Newsรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร์ ตั้งกลไกซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อการยื้ออำนาจ โดยอ้างว่า “คนไทยยังไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตย”

รัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร์ ตั้งกลไกซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อการยื้ออำนาจ โดยอ้างว่า “คนไทยยังไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตย”

รัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2475 สามารถกล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกที่ได้เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งได้มีมุมมองที่มองว่า เป็นสัญลักษณ์ของการได้รับโอกาสเลือกตั้งผู้แทนของตนอย่างเต็มเปี่ยมและปูทางสู่ประชาธิปไตยภายใต้กรอบที่คิดว่า คนไทยพร้อมสำหรับการเลือกตั้งและเส้นทางประชาธิปไตยต่อจากนี้

 

แต่ในเนื้อในของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2475 หรือแม้แต่ในส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2475 ที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้า ก็ได้แสดงถึงความไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ จากมุมของคณะราษฎรเสียเองที่มองว่า ควรมีการปูฐานสู่ความเป็นประชาธิปไตยและมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านการเมืองเพื่อให้ผู้คนเรียนรู้กับเครื่องมือทางการเมืองใหม่นามว่า “ประชาธิปไตย”

 

โดยในก้าวแรกที่ได้มีการแสดงออกถึงมุมทางการเมืองของคณะราษฎรนี้ก็คือ การเกิดขึ้นของระบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มี 2 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 อันมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อันที่มาจากการแต่งตั้งโดยอิงตามความรู้ความสามารถของผู้คนเพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่และขับเคลื่อนระบบการเมืองที่เพิ่งเกิดใหม่ให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 กลับได้มีการแต่งตั้งจากคณะราษฎรจากพื้นฐานของความสัมพันธ์และมุมมองทางการเมืองมากกว่าความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ซึ่งได้ถูกกังขาทั้งจากตัวภาคประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ว่า การดำเนินการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นการดำเนินการเพื่อรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรมากกว่าที่จะรักษาเจตนารมณ์เดิมในการมีอยู่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2  

 

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่สำคัญจากรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2475 คือ การเกิดขึ้นของแนวคิด “พรรคการเมือง” ในฐานะองค์กรทางการเมืองหลักรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามในช่วงระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พรรคการเมืองถาวรกลับไม่ได้มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการและต่อเนื่องเลย แต่กลับมีการจัดตั้งกลุ่มทางการเมืองที่มีบทบาทในสังคมอย่าง “สมาคมคณะราษฎร” และ “สโมสรคณะราษฎร” ตามลำดับ

 

ซึ่งแม้ว่าหน้าตาจะมีความคล้ายกับการปฏิบัติงานของสมาคมและสโมสรทั่วไปแต่เมื่อมองลงมาถึงหน้าที่และจุดประสงค์อย่างแท้จริงก็จะพบว่า มีรูปแบบการทำงานที่คล้ายกับพรรคการเมือง เพียงแต่ว่าจะไม่ได้ออกหน้าในเรื่องทางการเมืองมากนัก ซึ่งเป็นสถานะที่ค่อนข้างได้เปรียบกับกลุ่มการเมืองอื่น ๆ เพราะแม้ว่าจะไม่ได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการและต่อเนื่องก็ตาม

 

ทว่า การทำหน้าที่ของสมาคมคณะราษฎร สโมสรคณะราษฎร และเครือข่ายอำนาจภาครัฐในกลุ่มการเมืองของคณะราษฎร ก็แสดงถึงสถานะของการเป็นพรรคการเมืองโดยอ้อมเพียงพรรคการเมืองเดียวในสังคมได้เป็นอย่างดี จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ในช่วงเรืองอำนาจของคณะราษฎรที่ผ่านมา

 

อีกจุดสำคัญของเรื่องนี้ คือ ระบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จะมีอายุประมาณ 10 ปี หรือจนกว่าประชาชนในประเทศจะสำเร็จการศึกษาชั้นประถมเป็นส่วนใหญ่ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทว่าก็มีความพยายามมากมายจากคณะราษฎรส่วนหนึ่งในการยื้ออายุสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ด้วยเหตุผลสารพัดอย่าง จนทำให้วาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ได้ถูกขยายออกไปให้นานขึ้นในช่วงขณะนั้น

 

ตรงนี้จึงทำให้เมื่ออิทธิพลของคณะราษฎรเริ่มเสื่อมคลายลงก็ได้ทำให้แนวคิดพรรคการเมืองที่คณะราษฎรส่วนหนึ่งเคยไม่ยอมรับก็ได้ยอมรับด้วยเหตุผลทางการเมืองจนได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ซึ่งไม่ได้มีเพียงฝ่ายคณะราษฎรเท่านั้นที่สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้ ขั้วตรงข้ามทางการเมืองเองก็สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้เช่นเดียวกัน

