Newsระวังคลื่นใต้น้ำ ‘ดร.ปณิธาน’ ชี้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาแม้ในวันนี้จะราบรื่นดี แต่ยังคงมีปัญหาที่อาจกลายเป็นความขัดแย้งในอนาคต

ระวังคลื่นใต้น้ำ ‘ดร.ปณิธาน’ ชี้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาแม้ในวันนี้จะราบรื่นดี แต่ยังคงมีปัญหาที่อาจกลายเป็นความขัดแย้งในอนาคต

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ โพสต์เฟสบุ๊ก อธิบายถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งมีลักษณะที่ซับซ้อนและผกผันมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ 

ที่ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังราบรื่นดี จากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างครอบครัวชินวัตร กับครอบครัวของฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นดาบสองคมสำหรับประเทศไทย เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศยังคงมีประเด็นอ่อนไหวที่อาจจะกลายเป็นชนวนที่อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้อีกครั้งหนึ่ง 

ซึ่งประเด็นที่ต้องระวังเหล่านั้น ยังคงเป็นเรื่องเดิม โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคง เช่น ข้อพิพาทเขตแดน ปัญหากลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ใช้แต่ละประเทศเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่นับวันก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้น โดยมีข้อความว่า

ไทยกับกัมพูชา: ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและซ้อนทับ

  1. อดีตที่ผกผัน

ราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ผกผันและซับซ้อนมาเกือบทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์หรือยุคสร้างรัฐสร้างชาติ ที่ต่างฝ่ายต่างก็แข่งขันกันและขยายอิทธิพลของตน ยุคสงครามอินโดจีน สงครามเวียตนาม สงครามเย็น และสงครามกลางเมืองเขมร ที่กัมพูชาต่อสู้เพื่อเอกราชแล้วกลายเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์และมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน ทำให้ไทยได้รับผลกระทบหลายด้าน รวมทั้งต้องรับผู้หนีภัยจากการสู้รบเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งยังต้องร่วมมือกับพันธมิตรตะวันตกเผชิญหน้ากับจีน เวียตนาม และสหภาพโซเวียต ซึ่งต่างก็สนับสนุนกัมพูชาในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ชาวกัมพูชาจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตจากสงครามและความขัดแย้งต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิด “The Killing Fields” ระหว่างค.ศ. 1975-1979 สูงถึง 2-3 ล้านคน (อ้างอิง R.J. Rummel, Statistics of Democide, University of Hawaii, 1997 และ Britannica, 2024)

ในอดีต กัมพูชาหรืออาณาจักรขอมเคยรุ่งเรืองมาก แผ่อำนาจครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของอินโดจีนอยู่เกือบ 400 ปี และได้สร้างศาสนสถานอันยิ่งใหญ่ เช่น นครวัด นครธม และอื่นๆ แต่ภายหลังเสื่อมอำนาจลง และต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรอื่นๆ อีกหลายร้อยปี รวมทั้งต้องกลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอย่างขมขื่นระหว่างช่วงปีพ.ศ. 2406 ถึง 2496

จากผลพวงดังกล่าว ทำให้กัมพูชามีความผกผันสูง เช่น ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศและระบอบการปกครองถึง 5 ครั้งตั้งแต่ปี 2491 หรือเกิดสงครามกลางเมืองอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนกระทั่งสหประชาชาติต้องส่งกองกำลัง United Nations Transitional Authority in Cambodia – UNTAC) เข้าไปรักษาสันติภาพและจัดการเลือกตั้งระหว่างปี 2534-2536 เป็นต้น

  1. ปัจจุบันที่ราบรื่น

ในยุคปัจจุบัน ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชานับได้ว่าราบรื่นและมีแนวโน้มที่ดี ทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกันเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในยุคนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ไทยเป็นคู่ค้าลำดับต้นๆ ของกัมพูชา รองจากจีน สหรัฐฯ และเวียตนาม

และทั้งไทยกัมพูชาตั้งเป้าหมายกันว่าจะเพิ่มมูลค่าการค้ากันให้ได้ถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 ทั้งนี้ ไม่นับรวมการค้าชายแดนที่มีมูลค่าประมาณเกือบสองแสนล้านบาทในแต่ละปี โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือกันด้วยดีในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา สาธารณสุข การท่องเที่ยว การผ่านแดน การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ (รวมทั้งการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ การค้าเสพติด) การส่งผู้ร้ายข้ามแดน และด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

และเนื่องด้วยเศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตและฟื้นตัวได้ดี (ก่อนโควิด เฉลี่ย 7% หลังโควิด ประมาณ 5%) อีกทั้งกัมพูชามีแผนพัฒนาประเทศฉบับใหม่ (ยุทธศาสตร์เบญจโกณ) ที่มุ่งเน้นการเปิดประเทศ พัฒนาแรงงาน เพิ่มผลการผลิต และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งเร่งสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงาน ดังนั้น จึงทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกัมพูชามีแรงส่งหรือพลังขับเคลื่อนที่ดี

โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลใหม่ของไทยที่พยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจและรัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของนรม.สมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาเนต ที่สำเร็จการศึกษาทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ และมีผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ ในรัฐบาลกัมพูชาอีกหลายคนที่ให้ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาเป็นพิเศษ

แต่ที่ผ่านมา กัมพูชาเคยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยมาแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2501 และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2504 ทั้งสองครั้งนั้นด้วยเหตุเพราะข้อพิพาทในเรื่องเขตแดน ส่วนไทยก็เคยลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาลงเหลือระดับอุปทูตมาแล้ว 2 ครั้งเช่นกัน

