
วางยาแมว ในซีรีส์แม่หยัว อาจมีความผิดอย่างไร
จากกรณีที่สังคมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการ “วางยาแมว” ในซีรีส์ “แม่หยัว” ตอนที่ 5 ซึ่งแมวนั้นมีอาการชักกระตุกก่อนที่จะหมดสติไปนั้น ถือเป็นการกระทำที่มีความผิดหรือไม่นั้น
สามารถพิจารณาได้ใน 3 ประเด็นดังต่อไปนี้
— 1 ทารุณกรรมสัตว์โดยมีเหตุอันควรหรือไม่ ? —
ในมาตราที่ 3 กำหนดนิยามของคำว่า “การทารุณกรรม” ว่า “การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับ ความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวดความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย”
และมาตรา 20 กำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร” และหากถูกพิจารณาว่ามีความผิดตามมาตรานี้ ก็จะได้รับโทษตามมาตรา 31 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
— 2 วางยาโดยสัตวแพทย์ผู้ถือใบประกอบวิชาชีพหรือไม่ ?–
จากกรณีดังกล่าว พรบ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ มาตรา 21 (7) ระบุว่า
“การกระทำใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ โดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์หรือผู้ซึ่งได้รับยกเว้นให้กระทำได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับ ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์”
อีกทั้งจาก พรบ. วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 มาตรา 29 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียน หรือได้รับใบอนุญาตจากสัตวแพทยสภา เว้นแต่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ …
(2) การรักษาพยาบาลสัตว์โดยไม่ได้รับสินจ้างรางวัล และการกระทำดังกล่าวจะต้องมิใช่เป็นการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฝังเข็มเพื่อบำบัดโรค หรือระงับความรู้สึกหรือใช้ยาควบคุมพิเศษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี”
ซึ่งอาจสรุปให้เข้าใจง่ายต่อกรณีนี้ได้ว่า การฉีดยา หรือสารเคมีใด ๆ เข้าสู่ร่างกายสัตว์นั้น จะต้องกระทำโดยผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภาเท่านั้น
ซึ่งในกรณีนี้นั้น หากการวางยาแมวในซีรีส์นั้นมิได้กระทำโดยสัตวแพทย์ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ จะมีความผิดตาม พรบ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ มาตรา 31 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และตาม พรบ. วิชาชีพการสัตวแพทย์ มาตรา 54 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถ้าการวางยาแมวนั้น มีสัตวแพทย์ผู้ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ สัตวแพทย์ผู้นั้น ก็อาจจะถูกพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรม โดยคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากสัตวแพทยสภา
— 3 มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีเพียงพอหรือไม่ ? —
พรบ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ มาตรา 3 กำหนดนิยมของ “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” ว่า “การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะ ที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ”
และมาตรา 24 กำหนดว่า “การขนส่งสัตว์ หรือการนําสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มี ส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนด”
ซึ่งมีการกำหนดโทษผู้กระทำความผิดตามมาตราข้างต้นไว้ในมาตรา 32 มีโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
อย่างไรก็ดี ตามมาตรา 24 นั้นเป็นการกล่าวถึงการให้การดูแลสวัสดิภาพสัตว์ในภาพกว้าง และกำหนดให้มีการกำหนดรายละเอียดโดยรัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พรบ. นี้ ซึ่งหมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
แต่ในปัจจุบันนั้น ยังมิได้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ที่ถูกใช้ในการแสดงอย่างชัดเจน แต่กฎกระทรวงที่มีความใกล้เคียงกับการวางยาแมวในครั้งนี้นั้นคือ กฎกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561 ข้อ 4 ซึ่งระบุว่า
“สัตว์ที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม …
(2) จัดให้สัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและความปลอดภัยของสัตว์
(3) จัดให้สัตว์มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีการจัดการในการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม และ และให้การรักษาเมื่อสัตว์ป่วยหรือบาดเจ็บโดยไม่ชักช้า
(4) จัดการไม่ให้สัตว์ได้รับความเครียด หวาดกลัว เจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานโดยไม่มีเหตุผล อันสมควร
(5) จัดให้สัตว์ได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติที่จําเป็นต่อการดำเนินชีวิต และพลานามัยของสัตว”
ซึ่งกรณีดังกล่าว อาจจะต้องมีการตรวจสอบสภาพร่างกายของแมวตัวดังกล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากการวางยาหรือไม่ ซึ่งถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำความผิด ก็จะได้รับโทษตาม พรบ. ป้องกันการทรมาณสัตว์ฯ มาตรา 34 ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท