News‘อินเดีย’ เปลี่ยนอดีตอันขมขื่นให้กลายเป็น ‘อาวุธทางการทูต’ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ

‘อินเดีย’ เปลี่ยนอดีตอันขมขื่นให้กลายเป็น ‘อาวุธทางการทูต’ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ

การทูตแบบอินเดีย เปลี่ยนอดีตอันขมขื่นให้กลายเป็นอาวุธทางการทูต ในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ

อินเดียคือประเทศหนึ่งที่บางครั้งถูกเรียกว่าเป็น “ตัวแปรทางยุทธศาสตร์” ของเกมการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจการเมืองของภูมิภาคเอเชียใต้ อินเดียคือประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเป็นอันดับสองรองลงมาจากประเทศจีน ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าเป็นประเทศที่มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งอีกด้วย [1]

ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น ประเทศอินเดียมี GDP ต่อหัวเป็นอันดับ 5 ของโลกรองจากสหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น, และเยอรมัน และเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย [2] [3] ความสัมพันธ์ของประเทศอินเดียกับประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, จีน, รัสเซีย เหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเชิงยุทธศาสตร์ของเกมการเมืองระหว่างประเทศ

และในระหว่างที่โลกกำลังเผชิญกับขัดแย้งในปัจจุบันระหว่างขั้วอำนาจตะวันตกและขั้วอำนาจฝ่ายจีนและรัสเซีย การมีท่าทีหรือการขยับตัวใด ๆ ของอินเดียนั้นก็มักจะถูกวิเคราะห์และทำความเข้าใจอย่างกว้างขวาง

อย่างในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา การเดินทางเยือนประเทศอินเดียของบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลาสองวันนั้นก็ทำให้สายตาของชาวโลกจับจ้องไปยังอินเดียว่าจะมีการประกาศจุดยืนอย่างไรต่อสาธารณะ

โดยเฉพาะในประเด็นร้อนของการเมืองโลก นั้นคือสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน [4]

อย่างไรก็ตาม อินเดียนั้นเป็นประเทศที่ดำเนินกิจการต่างประเทศอย่างละมุนละม่อม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่คนไทยเราน่าจะคุ้นชินกันดี นั่นคือการวางตัวเป็นพันธมิตรกับหลากหลายฝ่ายเพื่อให้ผลลัพธ์ของความสัมพันธ์เหล่านั้นยังประโยชน์ให้กับอินเดียมากที่สุด

อย่างการเข้ารวมตัวเป็นกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) โดยมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เพื่อคานอำนาจการต่อรองของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในขั้วตะวันตก [5]

แต่ในขณะเดียวกันอินเดียก็เป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ QUAD (สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และอินเดีย) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางยุทธศาสตร์และการทหารในการป้องกันและต่อต้านการขยายตัวของอิทธิพลจีน [5]

ดังนั้นการคาดหวังท่าทีที่หนักแน่นใด ๆ ของอินเดีย เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกนั้น ก็อาจจะเป็นอะไรที่เกินเลยความเป็นจริงไปมาก ข้อสรุปเช่นนี้ก็ไม่ได้ต่างไปจากบทวิเคราะห์ของนักวิชาการและนักวิเคราะห์ต่าง ๆ มากเท่าใดนัก [4]

และท้ายที่สุดการแสดงออกอย่างเป็นทางการของรัฐบาลอินเดีย เช่นการแถลงข่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย โดยเฉพาะจากภาพความสนิทสนมชิดเชื้อระหว่างบอริส จอห์นสัน และ นเรนทระ โมที นายกรัฐมตรีอินเดียนั้นก็ชี้ให้เห็นว่าอินเดียยังคงยืนยันในการมีความสัมพันธ์เฉพาะกับทุก ๆ ประเทศโดยปราศจากการชักจูงของอิทธิพลภายนอกอื่น ๆ ซึ่งนั่นก็รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับรัสเซียอีกด้วย [6]

สาเหตุหนึ่งที่อินเดียสามารถมีท่าทีหรือยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่ไหลลื่นและไม่ยึดโยงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการเมืองโลกได้นั้นก็เพราะพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดีย

การนำอินเดียเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการการเคลื่อนไหวเพื่อการไม่ฝักฝ่าย หรือ Non-Aligned Movement โดยชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย นั้นก็อาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหลักในการออกแบบนโยบายการต่างประเทศนี้ของอินเดีย [8] ซึ่งนั่นคือขีดความสามารถจากการวางยุทธศาสตร์ของภาครัฐระดับสูง

แต่ไม่เพียงเท่านั้น ในระดับประชาชนเอง สังคมอินเดียก็มีพื้นหลังทางประวัติศาสตร์ที่เฉพาะตัวที่ทำให้พวกเขานั้นสามารถมีภูมิคุ้มกันต่อการส่งอิทธิพลของชาติมหาอำนาจได้

ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเรียกร้องเอกราชโดยสันติวิธีจนเป็นที่เล่าขานและถูกเอาเป็นแบบอย่างของมหาตมะ คานธี จนไปถึงเหตุการณ์ที่เป็นบาดแผลต่าง ๆ ที่ชาวอินเดียถูกกระทำจากมหาอำนาจตะวันตก จนสั่งสมให้สังคมอินเดียมีจุดยืนที่หนักแน่นการแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจ

นับตั้งแต่วินาทีที่บอริส จอห์นสันได้เหยียบแผ่นดินภารตะ สองเหตุการณ์ที่สังคมอินเดียยกขึ้นมาตอกย้ำผ่านสื่อต่าง ๆ นั้นก็คือการสังหารหมู่ที่อมฤตสระ (Amritsar Massacre หรือที่เรียกกันว่า การสังหารหมู่ที่อุทยานจลิยานวาลา ; Jallianwala Bagh Massacre) และการสังหารหมู่ที่ปาล-ฑัฒวาว (Pal-Dadhvav Massacre) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่อินเดียยังคงตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งสื่อหลายสำนักได้รายงานถึงการเรียกร้องจากสังคมอินเดียให้มีการขอโทษอย่างเป็นทางการจากฝ่ายการเมืองของอังกฤษ

ในทั้งสองเหตุการณ์ที่กล่าวมา การสังหารหมู่ที่อุทยานจลิยานวาลา (Jallianwala Bagh Massacre) นั้นน่าจะเป็นที่รู้จักกันดีเมื่อเทียบกันแล้ว โศกนาฏกรรมครั้งนี้พัฒนาขึ้นหลังจากการตรากฎหมายหลายฉบับที่ให้อำนาจฉุกเฉินกับรัฐบาลอังกฤษและประกาศใช้กฎอัยการศึกที่มีเป้าหมายในการควบคุมการชุมนุมประท้วงของชาวอินเดีย

โดยเฉพาะภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่ชาวอินเดียได้รับการสัญญาจากจักรวรรดิอังกฤษว่าจะตอบแทนพวกเขาในด้านการเมืองและการปกครองตนเองหากชาวอินเดียเข้าร่วมเป็นกำลังพลให้กับกองทัพอังกฤษ แต่ก็กลับไม่ได้มีการทำตามคำสัญญานั้น อีกทั้งก่อนหน้านั้นยังมีเหตุการณ์การกบฏและการต่อต้านการปกครองของจักรวรรดิอังกฤษเกิดขึ้นหลายครั้งทั่วอนุทวีปอินเดีย [8]

หนึ่งในชนวนของเหตุการณ์การสังหารหมู่นั้นเกิดขึ้นจากการถูกควบคุมตัวของผู้ต่อสู้เรียกร้องเอกราชสองคนคือ นายแพทย์สัตยาปาล (Satyapal) และ ดร.ไซฟุดดีน กิจลู (Saifuddin Kitchlew) ทำให้สามวันให้หลัง คือวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1919 ซึ่งตรงกับวันเทศกาลไวสาขีในเดือนวิสาขะ ก็มีผู้มารวมตัวกันเพื่อประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมต่อฝ่ายอังกฤษ โดยเป็นการฝ่าฝืนกฎอัยการศึกและการสั่งห้ามชุมนุม