ครั้งแรกเหตุเพราะเกิดการเผาสถานทูตไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 และครั้งที่สอง จากการแต่งตั้งอดีตนรม.ทักษิณ ชินวัตรเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาและเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของอดีต นรม.ฮุนเซน ทั้งนี้ยังไม่นับว่ากองกำลังของทั้งสองประเทศเคยปะทะกันตามแนวพรมแดนมาแล้ว

ดังนั้น ปัจจัยดั้งเดิมที่เป็นปัญหาในความสัมพันธ์ เช่น ข้อพิพาทเขตแดนและพื้นที่ทับซ้อน ความอ่อนไหวในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และปัจจัยทางการเมืองภายในและความมั่นคงของแต่ละประเทศ ก็ยังคงมีส่วนสำคัญในการกำหนดความราบรื่นของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอยู่ แม้ว่าจะน้อยลงไปกว่าเดิม

  1. อนาคตที่ซ้อนทับและซับซ้อน

นักวิเคราะห์ตะวันตกส่วนใหญ่เห็นว่า การเมืองการปกครองของกัมพูชานั้น นอกจากจะไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมแล้ว ก็ยังมีความขัดแย้ง มีความรุนแรงและมีเสถียรภาพไม่มากนัก หลายครั้งปัญหาเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและต่อภูมิภาคด้วย

ที่สำคัญ นักวิเคราะห์เหล่านั้นยังเห็นว่าผู้นำกัมพูชามีเรื่องผลประโยชน์ของตนที่ซ้อนทับกับผลประโยชน์ของชาติหรือของส่วนรวมค่อนข้างมาก โดยอดีตนรม.ฮุน เซนและครอบครัวนั้น ได้ปกครองประเทศมายาวนานและต่อเนื่องถึง 38 ปี เกิดข้อครหาต่างๆ หลายประการ รวมทั้งเรื่องการทุจริต การริดรอนสิทธิเสรีภาพ การใช้กำลังหรือความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม หรือความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน หรือกับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ได้ทำให้กัมพูชามั่นคงหรือปลอดภัยขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแรงกดดันทั้งในประเทศและจากต่างประเทศต่ออดีตนรม. ฮุน เซนอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วในปีที่ผ่านมา ฮุน เซนก็สละตำแหน่งที่ตนครองมายาวนานและเปิดให้มีการเลือกตั้งและส่งลูกชายคนโต ฮุน มาเนตมาลงสมัคร แต่ก็ไม่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครคนอื่นได้แข่งขันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

นักวิเคราะห์เหล่านั้นจึงเชื่อกันว่า ถึงแม้ว่านรม.ฮุน มาเนต จะมีความรู้ทั้งทางด้านการทหารและทางด้านเศรษฐกิจจากสถาบันชั้นนำในประเทศสหรัฐฯ และอังกฤษ และมีบุคคลิกที่ประนีประนอมกว่าบิดา แต่ในทางปฏิบัติ ก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก อีกทั้งก็ฮุน มาเนตเองก็ยังไม่เคยได้แสดงความสามารถในด้านใดๆ อย่างชัดเจน

ดังนั้น ครอบครัวฮุน เซนก็ยังคงมีอิทธิพลและครอบงำกัมพูชาต่อไป และคงไม่ง่ายที่จะผลักดันให้กัมพูชาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือให้ชาวกัมพูชาพ้นจากกับดักความยากจนดังที่ได้วางแผนไว้ (อ้างอิง World Bank, 2022: GDP per capita ของกัมพูชา US$ 1759.60)

สำหรับไทยแล้ว การซ้อนทับของความสัมพันธ์ส่วนตัวดังกล่าวเป็นดาบสองคม ในด้านหนึ่ง อาจจะส่งผลดีต่อการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ เหตุเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันระหว่างสองครอบครัวของอดีตผู้นำทั้งสองประเทศ

และอาจจะทำให้หนึ่งในเรื่องที่ท้าทายที่สุดในการเยี่ยมเยียนกระชับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ราบรื่นกว่าที่ผ่านมา นั่นก็คือเรื่องของพื้นที่ื่ที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกัน โดยเฉพาะทางทะเล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบ 30,000 ตารางกิโลเมตรที่ว่ากันว่ามีน้ำมันและแก๊สธรรมชาติอยู่ แม้ว่ายังคงมีเงื่อนไขเดิมๆ รวมทั้งข้อจำกัดจากบันทึกความเข้าใจ พ.ศ. 2544 อยู่เช่นเดิม

ในอีกด้านหนึ่ง การใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองนั้น เคยก่อให้เกิดปัญหามาแล้ว เช่น ในกรณีที่กัมพูชาตั้งอดีตนรม.ทักษิณเป็นที่ปรึกษา หรือในกรณีที่อดีตนรม.ฮุน เซน พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอดีตนรม.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในช่วงแรกๆ ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง แต่ในที่สุดแล้วก็เกิดผิดพลาดและนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลง

โดยสรุป นับวันความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ก็จะต้องพึ่งพาหรือพึ่งพิงซึ่งกันและกันมากขึ้น ทั้งในระดับทวิภาคีหรือในระดับพหุภาคี ทั้งในอาเซียนหรือในเวทีนานาชาติ

แต่ในความสัมพันธ์ดังกล่าว มีเรื่องที่ซับซ้อนและซ้อนทับกันหลายประการ สุ่มเสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งกันอีกในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคง เช่น ข้อพิพาทเขตแดน ปัญหากลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ใช้แต่ละประเทศเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่นับวันก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาเหล่านี้จึงรอการแก้ไขอย่างจริงจังจากผู้นำทั้งสองฝ่ายที่กำลังมาเยี่ยมเยียนกัน มากกว่าจะเป็นเพียงมาพบปะทำความรู้จักกันเพื่อสร้างความคุ้นเคยเหมือนในอดีต

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า