
โลกกำลังเข้าสู่ ยุคสงครามเบ็ดเสร็จ ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้ทางรอดของประเทศไทยคือการสร้าง “สมดุลใหม่” เพื่อรับมือความขัดแย้งระยะยาว และภัยที่มีอยู่รอบด้าน
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวว่าการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อการขัดขวางการดำเนินนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐที่จะขึ้นสู่อำนาจอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. ที่จะถึงนี้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเรื่องปกติสักเท่าไร
แต่เรื่องนี้นั้นก็ถือว่าเป็นเหรียญสองด้าน เนื่องจากว่าที่ผ่านมานั้น ไบเดนมักจะแสดงภาพว่าตนเองนั้นมีความเป็นสุภาพบุรุษ แต่ในอีกด้าน สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็แสดงให้เห็นว่าความเคียดแค้นที่ไบเดนมีต่อทรัมป์นั้นมีมากกว่าที่เราคาดคิด จากการออกมาขัดขวางทรัมป์ในทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่การทิ้งทวน แต่ว่าเป็นการวางยาให้ทรัมป์ต้องตามไปแก้กฎหมายแทบทุกฉบับที่เขาเพิ่งจะออกไป ซึ่งก็ต้องใช้เวลา
และนี่เป็นสิ่งที่ตนเองก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าทรัมป์นั้นเป็นคนนอก โดยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยเยาะเย้ยทรัมป์ตั้งแต่วันแรกที่ทรัมป์เข้ามาในทำเนียบขาวในฐานะนักธุรกิจ อีกทั้งยังกล่าวว่าคนอย่างทรัมป์นั้นจะไม่มีวันที่จะได้เข้ามานั่งในทำเนียบขาว แต่ทรัมป์ก็เข้ามาจนได้
ถือได้ว่าทรัมป์นั้นเป็นคนนอกโดยแท้ และแม้แต่คนฉลาดอย่างโอบามาก็ยังดูไม่ออก ไปเยาะเย้ยถากถางทรัมป์ขนาดนั้น และการเยาะเย้ยทรัมป์ในวันนั้น ได้สร้างแรงจูงใจมหาศาลให้กับทรัมป์
แต่การที่ทรัมป์และโอบามายังแสดงท่าทีที่สนิทสนมต่อกันในระหว่างพิธีศพของอดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ซึ่งนี่คือช่องทางการติดต่อกันระหว่างพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน เนื่องจากว่าช่องทางอื่นนั้นได้ล่มสลายไปหมดแล้วในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง
และโอบามาจะเป็นช่องทางเดียวที่เหลืออยู่ในการสมานความสัมพันธ์ เนื่องจากในการทำงานนั้น ยังคงมีเรื่องที่ทั้ง 2 พรรคจะต้องให้ความร่วมมือต่อกันอยู่
แต่การวางยาของไบเดนนั้น ก็คงจะไม่สร้างความลำบากให้ทรัมป์มากนัก เพราะว่ารีพับลิกันได้อำนาจอย่างเป็นเสร็จในทั้งฝ่ายบริหาร, สภาสูง (วุฒิสภา) และสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร์) อีกทั้งรีพับลิกันก็คงจะออกแบบเรื่องการเข้ามาของคนในอีก 2 ปีข้างหน้า ในการเลือกตั้งกลางเทอม (เลือกตั้ง สส. และ สว.) เพื่อให้เกิดการต่ออำนาจ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทรัมป์สามารถเข้ามาเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 3
ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ทำให้ทรัมป์กลายเป็นข้อยกเว้นของการเมืองอเมริกันในเวลานี้ ซึ่งนี่ทำให้คาดเดาได้ยาก และต้องเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น และทรัมป์นั้นมีความไม่คงเส้นคงวาเพิ่มมากขึ้นจากสมัยที่แล้ว จากการมีตัวแปรอื่น ๆ อย่างอีลอน มัสก์ และคนอื่น ๆ ที่เข้ามา และคนเหล่านี้ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง
