผวนทางราคาอยู่บ่อยครั้งและทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

ประกอบกับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาได้ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาก เมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นบนโลก และทำให้ค่าเงินต่าง ๆ อ่อนค่าลง จากการไหลกลับของเงินทุนต่าง ๆ ไปที่สหรัฐอเมริกามากขึ้น ซึ่งการที่ค่าเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลงก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมต้นทุนการนำเข้าให้สูงขึ้นไปอีก

 

ทว่า จุดที่ทำให้เศรษฐกิจลาวที่เคยเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูง ๆ มาก่อนหน้า กลายเป็นประเทศที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจซ้อนวิกฤต ได้เกิดจากภาระหนี้สาธารณะที่ได้ก่อขึ้นในปริมาณมหาศาลและเป็นหนี้ต่างประเทศโดยส่วนใหญ่ ซึ่งหากค่าเงินอ่อนค่าลง ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาระหนี้สินให้รุนแรงยิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีปริมาณหนี้สินเท่าเดิมก็ตาม

 

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า การชำระหนี้สินต่างประเทศจะต้องใช้ค่าเงินต่างประเทศนั้น ๆ ซึ่งลาวในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีภาวะตึงตัวในเรื่องการสะสมเงินสำรองต่างประเทศอยู่แล้ว และด้วยที่ไม่ได้มีการสะสมเงินสำรองต่างประเทศมากเพียงพอตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า ก็ทำให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตขึ้นมา

 

วิกฤตแรก คือ วิกฤตหนี้สาธารณะ ที่มีภาระผูกผันที่จะต้องชำระคืนในภายหลังเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องหยิบเงินตราสำรองต่างประเทศมาชำระเป็นรายงวดไป โดยบ่อยครั้งที่วงเงินต้องชำระต่อรอบมีมากจนภาครัฐต้องมีการขายสินทรัพย์เพื่อใช้ในการชดใช้หนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในแต่ละงวด 

 

ถัดไป คือ วิกฤตพลังงาน ที่เกิดจากต้นทุนพลังงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและการเสื่อมมูลค่าของค่าเงินกีบที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งทำให้ต้องใช้ค่าเงินต่างประเทศในการนำเข้าที่มากขึ้นและเพิ่มภาระต้นทุนพลังงานในประเทศให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นอีกสาเหตุสำคัญของวิกฤตเงินเฟ้อที่ได้ทยอยเกิดขึ้นพร้อมกันอีกด้วย

 

ยังไม่นับวิกฤตเงินเฟ้อที่ได้เกิดขึ้นจากปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศที่น้อยลงอย่างรวดเร็ว สัดส่วนรายรับที่น้อยลง และค่าเงินได้เริ่มอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อมองเศรษฐกิจลาวที่พึ่งพิงแทบทุกอย่างจากภายนอกประเทศก็ชัดเจนแล้วว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้หลายเหตุการณ์ด้วยกัน ก็กล่าวได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตซ้อนวิกฤตเศรษฐกิจของลาวในทุกวันนี้ 

สุดท้ายนี้ เมื่อหลายคนมองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็มักจะมองว่ายิ่งเติบโตสูง ๆ ก็ย่อมเป็นเรื่องดี เมื่อเทียบกับประเทศที่โตช้า แต่มีหลายกรณีก่อนหน้า ที่ประเทศเติบโตสูง ๆ บางส่วน ได้กู้ยืมหนี้สินต่างประเทศจำนวนมากเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศและเมื่อเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิดหลายเหตุการณ์พร้อมกันก็จะแปรเปลี่ยนความเจริญเหล่านี้ให้เป็นวิกฤตหนี้สินมหึมา วิกฤตเงินเฟ้อ และวิกฤตทางการเงินที่รออยู่ข้างหน้า

 

ดังนั้นแล้ว ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแข็งแรงนั้น ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเจริญเติบโตในระดับสูง ๆ โดยไม่มีพื้นฐานเสถียรภาพที่เข้มแข็งรองรับ เพราะเศรษฐกิจที่ไม่มีพื้นฐานก็คือเศรษฐกิจที่รอวันล่มสลายเท่านั้นเอง และระบบการเงินที่เน้นเสถียรภาพนั้น ย่อมสามารถที่จะต้านทานวิกฤตเศรษฐกิจและผ่อนหนักผ่อนเบาวิกฤตเหล่านี้ให้จางลง และแปรเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ไปข้างหน้าต่อไป

โดย ชย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า