พบแล้ว! ที่มาของ โพสต์วิจารณ์พีระพันธุ์ “รู้กฎหมาย ไม่รู้เรื่องพลังงาน นโยบายย้อนยุคของพีระพันธุ์”
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวานนี้ (5 ม.ค. 2568) สำนักงานพลังงานจังหวัดลำปาง โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่บทความวิจารณ์นโยบายพลังงานของพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. พลังงานเอาไว้อย่างรุนแรงว่า “รู้กฎหมาย ไม่รู้เรื่องพลังงาน นโยบายย้อนยุคของพีระพันธุ์”
ก่อนที่จะลบออกในภายหลัง แต่มีสื่อรายหนึ่งแคปเอาไว้ได้ทัน ก่อนที่จะทำการเผยแพร่ข่าวในพาดหัวว่า “แคปทัน! โพสต์หราหน้าเฟซ “พลังงานจังหวัดลำปาง” ถล่ม “พีระพันธุ์” คร่ำครึ แต่รีบลบทิ้ง”
จากการสืบค้นพบว่า เนื้อความที่เคยปรากฏบนหน้าเพจของสำนักงานพลังงานจังหวัดลำปางนั้น เป็นเนื้อหาที่มาจากบทวิเคราะห์ของสำนักข่าว The Room 44 ลงเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2568 โดยมีการใช้พาดหัวเดียวกัน
บทวิเคราะห์ดังกล่าวนั้น วิจารณ์การที่พีระพันธุ์ออกมาประกาศว่าเป็นคนร่างกฎหมายกำกับกิจการน้ำมันและก๊าซด้วยตัวเอง โดยจะทำการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” โครงสร้างพลังงานให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายนั้น เป็นการสร้างนโยบายที่สวยหรูเลือกใช้คำพูดที่โดนใจประชาชนอย่างเช่น ทลายการผูกขาด ลดราคาน้ำมัน
แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการสร้างภาพของพีระพันธุ์ เพื่อกลบคำถามว่าในรอบปีกว่าที่ผ่านมา รมว. พลังงานมีผลงานอะไรบ้าง เป็นเพียงการ “ดันทุรัง เสนอเป็นนโยบาย ทำให้ประชาชนคนที่ไม่อยู่ในวงการพลังงานสับสนกันเป็นอย่างมาก และจะส่งผลกระทบในเชิงโครงสร้างของพลังงานประเทศ อีกทั้งยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ”
นอกจากนี้ The Room 44 ยังรายงานด้วยว่าพีระพันธุ์นั้น นอกจากจะไม่มีความรู้และประสบการณ์เรื่องพลังงานแล้ว ยังไม่รับฟังความคิดเห็นของคนรอบข้าง หรือแม้แต่จากข้าราชการในกระทรวงพลังงานเอง ซึ่งทำให้คนในกระทรวงพลังงานอึดอัดใจ
และยังวิจารณ์นโยบายการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง Strategic Petroleum Reserve (SPR) ของพีระพันธุ์ว่า เป็นการไปลอกเลียนแบบมาจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน ในขณะที่ประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องสำรองน้ำมันนานถึง 90 วัน การสำรองเพียง 30 วันอย่างที่มีการปฎิบัติกันอยู่แล้วนั้น เหมาะสมดีแล้ว
อีกทั้งการสำรองน้ำมันเอาไว้เป็นเวลานานนั้น จะต้องมีต้นทุนในการจัดซื้อน้ำมันเข้ามาในประเทศ และต้นทุนสถานที่กักเก็บ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่มีสถานที่กักเก็บน้ำมันสำรองดังกล่าว อีกทั้งยังตั้งคำถามว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจากนโยบายของพีระพันธุ์นั้น จะต้องใช้ภาษีของประชาชน สร้างภาระให้กับประชาชนอีกหรือไม่
และยังวิจารณ์นโยบายโครงสร้างราคาน้ำมันในรูปแบบของ Cost Plus โดยมุ่งเน้นให้โรงกลั่น(ผู้ผลิต)แจ้งต้นทุนการจัดหาน้ำมันดิบที่แท้จริงนั้น จะเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงของโรงกลั่นไปให้กับประชาชนแบกรับแทน โดยอ้างเรื่องการลดความผันผวนของการปรับราคาขายหน้าปั๊มเป็นเดือนละครั้งแทนการลดภาระน้ำมันแพงตามที่โฆษณาไว้ และจะไม่สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาโรงกลั่นน้ำมัน
และนโยบายการลดค่าการตลาด ที่จะส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันเร่งลดต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หยุดการพัฒนาสถานีบริการ เช่น ไม่พัฒนาพื้นที่ในปั๊ม ขาดการบริการที่ดี หรือไม่รักษามาตรฐาน ห้องน้ำให้ประชาชน เพราะผู้ประกอบการต้องตัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวลง ชดเชยกับค่าการตลาดที่ลดลง
อีกทั้งยังจะทำให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างชาติถอนตัวจากการทำธุรกิจในประเทศไทย เพราะไม่สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้ก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมายใหม่อีกด้วย
The Room 44 ยังได้ให้ข้อเสนอแนะแก่พีระพันธุ์ว่า ควรจะให้ความสนใจกับการกำกับดูแลกฎหมายปัจจุบันที่ประกาศใช้ให้มีประสิทธิภาพเสียก่อนที่จะออกกฎหมายอื่น
“เช่น ในเรื่องการกำกับดูแลกฎหมาย ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีผู้ค้าน้ำมันสีเขียว ที่แปลงร่างจาก ผู้ค้ามาตรา 7 เป็นผู้ค้ามาตรา 10 เพื่อหลบเลี่ยงการเก็บสำรองน้ำมันตามกฎหมาย
บทบาทของรัฐมนตรีพลังงานควรทำให้เกิดการแข่งขันที่เสมอภาค ให้ผู้ค้าน้ำมันสีเขียวมีการเก็บสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ไม่ควรให้มีการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เอาเปรียบผู้ค้าน้ำมันรายอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และเพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด
หากจะแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงอย่างจริงจัง พีระพันธุ์จะต้องไปทบทวนดูเรื่องการเก็บภาษี ควรหยุดเพ้อเจ้อ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสับสน ข้าราชการอึดอัดจากการกำกับดูแลตามนโยบายของรัฐมนตรีพีระพันธุ์ที่ไม่มีความรู้ทางด้านพลังงาน เพียงแต่ท่านจะใช้ความรู้ทางด้านกฎหมายเพื่อสร้างภาพทำให้ตนเองเป็นฮีโร่ เท่านั้น”