เวียดนามเตรียมใช้ เรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้า ‘พาณิชย์’ ชี้ไทยเองก็จะได้รับอานิสงส์จากต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกลง และเพิ่มทางเลือกในการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กลุ่ม CMA-CGM ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์จากฝรั่งเศส และเป็นบริษัทขนส่งตู้คอนเทนเนอร์อันดับสามของโลก ได้ประกาศโครงการเรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้า (E-barge) ในประเทศเวียดนาม
โดยเรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่จะทำการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดบิ่นห์เยือง (Binh Duong) และท่าเรือน้ำลึกเจมาลิงค์ (Gemalink) ในจังหวัดบาเรีย-หวุงเตา ซึ่งกลุ่ม CMA-CGM จะถือหุ้นในโครงการนี้ถึงร้อยละ 25
การเดินทางของเรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้าในระยะทาง 180 กิโลเมตรแต่ละครั้ง คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ พร้อมกับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 778 ตันต่อปี นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จเรือจะได้รับการสนับสนุนจากฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่งสร้างเสร็จที่ท่าเรือน้ำลึก ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1 กิกะวัตต์/ชั่วโมงต่อปี
เรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้านี้ได้รับการออกแบบร่วมกันโดยทีมวิจัยและพัฒนาของ CMA-CGM และผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำอย่าง CATL โดยคาดว่าเมื่อเริ่มดำเนินการในปี 2569 เรือจะสามารถขนส่งสินค้าได้มากกว่า 50,000 TEUs ต่อปี
โครงการนี้ยังสะท้อนถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่าง CMA-CGM และ NIKE ซึ่งมีแผนจะใช้เรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสินค้าของ NIKE จากจังหวัดบิ่นห์เยืองไปยังท่าเรือน้ำลึกเจมาลิงค์
โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคใต้ของเวียดนาม แต่ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านพลังงานทดแทนและโลจิสติกส์ ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทมีแผนที่จะลงทุนในโครงการเรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้าที่จะดำเนินงานตามเส้นทางน้ำภายในประเทศเวียดนาม
ปัจจุบันกลุ่ม CMA-CGM ดำเนินการเส้นทางขนส่งทางเรือ 4 เส้นทาง โดยให้บริการ 6 ท่าเรือระหว่างประเทศในเวียดนาม และเชื่อมโยงเวียดนามกับยุโรป สหรัฐอเมริกา และจุดหมายสำคัญอื่น ๆ ผ่านเส้นทางการเดินเรือระหว่างประเทศ 15 เส้นทาง กลุ่ม CMA-CGM มีพนักงานกว่า 160,000 คนใน 160 ประเทศ และมีเรือมากกว่า 650 ลำที่เชื่อมต่อกับ 400 ท่าเรือทั่วโลก
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคต.) รายงานว่า การลงทุนของกลุ่ม CMA-CGM ในโครงการเรือบรรทุกไฟฟ้าของเวียดนามสอดคล้องกับเป้าหมาย “Net-Zero ภายในปี 2593” ของเวียดนาม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและยกระดับการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการขนส่ง
รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น การลงทุนในโครงการนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณสำคัญให้กับบริษัทเดินเรือจากทั่วโลกที่กำลังมองหาความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ เข้ามาใช้บริการในเวียดนาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการขนส่งระดับโลก
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือจะมีผลในด้านการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงกลุ่มการค้าส่งและการค้าปลีก ซึ่งจะช่วยขยายตลาดและโอกาสในการลงทุนในเวียดนามให้กับผู้ประกอบการต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยที่กำลังมองหาช่องทางในการขยายตลาดธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าในเวียดนาม
ในระยะยาว การพัฒนาระบบท่าเรือและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและกระจายสินค้าภายในเวียดนาม รวมถึงเสริมสร้างความสะดวกในการส่งออกสินค้าจากไทยมายังเวียดนาม
ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเวลาในการขนส่งสินค้า ทำให้การค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน