
เริ่มแล้ว! ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) สหภาพยุโรปเปิดตัวภาษีชายแดนคาร์บอนเฟสแรก บังคับใช้กับการนำเข้า 5 สินค้นอุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ อลูมิเนียม,เหล็ก, ซีเมนต์, ไฟฟ้า, ไฮโดรเจน
สหภาพยุโรปเปิดตัวมาตรการภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนเฟสแรกเมื่อวันอาทิตย์ (1 ต.ค.) โดยเริ่มนำร่องกับการนำเข้า เหล็ก อลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะกลายเป็นภูมิภาคที่เป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ (climate-neutral region)
ในช่วงเฟสแรก (1 ต.ค.2023 – 31 ธ.ค.2025) อียูยังไม่มีแผนที่จะเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน แต่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
โดยผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณการนำเข้า รวมถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม (Embedded Emission) ของสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า อลูมิเนียม ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย และไฮโดรเจนที่นำเข้า
และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2026 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งสิ่งนี้จะเพิ่มต้นทุนการนำเข้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และลดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ
มาตรการดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้สินค้าจากต่างประเทศที่สร้างมลพิษมากกว่า มาบ่อนทำลายการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวของสหภาพยุโรป และยังเป็นการปกป้องผู้ผลิตในท้องถิ่นไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่งจากต่างประเทศ ในขณะที่พวกเขาลงทุนในการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรผในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 55% ภายในปี 2030
Paolo Gentiloni กรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าเป้าหมายของมาตรการดังกล่าวคือ การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตในสหภาพยุโรปย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มงวดน้อยกว่า
มาตรการภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคู่ค้ารายใหญ่ของอียู ซึ่งอ้างว่าระบบดังกล่าวเป็นการบ่อนทำลายการค้าเสรี นอกจากนี้ ยังเพิ่มความตึงเครียดทางการค้าระหว่างอียูและสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้ร้องขอให้มีการยกเว้นภาษีสำหรับการนำเข้าเหล็กของสหรัฐเมื่อต้นปีที่ผ่านมา