ทักษิณพบฮุน เซน ‘อ.ปณิธาน’ เตือนให้แยกเรื่องส่วนตัวกับส่วนรัฐบาลออกจากกัน ป้องกันการกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สืบเนื่องจากกรณีที่สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เดินทางเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในระหว่างการพักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้า บ้านพักส่วนตัวของนายทักษิณ
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 สำนักข่าวเนชั่น ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ถึงกรณีดังกล่าว โดย รศ.ดร. ปณิธานแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นได้แก่ ประเด็นส่วนตัวที่มีความใกล้ชิดและลึกซึ้งของทั้ง 2 ท่านในอดีต ตั้งแต่ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จนลงจากตำแหน่ง
ซึ่งทั้ง 2 นั้นต่างก็อยู่ในวัยชรา อีกทั้งนายทักษิณก็มีข่าวออกมาบ่อย ๆ ว่าป่วยหนัก สมเด็จฮุน เซน อาจจะมาดูใจเป็นการส่วนตัว อีกทั้งทั้ง 2 ยังมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกันด้วยซ้ำ (น.ส.ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ ลูกสาวของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ แต่งงานกับลูกชายนักการเมืองผู้ใกล้ชิด ฮุน เซน)
ประเด็นที่ 2 เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและผกผันของไทยและกัมพูชา ซึ่งมีกันมาอย่างช้านานแล้ว จากปัญหาพื้นฐานหลายอย่าง ในปัจจุบันถือว่าดีขึ้นมากแล้ว ก็ยังมีประเด็นความท้าทายที่จะต้องตัดสินใจในอนาคตอีก 2-3 เรื่องทั้งเรื่องพลังงาน, ชายแดน และความใกล้ชิดกับชาติมหาอำนาจ ซึ่งในประเด็นนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 คนโดยตรง แต่หลายฝ่ายก็คงจะจับตาดูความเคลื่อนไหวอยู่
ประเด็นที่ 3 เป็นประเด็นที่ท้าทายที่จะเป็นปัญหา และต้องจับตาดู แต่ประเด็นที่ 2 นั้นในอดีตทั้งสองประเทศมีปัญหาที่ละเดียดอ่อนระหว่างกันหลายเรื่อง เช่นเรื่องชายแดน ความแตกต่างทางวัฒนธรรม นักโทษการเมือง และเรื่องธุรกิจ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศก็เคยผิดใจกันมาแล้ว และเคยร้ายแรงถึงขั้นเผาสถานทูตไทย (29 ม.ค. 2546) ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาแล้ว
หลายฝ่ายมองว่า อดีตนายกฯ ทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิดและลึกซึ้งมานาน มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งในยามลำบาก และในยามเรืองอำนาจ ซึ่งในวันนี้ต่างก็เข้าสู่วัยชรา คงจะต้องให้กำลังใจกันมากขึ้น
อีกทั้งตัวสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแณต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบันนั้น ยังมีฐานอำนาจไม่เข้มแข็ง ยังไม่มีผลงานมากมายนัก อีกทั้งขึ้นสู่ตำแหน่งเร็วกว่ากำหนด ทำให้ต้องการการสนับสนุนมากขึ้นจากฮุน เซน อีกทั้งฮุน เซนยังเป็นกังวลถึงความเคลื่อนไหวของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเข้ามาใช้พื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
สำหรับการพบปะกันของทั้ง 2 ฝ่ายในครั้งนี้นั้น ต่างฝ่ายต่างก็มีข้อควรระวังทั้งคู่ โดยสมเด็จ ฯ ฮุน เซน มีตำแหน่งประธานองคมนตรี เมื่อเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเป็นการส่วนตัว ก็มีข้อควรระวังไม่ให้กระทบถึงสถาบันของกัมพูชา ในขณะที่นายทักษิณ ยังอยู่ในระหว่างการคุมความประพฤติ ที่มีหลายฝ่ายจับจ้องดูอยู่
ความท้าทายของทั้ง 2 ประเทศ อยู่ที่เรื่องพลังงานและชายแดน ซึ่งทางการไทยได้มีการยื่นข้อเสนอให้มีการเจรจา แต่ทางกัมพูชายังไม่มีการตอบรับที่ชัดเจนว่าจะเจรจาเรื่องชายแดนกันเมื่อไร ในขณะที่เรื่องพลังงาน กัมพูชาเองก็ต้องการแหล่งพลังงานราคาถูก เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเติบโต
ในประเด็นความใกล้ชิดกับมหาอำนาจ ซึ่งในขณะนี้มหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายกำลังมีความขัดแย้งกัน และเข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศอาเซียน เพื่อการใช้สนามบิน ท่าเรือ ฐานทัพชั่วคราว ซึ่งมีข่าวว่ากัมพูชายินยอมให้มหาอำนาจชาติหนึ่งเข้าไปใช้พื้นที่ สร้างความไม่พอใจต่อมหาอำนาจอีกฝ่าย ซึ่งไทยมีความสามารถที่จะช่วยปรับสมดุลความขัดแย้งให้ได้
สำหรับการเข้าพบกันของทั้ง 2 ในครั้งนี้ ทางฝ่ายกัมพูชาต้องการให้มีการเปิดเผย เนื่องจากต้องการภาพว่าได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจ ยกระดับการค้าให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตัวสมเด็จ ฮุน เซนเองก็มีข่าวเรื่องปัญหาสุขภาพที่ไม่ค่อยดี และมีวิธีคิดที่แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ จึงต้องการพื้นที่ข่าว
ตรงนี้ต้องหาจุดสมดุลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทั้งในเรื่องเงื่อนไขภายในของเราเอง เช่นเรื่องทางกฎหมาย และความเหมาะสม แต่ในเรื่องส่วนตัวก็ห้าม 2 ท่านนี้ไม่ได้เพราะมีความสนิทสนมกันมานาน และสมเด็จฯ ฮุน เซน เป็นคนที่มีความเป็นกันเอง มีน้ำใจไมตรีพอสมควร ที่ผ่านมาพยายามที่จะตีสนิทกับนายกรัฐมนตรีของไทยทุกคน ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ส่วนตัวให้ดี และมีชื่อเรื่องความเอาใจใส่ในความสัมพันธ์ส่วนตัว
สำหรับการที่ไม่มีผู้นำประเทศในตำแหน่งของไทยไปให้การต้อนรับสมเด็จ ฮุน เซนในครั้งนี้นั้น รศ.ดร. ปณิธานเห็นว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว เพราะถ้ามีจะเกิดการนำประเด็นส่วนตัวไปผูกโยงกับเรื่องส่วนรวม และสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองมากขึ้น
สำหรับในมุมมองของต่างชาติต่อเรื่องนี้นั้น รศ.ดร. กล่าวว่าสื่อต่างประเทศรายงานสอดคล้องกันว่ามีความพยายามที่จะเจรจาหาทางออกในปัญหาความขัดแย้ง และการเมืองไทยก็เคลื่อนไปข้างหน้า คลี่คลายไปในระดับนึง
แต่ว่าข้อปฏิบัติต่อนายทักษิณ ที่มีข้อกังขาและจะกลายเป็นเงื่อนไขในอนาคต และในอนาคตปัญหาความขัดแย้งจะมาจากกรณีการปฏิบัติต่อนายทักษิณ ซึ่งในขณะนี้ก็เริ่มที่จะมีการฟ้องร้องกันแล้ว และฝ่ายค้านก็หยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาโจมตี และนี่เป็นประเด็นที่สื่อต่างประเทศจับตาดูอยู่
ปัญหาความขัดแย้งในอดีต ที่ยาวนานเกือบ 20 ปี ซึ่งหลายคนก็คิดไม่ถึงว่าจะมีวันนี้ ซึ่งการกลับสู่ประเทศไทยของนายทักษิณ หลังต้องไปอยู่ต่างประเทศมายาวนานถึง 17 ปี สุดท้ายแล้ว ไม่มีกระแสต่อต้านมากอย่างที่หลายคนกังวล
ทั้งนี้ในอนาคต อาจจะมีผู้นำประเทศอื่นที่สนับสนุนนายทักษิณ เข้ามาเยี่ยมเยียนในลักษณะนี้อีก ควรมีการรับมือให้ดี ซึ่งนายทักษิณควรวางตัวเป็นผู้อาวุโส ให้คำแนะนำ และควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ และครอบครัวเป็นหลัก เพื่อสร้างความสบายใจให้กับหลายฝ่าย
และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ผู้นำประเทศหลายประเทศที่มีความสัมพันธ์กับนายทักษิณจะมาเมืองไทย หลายคนอยากมาเมืองไทยอยู่แล้ว บางคนอาจจะมาเพื่อขอเข้ารับบริการทางการแพทย์ในเมืองไทยด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าจะมาก็มาได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องไม่นำเข้าไปผูกโยงเข้ากับการทำงานของรัฐบาล จนลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่โต
สิ่งสำคัญที่ควรจับตาในการพบกันของทั้ง 2 นี้คือ การให้ข่าวซึ่งจะต้องไม่มีการผูกโยงเข้ากับการทำงานของรัฐบาล จะต้องแยกกันให้ชัดเจน และอยู่ในเงื่อนไขของการควบคุมความประพฤติ ไม่ไปกระทบกับการเมืองของกัมพูชา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งมีความเปราะบาง
หลังจากนี้ ก็น่าจะมีคนเข้าเยี่ยมนายทักษิณอีกหลายคน ซึ่งรวมไปถึงคนทางการเมืองในฐานะคนสนิท ซึ่งจะต้องมีการจัดรูปแบบให้เหมาะสมกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง จนบดบังการทำงานของรัฐบาลไป