
เสี่ยงช่วยเหลือซ้ำซ้อน ธปท. เตือนจำเป็นน้อยมากหาก รัฐบาล ‘เศรษฐา’ รั้นทำโครงการ จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ธปท.ฝศม. 806/2566 เรื่อง มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 (เพิ่มเติม) ระบุถึงการดำเนินโครงการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ดังนี้
ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0506/ว(ล) 24405 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 แจ้งว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอเรื่อง มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 (เพิ่มเติม) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. นั้น
ธปท. ได้พิจารณาแล้วและมีความเห็นว่า โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนา คุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีความจำเป็นลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันราคา ข้าวสูงขึ้นมากและราคาปุ๋ยลดลงต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการได้ผลสัมฤทธิ์ที่สามารถ ยกระดับการผลิตและคุณภาพผลผลิตข้าวได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงช่วยลดภาระทางการคลังในอนาคต ควรกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่ชัดเจน รวมถึงมีกระบวนการติดตามและประเมินผลโครงการ
พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืน และควรมีแนวทาง ป้องกันปัญหา Moral hazard หรือ “ภาวะภัยทางศีลธรรม” จากการที่เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือซ้ำซ้อน อีกทั้งควรกำหนดกรอบ เวลาการชำระคืนเงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาด้านสภาพคล่องของธนาคารฯ ในอนาคต
สำหรับการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงินงบประมาณจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอนั้น กำหนดรายละเอียดไว้ดังนี้
1.กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
2.ส่งรายชื่อเกษตรกรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร
การจ่ายเงินกำหนดจ่ายในอัตราไร่ละ 1,000 บาท
ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท