Newsชนวนสงครามนิวเคลียร์ ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้โลกกำลังเดินหน้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะทุกประเทศติด “กับดักความมั่นคง”

ชนวนสงครามนิวเคลียร์ ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้โลกกำลังเดินหน้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะทุกประเทศติด “กับดักความมั่นคง”

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความมั่นคงโพสต์เฟสบุ๊ก โดยมีข้อความว่า


ทำไมรัสเซียปรับร่นเวลาการกดปุ่มปล่อยอาวุธนิวเคลียร์? สงครามนิวเคลียร์ที่ว่าไม่มีใครหยุดได้แล้ว จะเกิดขึ้นจริงแบบไหน?

 

  1. สงครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯ (มีนิวเคลียร์ 5,044 ลูก) กับรัสเซีย (5,580 ลูก) มีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะกงล้อของโศกนาฏกรรมในการเมืองโลกได้หมุนขึ้นอีกแล้ว (เหมือนในปีค.ศ.1914 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) และเช่นเดียวกันกับในอดีต ไม่มีใครไปหยุดกงล้อนี้ได้

  2. แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก ประเทศพึ่งพากันมากขึ้น และหลายคนยังเชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจในเร็ววันนี้ ก็ยังไม่มาก เหตุเพราะมหาอำนาจต่างฝ่ายต่างก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำลายตัวเอง (จากคำอธิบายของ Deterrence Theory หรือ balance of terror) ยกเว้นจะเกิดความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในการตัดสินใจของแต่ละฝ่าย

  3. แต่หากสงครามนิวเคลียร์จะเกิดขึ้น ก็คงมีสาเหตุหลักคล้าย ๆ กับการเกิดสงครามโลกทั้งสองครั้ง คือไม่ได้เริ่มต้นที่มหาอำนาจทำสงครามกันเองโดยตรง แต่เริ่มจากประเทศเล็กก่อน เช่น กรณีเซอร์เบีย (ค.ศ.1914) แล้วขยายตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (WWI) หรือที่ฮิตเลอร์เยอรมันบุกเข้ายึดโปแลนด์ (ค.ศ.1939) แล้วขยายตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง (WWII)

  4. ปัจจุบันนักวิเคราะห์เชื่อกันว่า สงครามนิวเคลียร์และสงครามโลกครั้งที่สาม (WWIII) จะเกิดขึ้นได้จากหลายกรณี เช่น:

1) ในตะวันออกกลาง -อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จหรือกำลังจะนำเข้าประจำการเพื่อโจมตีอิสราเอลตามที่ได้เคยประกาศไว้ (อิสราเอลมีนิวเคลียร์ 90 ลูก) ทำให้สหรัฐฯ อังกฤษ (มีนิวเคลียร์ 225 ลูก) และพันธมิตรตะวันตก ต้องใช้กำลังเข้าทำลายและจัดการกับอิหร่าน

จึงทำให้จีน (มีนิวเคลียร์ 500 ลูก) เกาหลีเหนือ (มีนิวเคลียร์ 50 ลูก) และรัสเซีย ซึ่งทั้งหมดเป็นพันธมิตรของอิหร่าน ต้องเข้าสู่สมรภูมิเป็นปฎิกิริยาลูกโซ่ เกิดการเผชิญหน้ากันโดยตรงของทั้งสองฝ่ายอย่างรวดเร็ว ในที่สุด ก็นำไปสู่สงครามนิวเคลียร์และ WWIII

2) ในเอเชีย -จีนหมดความอดทนกับไต้หวัน เริ่มเคลื่อนกำลังทหารจำนวนมากที่ซักซ้อมมาทุกปีอย่างรวดเร็วเพื่อเข้ายึดครองเกาะไต้หวัน โดยเชื่อว่าสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลง คงไม่เข้ามายุ่ง แต่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและพันธมิตรตะวันตก รวมทั้ง UN กลับร่วมมือกันต่อต้านจีนอย่างแข็งขัน

ทำให้รัสเซีย เกาหลีเหนือ และพันธมิตรทั้งหลายของจีนและรัสเซีย ต้องกระโจนเข้าสู่สมรภูมิด้วย โดยรัสเซียขู่ที่จะใช้กำลังกับยุโรปและนาโต้เพื่อกดดันให้ยุโรปถอยห่าง แต่ก็ทำให้การเกิดการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายกันในสองสมรภูมิควบคู่กัน ทั้งในเอเชียและในยุโรป ในที่สุดก็ขยายตัวบานปลายไปสู่ WWIII

3) ในยุโรป -รัสเซียเพลี่ยงพล้ำในสงครามกับยูเครน เพราะสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส (มีนิวเคลียร์ 290 ลูก) สมาชิกนาโต้หลายประเทศและพันธมิตรตะวันตกอีกหลายชาติ รวมทั้งนานาชาติ ปิดล้อมและเข้าแทรกแซงมากขึ้น ทั้งส่งอาวุธยุทธปกรณ์สมัยใหม่ให้ยูเครนเพิ่มขึ้น ทั้งปิดล้อมคว่ำบาตรเศรษฐกิจเป็นระลอก ๆ ทำให้ชาวรัสเซียลำบากและสูญเสียมากขึ้น

สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศรัสเซียมีปัญหามากขึ้น รัสเซียทยอยติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กในประเทศบริวารเดิม เช่น เบลารุส และปธน.ปูตินต้องขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์บ่อยครั้งขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล และเพลี่ยงพล้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ จนจีน เกาหลีเหนือ และพันธมิตรของรัสเซีย ต้องเข้ามาช่วย ทำให้บานปลายจากสงครามที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปหลัง WWII ในขณะนี้ ไปสู่ WWIII ในที่สุด

4) กรณีอื่น ๆ -นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่าสงครามนิวเคลียร์หรือ WWIII อาจจะเกิดขึ้นได้จากกรณีอื่นด้วย เช่น เกิดสงครามที่ไม่ประกาศในห้วงอวกาศ (ครั้งแรกที่เราอาจจะได้เห็น และอาจจะเป็นครั้งเดียวของคนจำนวนมาก) โดยมีการทำลายเครือข่ายดาวเทียมทางการทหารและการสื่อสารของบางประเทศในสองขั้ว  เพื่อลดทอนความสามารถในการรบสมัยใหม่หรือการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ลง

หรือกรณีที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือระเบิดปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่รัฐอธิปไตย  ซึ่งทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้มีการกล่าวหาซึ่งกันและกันของสองขั้วอำนาจที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่แล้ว นำไปสู่เหตุการณ์บานปลายและสู่สงครามใหญ่ในที่สุด

แต่ทั้งหมดทุกกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ ไม่มีใครบอกได้อย่างแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และเมื่อไร เพราะทั้งหมดเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าแทบทั้งสิ้นและเป็นการคิดจากฐานเดิม ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามความเป็นจริงทั้งหมด โดยเฉพาะจากคนที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะตัดสินใจเข้าสู่สงคราม

ยกเวันกรณีของรัสเซีย ซึ่งหลายอย่างได้เกิดขี้นจริงแล้ว เช่น การระบุว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ถ้าจำเป็น และอีกหลายอย่างกำลังเกิดขึ้น เช่น การร่นเวลาการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ให้สั้นลง

  1. ทำไมรัสเซียต้องร่นเวลาในการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์? ในประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะในประเทศที่ประกาศอย่างเป็นทางการ 5 ประเทศว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Weapon States -NWS) นั้น ระยะเวลาการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ เช่น สหรัฐฯ จะไม่เกินประมาณ 8-10 นาที หลังจากที่ได้มีการแจ้งเตือนและประเมินภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากฝ่ายต่างๆ อย่างครบถ้วนและเปิดห้องบัญชาการสงครามนิวเคลียร์โดยประธานาธิบดีและคณะแล้ว (ใช้เวลาประมาณ 5-8 นาที)

แต่เชื่อกันว่ารัสเซีย ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุด จะต้องใช้เวลามากกว่าสหรัฐฯ เพราะมีความซับซ้อนและไม่เป็นเอกภาพ (ต้องตัดสินใจโดย 2 ใน 3 คน คือ ประธานาธิบดี กับรัฐมนตรีกลาโหม และ/หรือ ผู้นำทางทหาร)

ด้วยเหตุดังกล่าว รัสเซียจึงได้มีการเริ่มดำเนินการปรับยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ 2020 ของตน ซึ่งจะทำให้ลดเวลาการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ลง ทั้งนี้หากสำเร็จ ปธน.ปูตินก็จะเป็นคนที่จะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์แทบจะคนเดียว ซึ่งปัจจัยนี้สร้างความเป็นกังวลให้กับสหรัฐฯ และพันธมิตรค่อนข้างมาก

แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ นักวิเคราะห์หลายคนยังเชื่อว่า ปธน.ปูติน ไม่ได้ต้องการที่จะปรับร่นเวลาการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ให้สั้นลงเพื่อเตรียมพร้อมในการทำสงครามนิวเคลียร์ในระยะอันใกล้นี้ ในทางตรงกันข้าม ปธน.ปูตินกลับต้องการขู่และปรามสหรัฐฯ และพันธมิตรให้ถอยห่างจากสมรภูมิในยูเครนต่างหาก 

 

ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับรัสเซีย ตามที่ชาวรัสเซียจำนวนมากมองว่าสหรัฐฯ กับพันธมิตรกำลังคุกคามด้วยการใช้ยูเครนและพันธมิตรในยุโรปเป็นตัวแทน

สงครามนิวเคลียร์ระหว่างรัสเซีย (สหภาพโซเวียตเดิม) กับสหรัฐฯ เกือบจะเกิดมาแล้วครั้งหนึ่งในปีค.ศ.1962 ในวิกฤตการณ์คิวบา สาเหตุสำคัญก็คือความผิดพลาดของผู้นำของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ก็ไม่มีหลักประกันว่าการขู่ของรัสเซียและการที่สหรัฐฯ กำลังเร่งเพิ่มจำนวนอาวุธนิวเคลียร์หรือขีดความสามารถให้ทันรัสเซียในขณะนี้ จะไม่เกิดข้อผิดพลาดอีก

  1. ทุกวันนี้ ผู้คนสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าสงครามโลกครั้งที่สามจะเกิดขึ้นหรือไม่ และถ้าจะเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นเมื่อไร สาเหตุสำคัญที่ส่วนใหญ่ต้องการรู้ ก็เพราะไม่ใช่ต้องการเห็นความขัดแย้งหรือกระหายสงคราม แต่น่าจะเป็นความต้องการอยู่รอดปลอดภัยตามสัญชาตญาณมนุษย์มากกว่า

ดังนั้น นักวิเคราะห์จำนวนมากจึงพยายามค้นหาคำตอบนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่แน่ใจว่าคำตอบเหล่านั้นจะถูกต้อง และยังมีคำถามตามมาอีกว่า มหาอำนาจหรือบางประเทศที่เคยก่อความหายนะให้โลกมาแล้วถึงสองครั้ง จะไม่เรียนรู้หรืออย่างไร และจะก่อความหายนะครั้งใหม่ที่ร้ายแรงกว่าเดิมอีกหรือ

คำตอบที่แท้จริงในเรื่องนี้ อาจจะอยู่ในตัวของทุกคนอยู่แล้ว และเป็นคำตอบที่มีมานานนับร้อย ๆ ปี คือ นักปรัญชาแทบทุกสำนักได้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์รักตัวกลัวตาย ต้องการอยู่รอดปลอดภัย นอกจากนี้ ยังรักครอบครัวและพวกพ้องเป็นพื้นฐานสำคัญอีกด้วย ดังนั้น เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นสังคมหรือประเทศชาติ ก็ต้องการให้สังคมหรือประเทศตนเองปลอดภัย เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรือง

ดังนั้น เมื่อเกือบ 200 ประเทศในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องการทำอย่างเดียวกันคือสร้างความเข้มแข็งเพื่อความอยู่รอดและปลอดภัย หรือที่เรียกกันว่าเพื่อ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” (National Interests) ของตน 

 

แต่ระบบหรือโครงสร้างแบบอนาธิปไตย (Anarchy) หรือที่เรียกกันว่าแบบ “ตัวใครตัวมัน” ที่ใช้กันมาตั้งแต่ค.ศ.1648 ที่ไม่มีประเทศใดมีสิทธิหรือความชอบธรรมเหนือกว่าใคร ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น เมื่อตกลงกันไม่ได้ การใช้กำลังหรือสงครามก็ตามมา และสุดท้าย ก็เกิดหายนะ เช่นที่เห็นในนานาสงครามในโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน 

 

โดยเฉพาะถ้ามีผู้นำที่นิยมใช้กำลังและมีประชาชนที่พร้อมเดินตาม ทั้งหมดนี้คือคำตอบว่าทำไมยังมีสงครามจากแนวคิดสัจนิยม (Realism) ในการศึกษาการเมืองโลก

ดังนั้น โศกนาฏกรรมที่แท้จริงของการเมืองโลกก็คือ ทุกประเทศต่างก็ติด “กับดักของความมั่นคง” (Security Dilemma) จนกว่าจะมีคำตอบที่ดีกว่านี้ให้กับความอยู่รอดของตนเอง



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า