ทำให้ต้องมีการระวังป้องกันสูงขึ้น เพื่อรองรับความแปรปรวนเหล่านี้ และมีการจัดระเบียบภายในโดยสุดท้ายเป้าหมายสุดท้ายคือจีน ซึ่งจีนเองก็ได้มีการเตรียมตั้งรับอย่างเต็มที่ มีการวางยุทธศาสตร์เชิงรุกไว้แล้ว ซึ่งเราเองก็ต้องดูจีนให้ดี ๆ ด้วยเช่นกันว่าจะดำเนินการอย่างไร
และมีหลายประเทศเช่นออสเตรเลีย ที่พยายามที่จะกลับไปเชื่อมโยงกับจีน เพื่อหาทางออกร่วมกับจีน เพราะว่าออสเตรเลียนั้นอยู่ใกล้กับจีนมากกว่าสหรัฐ
สำหรับการที่อีลอน มัสก์ ซึ่งทรัมป์ประกาศว่าจะให้เข้าดำรงตำแหน่งในกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency: DOGE) นั้น ได้กลายเป็นตัวแปรที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบบการเมืองสหรัฐ และเขาจะกลายเป็นผู้ที่เข้ามาควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางทั้งหมด และรู้เรื่องผลประโยชน์ทุกเรื่องในการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่
ซึ่งถึงแม้ว่ามัสก์จะเป็นคนที่ตรงกันข้ามกับทรัมป์เกือบทุกอย่าง แต่ก็เป็นคนที่ทรัมป์ไว้ใจมาก และมักส์สามารถนั่งอยู่ในการประชุมทุกวงที่มีความสำคัญ ตัดสินอนาคตของสหรัฐได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
สำหรับการที่มักส์ออกมาเรียกร้องให้ชาวเยอรมันลงคะแนนเสียงให้กับพรรคทางเลือกขวาจัดของเยอรมนี (AfD) ในการเลือกตั้งทั่วไปในเยอรมนีที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ก.พ. นี้ เป็นความพยายามในการจัดระเบียบทางการเมืองในยุโรป
โดยพยายามผลักดันกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเอียงไปทางซ้าย (หัวก้าวหน้า-เสรีนิยม) ซึ่งต่างจากทรัมป์ออกไป และให้กลุ่มคนที่มีแนวคิดฝ่ายขวา (อนุรักษนิยม) ทั้งหมดเข้ามาสนับสนุนทรัมป์ ซึ่งเรื่องนี้นั้น อิตาลีพอใจมาก เพราะว่ามีแนวคิดแบบขวาอยู่แล้ว และจะมีอีกหลายชาติยุโรปตามเข้าไป
ทั้งหมดเหล่านี้นั้นจะเป็นยุทธศาสตร์ของทรัมป์ที่จะออกมาเคลื่อนไหวในปลายเดือนนี้อย่างแน่นอน เพื่อให้การสนับสนุนทรัมป์ทั้งในเรื่อง NATO, EU, รัสเซีย ซึ่งนี่เป็นการจัดระเบียบยุโรปที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมหัวก้าวหน้า อยู่คนละขั้วกับทรัมป์ และจะทำให้ทรัมป์ไม่สามารถดำเนินยุทธศาสตร์ได้
นอกจากนี้ มักส์อาจจะเห็นหมดแล้วว่าผู้นำยุโรปพูดคุยอะไรกันผ่าน X ซึ่งเป็นแพลต์ฟอร์มที่มัสก์เป็นเจ้าของ มักส์จึงรู้ถึงจิตวิญญาณ, จุดอ่อนและจุดแข็งของผู้นำยุโรป และถ้ามักส์ทำได้สำเร็จ ก็จะทำให้ทรัมป์ได้พันธมิตรใหม่ในยุโรป
ซึ่งการที่ทรัมป์แสดงให้รัสเซียเห็นว่าสหรัฐสามารถคุม NATO เอาไว้ได้ และสามารถทำให้ยุโรปหยุดการคุกคามต่อรัสเซียได้ ก็จะเป็นการสร้างอำนาจต่อรองในเรื่องยูเครน ซึ่งจะทำให้รัสเซียยอมสหรัฐ
แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญก็คือการทำให้ยูเครนนั้นปลอดภัย ซึ่งถ้ามีการปล่อยให้รัสเซียบุกยูเครนไปได้มากกว่า 20% ของพื้นที่ ก็จะทำให้สหรัฐสูญเสียแนวต้าน ดังนั้นยูเครนก็น่าจะปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่จะใช้เงื่อนไขใดในการต่อรองให้รัสเซียยินยอมนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ทั้งนี้ ยุโรปขวานั้นมองยูเครนเป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งยังกลัวรัสเซีย และก็ไม่ต้องการให้การสนับสนุนยูเครนอย่างที่เกิดขึ้น ในขณะที่ทรัมป์มองว่าการช่วยเหลือยูเครนนั้น เป็นการสร้างภาระให้สหรัฐอย่างมาก และไม่ต้องการที่จะถูกยูเครนดึงไปเผชิญหน้ากับรัสเซีย ดังนั้นทรัมป์จะไม่ช่วยเหลือยูเครนอย่างไร้ยุทธศาสตร์อย่างที่โจ ไบเดน ทำ
ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์-ไบเดน-วลาดีเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียนั้น จะมีความซับซ้อนอย่างที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้นั้นเป็นกลุ่มคนที่ฉลาดที่สุด มียุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งมาก สามารถพลิกความอ่อนแอให้กลายเป็นความได้เปรียบได้
การกลับมาของทรัมป์นั้น เป็นการเปิดฉากหน้าประวัติศาสตร์อเมริกันใหม่ ๆ หลายเรื่อง สร้างความไม่คุ้นเคยให้กับหลาย ๆ คน ในขณะที่ปูตินนั้นครองอำนาจมาได้ยืนยาวถึง 25 ปี และสามารถที่จะฝ่าวงล้อมการคว่ำบาตร และในสมรภูมิรบในยูเครนได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
ในขณะที่ยุโรปนั้นอ่อนแอมากกว่าที่มีการคาดคิดเอาไว้ ทำให้กลายเป็นภาระของทรัมป์ในการออกแบบยุโรปใหม่ สร้างแนวต้านใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) หรือสงครามโลกครั้งที่ 3
นอกจากนี้ การที่มักส์อาศัยความเป็นเจ้าของ X ในการติดตามผู้นำยุโรป ทำให้หลายประเทศเริ่มมีการจัดระเบียบโซเชียลมีเดียใหม่ เพื่อการป้องกันไม่ให้โปรไฟล์ของผู้นำประเทศรั่วไหลไปยังต่างชาติ ซึ่งบางประเทศถึงขั้นไม่ใช้แพลต์ฟอร์มเหล่านี้ในการสื่อสารเลย แต่เรื่องนี้ก็เป็นไปได้ยากเพราะติดเป็นนิสัยไปแล้ว กว่าจะตัดวงจรเหล่านี้ออกไปได้ อาจจะต้องใช้เวลาเป็นชั่วอายุคน
และการที่มักส์เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้นั้น ทำให้เขาสามารถอ่านใจคนอเมริกันได้ว่า คนอเมริกันจะไม่สนใจประวัติการติดคดีความของทรัมป์ แต่เชื่อว่าทรัมป์คือผู้กอบกู้สหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อนหน้านี้หลายคนไม่เชื่อ แต่มัสก์คงจะเห็นมาแต่แรก และหาเสียงในแนวทางนี้เลย และได้รับชัยชนะ
อย่างไรก็ดี รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า จีนนั้นสามารถจับจุดอ่อนของมัสก์ได้หลายเรื่อง และมีแนวโน้มที่ EV ของจีนนั้นจะสามารถล้ม Tesla ของมัสก์ได้ ซึ่งถ้าจีนทำได้ ภาพความมหัสจรรย์ของมัสก์ก็จะหายไปเยอะ อีกทั้งมัสก์นั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว มีปัญหาในครอบครัวมาก
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงขาขึ้นของมัสก์ ที่ทำให้มัสก์สามารถต่อยอดได้ แต่ทั้งนี้ หลายประเทศเริ่มสร้างระบบขึ้นมาต่อต้านระบบของมัสก์แล้ว
สำหรับผลกระทบของนโยบายทรัมป์ที่จะส่งผลกระทบต่อไทยนั้น จะมีค่อนข้างเยอะ ถ้าไทยไปขัดแย้งกับสหรัฐ แต่ในทางกลับกัน ถ้าไทยไปร่วมมือกับสหรัฐ ก็จะได้ศัตรูเพิ่ม ดังนั้นไทยจึงควรที่จะหาสมดุลใหม่ให้ดี ๆ
เนื่องจากว่าในเวลานี้นั้น ทรัมป์พยายามจัดระเบียบ ทั้งภายในและภายนอกประเทศใหม่ทั้งหมด โดยภายในประเทศนั้น ในเวลานี้ทรัมป์ได้ทำการทุบเพื่อจัดระเบียบองค์กรต่าง ให้อยู่ใต้อำนาจของเขาแล้ว และต่อไปคือการจัดระเบียบพันธมิตร ซึ่งรวมถึงไทยด้วย เพื่อการแก้ไขปัญหาของสหรัฐ ซึ่งในเวลานี้มีความอ่อนแอทั้งด้านเศรษฐกิจ การทหาร และสังคม ให้กลับมามีความสามารถในการสกัดกั้นทั้งจีนและรัสเซีย ขึ้นมาแย่งชิงความเป็นเจ้าไปจากสหรัฐได้
ซึ่งประเทศไทยนั้น ควรจะดำเนินการทั้งเชิงรับ และรุก เพื่อการหาสมดุลใหม่ เช่นการลดการขาดดุลของสหรัฐ ซึ่งในเวลานี้ไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐอยู่ ไทยอาจจะต้องยอมซื้อสินค้าบางอย่างในราคาที่แพงขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกสหรัฐตั้งกำแพงภาษี ที่อาจจะสูงถึง 100% ซึ่งในเวลานี้มีหลายรัฐบาลได้ส่งทีมไปเจรจาแล้ว
หรือไทยอาจจะเข้าไปลงทุนในสหรัฐ เพื่อเป็นการสร้างงานในสหรัฐ ซึ่งในกรณีนี้ถึงแม้ว่าบริษัทไทยจะได้กำไรไปด้วย แต่ก็ต้องกัดฟันข้ามน้ำข้ามทะเลไป อีกทั้งค่าแรงในสหรัฐนั้นสูงกว่าการจ้างงานแรงงานในอาเซียน ซึ่งการทำเช่นนี้นั้น ก็จะสามารถซื้อใจทรัมป์ได้ ทำให้ทรัมป์เห็นว่าไทยให้ความช่วยเหลือสหรัฐ ในยามที่สหรัฐลำบากจากการขาดดุลทางการค้า
ไทยมีจุดเด่นในด้านอุตสาหกรรมการบริหาร และอุตสาหกรรมอาหารในลำดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งสามารถทำให้มีความเป็นสากล และทันสมัยยิ่งขึ้นไปอีกก็ทำได้ หรือในอุตสาหกรรมไฮเทคนั้น ในบางส่วนคนไทยก็มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งกรณีนี้นั้น รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดทาง/นำทางให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้นั้น ไทยถือเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ซึ่งเห็นได้จากการที่ไทยสามารถจับกุมผู้ก่อการร้ายคนสำคัญ ๆ ให้สหรัฐได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้นั้นไทยสามารถยกระดับให้สหรัฐเห็นว่าไทยให้ความช่วยเหลือเขาอยู่ได้ โดยที่เราไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งยังได้ประโยชน์เป็นเงินรางวัลนำจับจากสหรัฐด้วย
และอีกเรื่องที่ไทยควรจะทำในยุคสงครามเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะมีความขัดแย้งที่ยาวนาน (Continuum of Conflict)หรือ สงครามที่มีความต่อเนื่อง (Continuation of War) โดยสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้นจะไม่จบลงโดยง่าย อาจจะเพียงลดระดับลงสู่การเจรจา
สถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาก็จะไม่จบลงโดยง่าย และไม่จบในปีนี้ แต่ถ้าไทยช่วยให้ความขัดแย้งนี้ชะลอตัวลง เกิดการพักรบชั่วคราว ก็จะได้รับความชื่นชมจากสหรัฐ ดังนั้นไทยต้องหาทางช่วยยุติความขัดแย้งในเมียนมา และถ้าสามารถเข้าไปช่วยเหลือในการชะลอปัญหาในตะวันออกกลางได้ หรือเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูพื้นที่ในฉนวนกาซ่า ก็จะทำให้ไทยได้รับผลประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย
นั่นหมายความว่าไทยจะต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกมากกว่านี้ และลดระดับความซับซ้อนของภัยคุกคามที่มีความหลากหลายลง เช่นเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ภัยคุกคามเรื่องโลกร้อน เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่อยู่ในขอบเขตที่ไทยสามารถทำได้
เพราะว่าสงครามสมัยใหม่นั้นมีความรอบด้าน ทำให้เราเห็นว่าเราจะอยู่เฉย ๆ ต่อไปไม่ค่อยได้แล้ว แต่ทั้งนี้ ไทยจำเป็นที่จะต้องหาและรักษาสมดุลใหม่เอาไว้ให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้นั้น ไม่ได้หมายความว่าไทยจะต้องเป็นกลาง แต่ไทยจะต้องเลือกเอาเรื่องที่ทำให้ไทยได้ประโยชน์ให้ได้