
ประณามปล่อยน้ำปนเปื้อน องค์กรภาคประชาสังคมเรียกร้องผู้นำชาติแปซิฟิกต่อต้าน การปล่อยน้ำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงมหาสมุทรแปซิฟิก
ระหว่างการประชุมของกลุ่ม PIF ครั้งที่ 52 ณ หมู่เกาะคุก The Collective ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประชาสังคม และองค์การพัฒนา เอกชน หรือ NGOs ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำแปซิฟิกระงับสถานะของญี่ปุ่นในฐานะประเทศคู่เจรจาของกรอบการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum: PIF)
แถลงการณ์ดังกล่าวประณามรัฐบาลญี่ปุ่น และ โตเกียว อิเล็คทริค พาวเวอร์ (TEPCO) บริษัทผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่ยืนกรานในแนวทางการดำเนินการที่มีข้อบกพร่องและเป็นอันตรายนี้
“การค้นพบของคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับมอบหมายจาก Pacific Islands Forum นั้นไม่มีความชัดเจน… ข้อมูลที่ได้รับจนถึงตอนนี้ซึ่งสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของญี่ปุ่นที่ว่าน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดนั้นปลอดภัย ไม่สอดคล้องกัน จึงไม่มีความน่าเชื่อถือ” คำแถลงระบุ โดยเสริมว่า “หากรัฐบาลญี่ปุ่นและเทปโกเชื่อว่าน้ำเสียที่มีกัมมันตรังสีนั้นมีความปลอดภัย พวกเขาควรเตรียมพร้อมที่จะกำจัดมันอย่างปลอดภัยในประเทศญี่ปุ่นเอง”
คำแถลงยังระบุด้วยว่า การทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วลงมหาสมุทรแปซิฟิก ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตรง
นอกเหนือจากการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้งแล้ว กลุ่ม Collective ยังกล่าวอีกว่า พฤติกรรมของญี่ปุ่นและการจัดการเรื่องนี้ยังเป็นการดูหมิ่นอธิปไตยของรัฐในภูมิภาคแปซิฟิก และไม่เหมาะสมที่จะเป็นคู่เจรจาของ PIF
PIF ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มุ่งเน้นการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 นั้นประกอบด้วยสมาชิก 18 ประเทศ
กลุ่ม The Collective เรียกร้องให้ผู้นำแปซิฟิก ยืนยันจุดยืนที่ยึดถือมายาวนานของตนในการรักษาภูมิภาคของตนให้ปลอดนิวเคลียร์ และทบทวนความสัมพันธ์ทางการทูตกับญี่ปุ่นในการประชุม Pacific Islands Forumครั้งต่อไปในปี 2567
พวกเขายังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศอย่าเมินเฉยต่อภัยคุกคามจากการทิ้งน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ความปลอดภัย สุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชนในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก
ญี่ปปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่ทะเลระลอกที่ 3 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แม้จะมีเสียงคัดค้านจากภารัฐ ชุมชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่น ทั้งในญี่ปุ่น และภูมิภาคแปซิฟิกก็ตาม