แต่ข้อมูลที่มีนั้นก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าประชาชนที่หลั่งไหลเข้ามานั้น มีเป้าหมายในการเข้าร่วมการประท้วงเรียกร้อง หรือเพื่อเข้ามาเฉลิมฉลองเทศกาลไวสาขี อย่างไรก็ตามปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐ นำโดยพันเอกเรจินัลด์ ไดเยอร์ (Colonel Reginald Dyer; ซึ่งขณะนั้นได้เลื่อนยศชั่วคราวเป็นพลจัตวา หรือ Brigadier General) ได้ทำการปราบปรามผู้มีชุมนุมอย่างรุนแรงด้วยการใช้ปืนยิงเข้าไปอย่างไม่เลือก แม้ตัวเลขอย่างเป็นทางการจะถูกบันทึกว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 300 กว่าคน และที่เหลือเป็นผู้บาดเจ็บกว่าพันคน การนับจำนวนจากฝ่ายอื่นนั้นมีตัวเลขผู้เสียชีวิตถึงกว่า 1,000 คน [8] [9]

กระนั้น แม้ว่าเหตุการณ์สังหารหมู่ที่อุทยานจลิยานวาลา ณ เมืองอมฤตสระนั้นจะเป็นที่รู้จักกันมากและอาจเรียกได้ว่าเป็นอารัมภบทหลักที่นำไปสู่การเรียกร้องเอกราชของอินเดียได้จนสำเร็จ แต่อีกเหตุการณ์การสังหารหมู่หนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นการสังหารหมู่ที่รุนแรงที่สุดอีกเหตุการณ์หนึ่งของอินเดียเลยก็ว่าได้

ในปี 1922 ในหลังเหตุการณ์ที่เมืองอมฤตสระ มีการรวมตัวของชาวเผ่านอกระบบ (ชาวอาทิวาสี ; Adivasi) เผ่าภีล (Bhil) เพื่อการเรียกร้องความเป็นธรรมจากการจ่ายภาษีที่ขูดรีดโดยฝ่ายรัฐและเจ้าผู้ปกครอง ซึ่งนำโดยโมตีลาล เตชาวัต (Motilal Tejawat) จากหมู่บ้านต่าง ๆ ของเมืองปาล (Pal), จิตารียา (Chitariya), และเมืองฑัฒวาว (Dadhvav) ในแถบตะวันออกของรัฐคุชราต ซึ่งการประท้วงครั้งนี้ก็มีการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากกว่า 1,200 คน แม้ว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการจะน้อยกว่านั้นก็ตาม [10]

เมื่อต้นปีก่อนการเยือนอินเดียของบอริส จอห์น รัฐคุชราตได้มีการร่วมเฉลิมฉลองวันชาติ (วันสาธารณะรัฐ ; Republic Day) โดยภายในขบวนรถแห่ของรัฐนั้นมีการแสดงภาพเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การสังหารหมู่ปาล-ฑัฒวาว (Pal-Dadhvav Massacre) นี้อยู่ด้วย

และเมื่อการเยือนของจอห์สันได้เริ่มต้นด้วยการลงจากสนามบิน ณ เมืองอะห์เมดาบาด (Ahmedabad) รัฐคุชราต ก็ได้มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษขอโทษอย่างเป็นทางการต่อประชาชนอินเดีย โดยหนึ่งในผู้นำในการเรียกร้องครั้งนี้นั้นก็คือมเหนทระ เตชาวัต (Mahedra Tejawat) หลานของโมตีลาล เตชาวัต (Motilal Tejawat) ผู้นำการประท้วงเรียกร้อง [10] [11]

แม้ว่าจะไม่มีการออกมาขอโทษตามการเรียกร้อง เราอาจจะพูดได้ว่าบาดแผลและประวัติศาสตร์อันขมขื่นที่ชาวอินเดียยังไม่ลืมเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุไม่มากก็น้อยที่ถึงขนาดทำให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษต้องเดินทางไปยังอาศรมของมหาตมะ คานธี เพื่อไปแสดงความเคารพต่อผู้นำการเรียกร้องเอกราชของอินเดียจากจักรวรรดิอังกฤษ

การที่หนึ่งในประเทศมหาอำนาจโลกจะต้องมาแสดงท่าทีอันอ่อนน้อมต่อชัยชนะของความเป็นเอกราช (โดยเฉพาะในทางการเมืองระหว่างประเทศ) ของประเทศอินเดียที่เคยเป็นอาณานิคมนั้น ก็ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญในการเข้าใจอดีตให้ถูกต้องและการใช้อดีตเป็นเครื่องมือในการสร้างทัศนคติและขับเคลื่อนสังคมเพื่อยังผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติท่ามกลางวิกฤตกาลและความวุ่นวายที่ไม่มีที่สิ้นสุดของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า