ไม่ร่วมรัฐบาลแน่นอน ‘มาดามเดียร์’ เปิดจุดยืนหากได้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. ชี้ประชาชนเบื่อลุงๆ ทั้งหลายและรัฐบาลขั้วเดิม
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 66 มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทูเดย์ ในตอน “เปิดใจ มาดามเดียร์ ชิง หัวหน้าประชาธิปัตย์” โดยในตอนหนึ่งน.ส. วทันยาถูกถามว่าถ้าหากเธอได้เป็นหัวหน้าพรรค แล้วมีการปรับคณะรัฐมนตรีเธอจะมีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร
“สำหรับเดียร์นะ ไม่ร่วมค่ะ” น.ส. วทันยาตอบ พร้อมอธิบายเหตุผลในการไม่เข้าร่วมไว้ 2 ประการคือ เสียงสะท้อนจากผลการเลือกตั้ง และไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต
“พี่คิดว่าผลการเลือกตั้งในปี 66 ที่ผ่านมาไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร แต่พี่ว่าคนไทยเราทุกคนเราปฏิเสธข้อเท็จจริงอันหนึ่งไม่ได้ ว่าเสียงของประชาชนเขากำลังบอกเราว่า เขาต้องการเปลี่ยน เปลี่ยนอะไรบ้าง โอเค เบื่อลุง ๆ ทั้งหลาย ฉันอยากเปลี่ยนนะ อันที่สอง ก็คือไม่เอารัฐบาลขั้วเดิม” น.ส. วทันยากล่าว
น.ส. วทันยากล่าวต่อว่าเหตุผลข้างต้นเป็นที่มาของความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากในสมัยที่แล้วพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับรัฐบาล และเป็นเหตุผลว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ควรเข้าร่วมกับรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากพรรคควรจะเคารพเสียงของประชาชน
นอกจากนี้ น.ส. วทันยายังมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเวลาในการฟื้นฟูพรรค จึงควรที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านเพื่อที่จะได้มีเวลาในการฟื้นฟูการทำงานภายในพรรคให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นอีกด้วย
“อันที่สอง คือก็ต้องยอมรับว่าในการที่เราจะร่วมรัฐบาล มันก็เรื่องของแนวนโยบายของพรรคแกนนำหลัก มันก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างตอนนี้เรามีประเด็นเรื่องของตัวดิจิทัล วอลเล็ตทั้งหลายเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนตัวพี่คิดว่าแนวทางอย่างตัวนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต อันนี้เราไม่เห็นด้วย อันนี้ในความคิดเห็นส่วนตัว คือสิ่งที่พี่มอง
ณ วันนี้เรามีปัญหาเศรษฐกิจ แต่เราไม่ได้อยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ ฉะนั้นพี่ไม่เห็นด้วยกับการที่เราจะกู้เงินจำนวนมหาศาล ประมาณ 5 แสน 6 หมื่นล้านเพื่อที่จะนำมาแจกประชาชนแบบถ้วนหน้า เพราะว่ามันกำลังจะก่อหนี้ในอนาคต ที่กำลังจะสร้างหนี้เพิ่ม” น.ส. วทันยากล่าว
น.ส. วทันยากล่าวว่าปัญหาเศรษฐกิจของไทย คือการขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก อีกทั้งยังมีปัญหาภาวะโลกร้อน, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และปัญหาอื่น ๆ ดังนั้นเธอจึงไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินเพิ่ม หรือถ้าจำเป็นจะต้องกู้ ก็ควรจะนำมาใช้ให้ตรงจุดเสียมากกว่า
ควรจะนำเงินมาอุดหนุนการศึกษา เพิ่มทักษะแรงงาน การทำให้ SME หรือประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อที่จะได้มีโอกาสในการสร้างอนาคตสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองได้ ในขณะที่การอุปโภคบริโภคไม่ใช่ปัญหา