นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวในงาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024
นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวในงาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2567 ว่าตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติทำงานกันอย่างหนัก
โดยได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก บางท่านไม่มีเบี้ยประชุม บางท่านไม่คิดจะเบิกค่าเดินทาง และค่าเบี้ยประชุม แต่ทุกคนทุ่มเททำงานเพื่อสร้างโอกาสครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และของประเทศไทย
นพ. สุรพงษ์กล่าวสรุปผลการทำงานของคณะกรรมการทุกท่านออกมาเป็น ปฏิญญา ได้ 5 ประการดังนี้
1 ในยามที่เศรษฐกิจเปราะบาง ประเทศชาติต้องการความหวัง ซอฟต์พาวเวอร์คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดยุทธศาสตร์หนึ่งของรัฐบาล
“ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่การมาหาคำนิยาม ไม่ใช่คำเท่ ๆ ที่พูดกันไปปากต่อปาก และไม่ใช่เป้าหมายว่าเราทำซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อซอฟต์พาวเวอร์ แต่เราทำซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง เราอยากจะเปลี่ยนรายได้ของประเทศ ให้สามารถที่จะทำให้ประเทศไทย หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง”
2 ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์จะต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
“ทุกคนต้องได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ จะต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การฝึกฝนทักษะฝีมือระดับสูง หรือความคิดสร้างสรรค์จะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะระดับสูงครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็คือมีคนถึง 20 ล้านคนที่จะได้รับประโยชน์นี้”
3 การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการครั้งที่ใหญ่ที่สุด บางส่วนจะต้องรวมศูนย์ บางส่วนจะต้องกระจายอำนาจ ด้านที่รวมศูนย์จะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ งบประมาณในการทำตามแผนยุทธศาสตร์นั้น โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยจะมีการออกเป็น พรบ. ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในกลางปี 2568
ส่วนการกระจายอำนาจ จะมีการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ทีสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ ผ่านการตั้งคณะอนุฯ ระดับจังหวัดทุกจังหวัด และมีหน่วยงานส่งเสริมในระดับจังหวัดด้วย
4 จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะทำหน้าที่ส่งเสริม สร้างระบบนิเวศน์ที่อำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถขับเคลื่อนงานได้
5 จะมีการใช้การทูตเชิงวัฒนธรรม เพื่อการผลักดันเสน่ห์ของคนไทย ออกไปสู่ตลาดระดับโลก อีกทั้งยังจะมีความร่วมมือกับมิตรประเทศในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์บนเวทีโลกด้วยกัน