
ส่งออกทุเรียน จากเวียดนามไปจีนร่วง 80% ในช่วงครึ่งแรกของเดือน ก.พ. โดยมีการส่งออกเพียง 3,500 ตัน
การส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีนร่วงลง 80% ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2025 โดยมีการส่งออกเพียง 3,500 ตัน ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD)
การลดลงอย่างรวดเร็วนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้จากการส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ 416 ล้านดอลลาร์ (1.4 หมื่นล้านบาท) ในเดือน ม.ค. ลดลง 11.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และลดลง 5.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยยอดการส่งออกทุเรียนที่ตกต่ำมีสาเหตุหลักมาจากมาตรการตรวจสอบทุเรียนนำเข้าของจีนที่มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการปนเปื้อนสารแคดเมียม (Cadmium) และสารย้อมสี Basic Yellow 2 ภายหลังการตรวจพบการใช้สาร Basic Yellow 2 ในทุเรียนไทย
ตั้งแต่ต้นปี 2025 จีนได้กำหนดให้ผู้ส่งออกทุเรียนต้องแนบผลทดสอบสารปนเปื้อนจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง ซึ่งทำให้ขั้นตอนการส่งออกล่าช้าลงอย่างมาก ความล่าช้าในการทดสอบได้ขัดขวางตารางการจัดส่ง ส่งผลให้เกิดความแออัดที่ด่านชายแดน
Phan Thi Men ซีอีโอของ Sutech Science and Technology Consulting กล่าวว่า การตรวจสอบที่เข้มงวดของจีน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลง โดยบางวันไม่สามารถดำเนินการจัดส่งได้เลย
Hoang Trung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า นอกจากห้องปฏิบัติการทดสอบ 9 แห่งที่ทางการจีนรับรองแล้ว ยังมีห้องปฏิบัติการอีก 6 แห่งที่ได้ยื่นขออนุมัติเพื่อเร่งกระบวนการส่งออก โดยความพยายามนี้เกิดขึ้นในขณะที่ผลผลิตทุเรียนและผลไม้อื่นๆ ของเวียดนามถึงจุดสูงสุด
กระทรวงเกษตรฯ ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานท้องถิ่นใช้รูปแบบการจัดการคุณภาพที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเน้นเป็นพิเศษเรื่องการใช้สารเคมีในสวนผลไม้และสถานที่บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามกำลังเจรจากับจีนเพื่อฟื้นกฎระเบียบการส่งออกเดิม โดยมุ่งหวังที่จะผ่อนปรนขั้นตอนการตรวจสอบและอำนวยความสะดวกในการดำเนินพิธีการศุลกากรให้ราบรื่นยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกบางรายกำลังมองหาตลาดทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน เพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์การส่งออกทุเรียนของเวียดนามมีเสถียรภาพและหลากหลายมากขึ้น
ปัจจุบันเวียดนามมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 169,000 เฮกตาร์ ซึ่งมากกว่าพื้นที่ที่วางแผนไว้สำหรับปี 2030 ถึงสองเท่า อีกทั้งสัดส่วนของต้นทุเรียนที่โตเต็มที่และเก็บเกี่ยวได้ก็ค่อนข้างสูงเช่นกัน
(1 ดอลลาร์ = 33.63 บาท)