 

อีกส่วนหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ระบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ก็ได้ค่อย ๆ หายไป และได้แปรสภาพเป็นอีกสภาต่างหากคือ วุฒิสภา ซึ่งมีกลไกในการตรวจสอบการทำงานของ สภาผู้แทนราษฎรที่มีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก และแยกการปฏิบัติหน้าที่ออกจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจน

 

และจุดหนึ่งที่ได้เป็นหัวข้อโต้เถียงรุนแรงในช่วงปลายยุคคณะราษฎรช่วงหลัง (พ.ศ.2490 – 2500) คือ การแยกสถานภาพระหว่างข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำรวมทั้งการห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะคณะราษฎรมีจุดยืนสำคัญที่ไม่ต้องการให้เกิดการแบ่งแยกลักษณะนี้รวมทั้งต้องการแผ่อิทธิพลเข้าไปในกลุ่มข้าราชการประจำและคงรักษาไว้ซึ่งฐานอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎร

 

ในขณะที่กลุ่มคัดค้านคณะราษฎรกลับต้องการให้มีการแบ่งแยกชัดเจนระหว่างข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความมืออาชีพมากขึ้น และให้ข้าราชการประจำมีบทบาทในการปฏิบัติงานโดยไม่ปนกับหน้าที่ทางการเมืองที่เป็นหน้าที่หลักของข้าราชการการเมือง อันจะเป็นการลดความเสี่ยงของการทุจริตและการใช้อำนาจโดยมิชอบในอีกทางหนึ่งด้วย

 

ทั้งหมดได้ทำให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญของไทยที่มีความเป็นประชาธิปไตย เปิดกว้าง และยอมรับความหลากหลายของสังคมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงคณะราษฎร แต่กลับเกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องหลังจากการเสื่อมถอยของอิทธิพลคณะราษฎรอย่างช้า ๆ โดยแม้ว่าพัฒนาการประชาธิปไตยจะไม่ได้ราบรื่นมากนัก ทว่าก็ยังคงเดินหน้ามาถึงปัจจุบัน และสะท้อนถึงระยะเวลาที่ต้องใช้มหาศาลในการทำให้คนไทยพร้อมและสามารถร่วมเรียนรู้ควบคู่กับการรับผิดชอบผลที่ตามมาจากการตัดสินใจสำหรับการเมืองแบบประชาธิปไตยปัจจุบัน

 

สุดท้ายนี้ คณะราษฎรที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองได้มองเสียเองว่า คนไทยไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย จึงได้มีการออกแบบกลไกสำหรับการเปลี่ยนผ่านมากมาย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้กลับเป็นกลไกที่ยื้ออำนาจของคณะราษฎรพร้อมกับทำให้กลไกการเรียนรู้ประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และกว่าก้าวแรกของประชาธิปไตยที่เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านและเรียนรู้อย่างแท้จริงก็ได้เกิดขึ้นหลังช่วงเสื่อมคลายของคณะราษฎร และอาจสะดุดบ้างในบางจังหวะ แต่เมื่อมีการเรียนรู้และเข้าใจความผิดพลาดอย่างแท้จริงก็จะกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยไทยแข็งแรงและมีเสถียรภาพอย่างที่ควรจะเป็น

 

โดย ชย

 

 

อ้างอิง:

[1] ประมวลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๔๗๕-๒๕๑๗)

https://library.senate.go.th/document/Ext23018/23018491_0003.PDF

[2] เปิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ว่าด้วย “อำนาจ” สถาบันและการเมือง  

https://www.thaipbs.or.th/news/content/299046

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?=รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พ.ศ._2475

[4] รัฐธรรมนูญในฝัน: แนวคิด หลักการ และเจตจำนงของคณะราษฎร พ.ศ. 2475

https://pridi.or.th/th/content/2021/12/918

[5] ปม “สมาชิกประเภทที่ 2” ที่รัชกาลที่ 7 ทรงเปรียบการปกครองคณะราษฎรเป็น “ลัทธิเผด็จการทางอ้อม”

https://www.silpa-mag.com/history/article_47894

[6] การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 และ สมาชิกประเภทที่ 2

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่_1_และ_สมาชิกประเภทที่_2

[7] รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483

https://parliamentmuseum.go.th/constitution-law/mo2475-2.PDF

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า